วิธีสุดเจ๋ง รับมือกับอาการเมาเวลา หรือที่รู้จักในนาม อาการเจ็ตแล็ก Jet lag

วิธีสุดเจ๋ง รับมือกับอาการเมาเวลา หรือที่รู้จักในนาม อาการเจ็ตแล็ก Jet lag

วิธีสุดเจ๋ง รับมือกับอาการเมาเวลา หรือที่รู้จักในนาม อาการเจ็ตแล็ก Jet lag
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สำหรับผู้ที่ต้องเดินทางข้ามเขตเวลา (Time zone) หรือต้องทำงานเป็นกะ อาจเคยมีอาการเซื่องซึม อ่อนเพลีย โมโหง่าย เฉื่อยชา หรือสับสนมึนงง กลุ่มอาการเหล่านี้เป็นสัญญาณว่า คุณอาจประสบกับอาการเมาเวลา หรือ อาการเจ็ตแล็ก เข้าแล้ว

อาการเมาเวลา หรือ เจ็ตแล็ก คืออะไร

อาการเมาเวลา หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า เจ็ตแล็ก (Jet lag) คือ อาการผิดปกติด้านการนอนที่เกิดขึ้นชั่วคราว กับผู้เดินทางข้ามเขตเวลาตั้งแต่ 2 เขตเวลาขึ้นไปภายในระยะเวลาอันสั้น ร่างกายมนุษย์มีนาฬิกาชีวภาพ หรือนาฬิกาชีวิต (Biological Clock) ทำงานเป็นวงจร 24 ชั่วโมง ซึ่งถูกควบคุมโดยแสงสว่างและอุณหภูมิ นาฬิกานี้จะคอยส่งสัญญาณบอกร่างกายว่า ควรนอนและตื่นเมื่อใด เมื่อคุณเดินทางข้ามเขตเวลา ระบบนาฬิกาชีวภาพของคุณจะรวน ร่างกายยังยึดติดอยู่กับเขตเวลาเดิม ไม่ปรับระบบตามเขตเวลาท้องถิ่นของจุดหมายปลายทาง นี่เองที่ทำให้คุณเมาเวลา ยิ่งเดินทางข้ามเขตเวลาหลายเขตภายในระยะเวลาอันสั้น หรือเดินทางไปทางทิศตะวันออก อาการเมาเวลาก็จะยิ่งรุนแรงและยาวนานขึ้น อาการเจ็ตแล็กนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยหากเป็นผู้สูงอายุ อาการจะรุนแรงและหายได้ช้ากว่าคนวัยอื่น ไม่ใช่แค่ผู้ที่ต้องเดินทางข้ามเขตเวลา แต่คนที่ต้องทำงานเป็นกะ ก็สามารถประสบกับอาการเมาเวลาได้เช่นกัน

อาการที่อาจเกิดตามมา หลังคุณเมาเวลา

  • ปวดศีรษะ
  • เซื่องซึม เฉื่อยชา
  • เบื่ออาหาร
  • โมโหง่าย
  • เหนื่อยล้าในตอนกลางวัน
  • รู้สึกไม่สบายตัว
  • ร่างกายไม่ตื่นตัว
  • มีปัญหาการนอน เช่น นอนไม่หลับ ตื่นเช้าเกิน หรือนอนหลับมากไป
  • มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร และช่องท้อง เช่น ท้องผูก ท้องเสีย

สำหรับผู้ที่มีอาการเมาเวลา อาจมีอาการเหล่านี้หลายอาการพร้อมกัน หรือมีเพียงอาการเดียวก็ได้ แม้อาการเมาเวลานี้จะเกิดเพียงชั่วคราว แต่ก็สามารถลดทอนความรู้สึกสบาย ยามเดินทางพักผ่อนหรือทำงานต่างประเทศของคุณได้มากทีเดียว

ทำตามนี้... ช่วยลดอาการเมาเวลาได้

ก่อนเดินทาง

  • พักผ่อนให้เพียงพอ พยายามไม่เดินทางทั้งที่เหนื่อยล้า เมาค้าง หรือป่วยไข้
  • ปรับเปลี่ยนระบบนาฬิกาชีวิตล่วงหน้า 2-3 วันก่อนเดินทาง หากจะเดินทางไปฝั่งตะวันตก ให้เข้านอนช้าลงประมาณ 1-2 ชั่วโมง หากจะเดินทางไปฝั่งตะวันออก ให้เข้านอนเร็วขึ้นประมาณ 1-2 ชั่วโมง รวมถึงปรับเวลาอาหารแต่ละมื้อให้ใกล้เคียงกับเวลาท้องถิ่นของจุดหมายปลายทางด้วย
  • สำหรับเส้นทางระยะยาว หากเป็นไปได้ ควรเลือกเดินทางแบบมีจุดพัก หรือเปลี่ยนเครื่องกลางทาง

ระหว่างเดินทาง

  • ปรับเวลานาฬิกาให้ตรงกับเวลาท้องถิ่นของจุดหมายปลายทาง
  • งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คาเฟอีน หรือกินอาหารมื้อใหญ่บนเครื่องบิน
  • ดื่มน้ำเปล่าให้มากๆ เพื่อลดภาวะขาดน้ำ (Dehydration)
  • หากเป็นเที่ยวบินระยะยาว ควรตื่น ลุกยืดเส้นยืดสาย หรือลุกเดินเป็นระยะ เพื่อให้ตื่นตัวอยู่เสมอ
  • พยายามนอนบนเครื่องบินให้หลับ หากจุดหมายปลายทางของคุณเป็นเวลากลางคืน หากกลัวนอนไม่หลับ ลองใช้ที่อุดหู หูฟัง หรือผ้าปิดตาเป็นตัวช่วยลดเสียงและแสงรบกวน จะได้หลับง่ายขึ้น

หลังจากถึงจุดหมายปลายทาง

  • หลีกเลี่ยงการนัดงานหรือทำธุระสำคัญในวันแรกที่ไปถึงจุดหมายปลายทาง หากเลี่ยงไม่ได้ ควรไปถึงจุดหมายปลายทางเร็วขึ้น 1-2 วัน เพื่อให้ร่างกายมีเวลาปรับตัว
  • กินอาหารแต่ละมื้อให้ตรงกับเวลาท้องถิ่น
  • หลีกเลี่ยงการกินอาหารมื้อหนัก หรือออกกำลังกายหนักเกินไปในวันแรกที่ไปถึง
  • อย่าลืมออกไปใช้ชีวิตในกลางแจ้ง รับแสงแดดบ้าง เพื่อช่วยให้นาฬิกาชีวิตปรับตัวได้ดีขึ้น หากเดินทางไปฝั่งตะวันตก ให้รับแดดเช้าเลี่ยงแดดบ่าย หากเดินทางไปฝั่งตะวันออก ให้รับแดดบ่ายเลี่ยงแดดเช้า
  • ดื่มน้ำให้มากๆ และไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีนมากเกินไป
  • หากตอนกลางวันคุณง่วงนอน ควรนอนหลับสักงีบ (ประมาณ 20-30 นาที) เพื่อให้ไม่อ่อนเพลียในตอนกลางวัน และยังคงหลับได้ในตอนกลางคืน
  • ปรึกษาหมอเรื่องใช้ยาช่วยให้นอนหลับในตอนกลางคืน

อาการเมาเวลา หรือ เจ็ตแล็ก เป็นอาการที่เกิดขึ้นชั่วคราว แต่หากคุณเดินทางบ่อยและประสบกับอาการเมาเวลาเป็นประจำ ควรปรึกษาหมอ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับเพื่อจะได้แก้ปัญหาการนอนได้อย่างตรงจุด

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค การรักษาโรค แต่อย่างใด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook