เข้าใจใหม่ "อีสุกอีใส" เป็นแล้วเป็นอีกได้ มีโรคแทรกซ้อนที่อันตรายด้วย

เข้าใจใหม่ "อีสุกอีใส" เป็นแล้วเป็นอีกได้ มีโรคแทรกซ้อนที่อันตรายด้วย

เข้าใจใหม่ "อีสุกอีใส" เป็นแล้วเป็นอีกได้ มีโรคแทรกซ้อนที่อันตรายด้วย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“อีสุกอีใส” ที่หลายคนเชื่อว่าเป็นโรคที่เด็กทุกคนต้องเป็น เป็นครั้งเดียวและจะไม่เป็นอีกตลอดชีวิต จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องจริง อีสุกอีใสสามารถเป็นซ้ำได้ และโตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็เป็นได้เช่นกัน

อีสุกอีใส คืออะไร?

นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ และ โฆษกกรมการแพทย์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ โรคอีสุกอีใสว่า เป็นโรคติดต่อทางผิวหนังที่ทำให้ร่างกายเกิดผื่นคัน มีตุ่มนูนขนาดเล็ก หรือตุ่มน้ำใสๆ ทั่วร่างกาย 

กลุ่มเสี่ยงโรคอีสุกอีใส

ส่วนใหญ่พบได้ทุกเพศทุกวัยแต่พบมากในกลุ่มเด็กอายุระหว่าง 5-12 ปี อย่างไรก็ตามสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย 

อันตรายของโรคอีสุกอีใส

แม้ว่าดูเหมือนจะไม่ใช่โรคที่อันตราย แต่จริงๆ แล้วอีสุกอีใสเป็นโรคที่แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว การดูแลคนไข้อีสุกอีใสจึงมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะทำให้ลดการแพร่กระจายของโรค และลดภาวะเสี่ยงจากโรคแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจทำให้เสียชีวิต เช่น โรคปอดบวม โรคสมองอักเสบ ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ โดยข้อมูลจากโรงพยาบาลพญาไท ระบุว่า โรคอีสุกอีใสอาจพบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง คือ ภาวะปอดอักเสบและสมองอักเสบได้ในทารกแรกเกิด ผู้ใหญ่ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่องได้

ดังนั้น ผู้ป่วยที่เป็นเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 1 ปี สตรีตั้งครรภ์ โดยเฉพาะถ้าพบมีไข้ขึ้นสูง หรือเป็นไข้ติดต่อนานกว่า 4 วัน ไอ หอบ เหนื่อย ต้องรีบพบแพทย์

โรคอีสุกอีใส ติดต่อกันได้อย่างไร?

แพทย์หญิงสาวสวย มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ระบุว่า โรคดังกล่าวเกิดจากเชื้อไวรัส Varicella zoster virus ซึ่งเป็นตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคงูสวัดสามารถติดต่อได้ด้วยวิธี ดังนี้

  • ไอ จาม หายใจรดกัน
  • สัมผัส 
  • ใช้ของใช้ร่วมกับผู้เป็นโรค 

อาการของโรคอีสุกอีใส

โดยปกติจะมีระยะฟักตัวประมาณ 2-3 สัปดาห์ มักจะระบาดในช่วงปลายฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อนเช่นเดียวกับหัด 

  • มีไข้ต่ำๆ 
  • อ่อนเพลีย
  • เบื่ออาหาร
  • ในผู้ใหญ่มักมีไข้สูง 
  • มีอาการปวดเมื่อยตามเนื้อตัวคล้ายไข้หวัด
  • มีผื่นขึ้นพร้อมๆ กับวันที่เริ่มมีไข้ และกลายเป็นตุ่มนูนมีน้ำใสๆ อยู่ข้างใน ดูคล้ายตุ่มหนอง และมีอาการคัน 2-4 วัน ต่อมาจะค่อยๆ ตกสะเก็ด 

โดยทั่วไปตุ่มอีสุกอีใสมักหายกลายเป็นแผลเป็นหลุม โดยเฉพาะถ้าแกะเกาจนติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน 

โรคอีสุกอีใส เมื่อหายแล้ว มักจะมีเชื้อหลบอยู่ตามปมประสาท ซึ่งอาจเป็นโรคงูสวัดภายหลังได้ โรคอีสุกอีใสเป็นโรคที่หายเองได้โดยมีไข้อยู่เพียงไม่กี่วัน ส่วนตุ่มจะตกสะเก็ดและค่อยๆ หายใน 1-3 สัปดาห์

อีสุกอีใส เป็นแล้วเป็นอีกได้

โดยปกติแล้วใครที่เคยเป็นอีสุกอีใสแล้วจะไม่กลับมาเป็นอีก เพราะร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันให้เรียบร้อยแล้ว แต่ก็มีบางส่วนที่เป็นมากกว่า 1 ครั้งเช่นกัน แต่เป็นส่วนน้อย ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นหลังจากที่เป็นครั้งแรก และโรคอีสุกอีใสในผู้ใหญ่ และคนที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ อาจมีอาการรุนแรงกว่าเด็ก

วิธีรักษาโรคอีสุกอีใส

  1. พักผ่อนและดื่มน้ำมากๆ 
  2. ถ้ามีไข้สูงให้ใช้ยาลดไข้ ห้ามใช้ยาแอสไพริน เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยเด็กถึงแก่ชีวิตได้ 
  3. ใช้สบู่อ่อนๆ อาบน้ำ 
  4. ตัดเล็บให้สั้นและหลีกเลี่ยงการแกะหรือเกาตุ่ม 
  5. ในรายที่มีอาการคันมาก อาจให้ยาช่วยลดอาการคันหรือใช้ผ้าก๊อซชุบน้ำเกลือล้างและปิดบาดแผล 
  6. โรคอีสุกอีใสในผู้ใหญ่และคนที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำจะมีอาการรุนแรง แพทย์จะพิจารณาให้ยาต้านไวรัสในการรักษา ทั้งนี้ เว็บไซต์ medhubnews.com รายงานว่า ปัจจุบันยังมีความเชื่อในผู้ใหญ่บางกลุ่มที่ให้ลูกหลานกินยาเขียว ส่งผลให้เกิดรอบแผลเป็น และ ไม่ใช่แนวทางการรักษาที่ถูกต้อง ปัจจุบันมียาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพ กินแล้วแทบไม่เกิดแผลเป็นเลย

วิธีป้องกันโรคอีสุกอีใส

สามารถป้องกันโรคอีสุกอีใสได้ด้วยการให้ผู้ป่วยที่อยู่ใกล้ตัวทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวให้สะอาด และคนทั่วไปควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส

ข้อมูลจากโรงพยาบาลบางปะกอก 8 ระบุข้อมูลของวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสเอาไว้ ดังนี้

  • วัคซีนอีสุกอีใสสามารถฉีดครั้งแรกได้ตั้งแต่อายุ 1 ปี สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยแนะนำให้รับวัคซีนเข็มแรกเมื่ออายุ 12-18 เดือน และเข็มที่สองเมื่ออายุ 4-6 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุที่พบติดเชื้อได้บ่อยที่สุด แต่หากมีความจำเป็นเร่งด่วน เช่น เกิดการระบาด หรือเพิ่งรับเชื้อ ให้รับวัคซีนเข็มที่ 2 ทันที แต่ต้องห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 3 เดือน
  • การรับวัคซีนอีสุกอีใสสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี ที่ยังไม่เคยมีเป็นโรคอีสุกอีใส ให้รับ 2 เข็มห่างกันอย่างน้อย 3 เดือน
  • วัคซีนอีสุกอีใสสำหรับอายุ 13 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ รับวัคซีน 2 เข็มห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน หรือ ภายใน 4-8 สัปดาห์หลังจากฉีดวัคซีนเข็มแรก
  • วัคซีนโรคอีสุกอีใส นอกจากป้องกันโรคได้แล้ว ยังช่วยลดโอกาสเกิดแผลเป็น และช่วยลดความรุนแรงของโรคเมื่อเกิดเป็นโรคอีสุกอีใสหลังฉีดวัคซีนแล้ว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook