ยาลดความอ้วน...ถึงตาย เมื่อไหร่จะหลาบจำกันเสียที

ยาลดความอ้วน...ถึงตาย เมื่อไหร่จะหลาบจำกันเสียที

ยาลดความอ้วน...ถึงตาย เมื่อไหร่จะหลาบจำกันเสียที
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

กรณีพริตตี้สาวกินยาลดความอ้วนจนถึงแก่ชีวิตไม่ใช่รายแรกหรือเหตุการณ์แรกที่เกิดขึ้นในสังคมไทย เพราะทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์สะเทือนใจ ก็ไม่พ้นที่จะต้องมีคำถามซ้ำๆ ตามมาเสมอว่า เป็นการตายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือเป็นความประมาทและเห็นแก่ได้ของผู้ผลิต หรือการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เรื่องผลเสียของการใช้ยาลดความอ้วนยังอ่อนด้อยเกินไปในสังคมไทย

จากการตรวจสอบกรณีการเสียชีวิตของ น.ส.โชติมา จินตนาผล หรือ น้องจูน ที่คาดว่าจะเสียชีวิตจากการกินยาลดความอ้วน ได้มีการนำหลักฐานซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริม 2 ยี่ห้อ ประกอบด้วย L-carnitine plus และ PAODY SLIM CAPSULE มาร้องต่อ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่ อย.เพื่อให้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวว่า มีสารอันตรายในการผสมยาลดความอ้วนที่เป็นภัยร้ายแรงหรือไม่ เนื่องจากลูกสาวของตน ได้แอบกินผลิตภัณฑ์ดังกล่าวภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 เดือน น้ำหนักก็ลดลง 10 กิโลกรัม โดยหากตรวจพบว่า มีสารอันตรายในการผสมยาลดความอ้วนก็ให้เอาผิดกับผู้ประกอบการทันที

เบื้องต้นได้ผลที่ยืนยันชัดเจนว่า ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมทั้ง 2 ชนิด มียาลดความอ้วนที่เป็นอันตรายร้ายแรง ชื่อ ไซบูทรามีน ผสมอยู่ในปริมาณมาก โดยยาดังกล่าวเป็นยาควบคุมพิเศษ อยู่ในกลุ่มที่ทำให้เบื่ออาหารและออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทซึ่งไม่ได้สั่งซื้อ ทางอินเตอร์เน็ตเท่านั้น ทั้งนี้ทางกระทรวงสาธารณสุข สามารถจะประสานไปยังกระทรวงไอซีที เพื่อสั่งปิดเว็บไซต์โฆษณาชวนเชื่อดังกล่าว และสั่งดำเนินคดีกับผู้ประกอบการฐานจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยตรงจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท รวมถึงสั่งปิดโรงงานทันที

 

ไซบูทรามีน ชื่อนี้ที่ต้องจำและหลีกเลี่ยง

ไซบูทรามีน ไม่ใช่ของแปลกใหม่ในวงการผู้ผลิตยาลดความอ้วน หากแต่ผู้ผลิตที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองขององค์การเภสัชกรรมและอาหารและยา (อย.) จะรู้กันเป็นอย่างดีว่า ไซบูทรามีน คือสารอันตรายร้ายแรงที่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงแก่ผู้ใช้ หนักสุดก็ถึงขั้นเสียชีวิต ดังเช่นพริตตี้สาวที่กำลังเป็นข่าวอยู่ในตอนนี้

ด้าน อย.เผยสารไซบูทรามีนเป็นยาควบคุมการเผาผลาญของร่างกาย จัดเป็นยาอันตรายมีผลข้างเคียง เช่น ปาก คอแห้ง ใจสั่น การรับประทานต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์

ไซบูทรามีน (sibutramine) แต่เดิมเคยเป็นยาลดความอ้วนและเป็นยาควบคุมพิเศษ ที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์และขายได้เฉพาะในสถานพยาบาลเท่านั้น กระทั่งครั้งหนึ่งได้มีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจำนวน 5 รายการถูกนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยและอย.ได้ทำการตรวจสอบ กลับพบว่ายาและอาหารเสริมทั้งหมดที่ลักลอบผสมไซบูทรามีนเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ ซึ่งผู้ใดผลิต นำเข้าเพื่อจำหน่าย หรือจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สารไซบูทรามีนเป็นยาควบคุมการเผาผลาญของร่างกาย จัดเป็นยาอันตรายมีผลข้างเคียง เช่น ปาก คอแห้ง ใจสั่น และที่พบบ่อยคือ ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง และหัวใจเต้นเร็ว แม้จะไม่มากนักแต่มีผลให้ผู้ป่วยประมาณร้อยละ 5 จำเป็นต้องหยุดยา ส่วนผลข้างเคียงอื่น ๆ ได้แก่ ปากแห้ง ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ และท้องผูกการรับประทานต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์

นอกจากนี้ ยานี้ไม่ควรใช้ในผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด ผู้ป่วยที่ควบคุมความดันโลหิตไม่ดี ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบ ผู้ป่วยโรคตับ ผู้ป่วยโรคไต ผู้ที่มีโรคต้อหิน รวมไปถึงหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร เป็นต้น

ทั้งนี้ หากผู้บริโภคพบเห็นผลิตภัณฑ์รุ่นดังกล่าววางจำหน่าย หรือแม้กระทั่งพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หลอกลวงผู้บริโภค เช่น อ้างสรรพคุณในการรักษาโรค หรืออ้างว่าสามารถลดความอ้วนได้ ขอให้ร้องเรียนมายังสายด่วน อย. โทร 1556 เพื่อ อย. จะได้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก Getty Images

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook