วิธีช่วยเหลือคนอยาก "ฆ่าตัวตาย" ที่ถูกต้อง

วิธีช่วยเหลือคนอยาก "ฆ่าตัวตาย" ที่ถูกต้อง

วิธีช่วยเหลือคนอยาก "ฆ่าตัวตาย" ที่ถูกต้อง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผศ.นพ.พนม  เกตุมาน
ภาควิชาจิตเวชศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

การฆ่าตัวตาย  เกิดจากหลายสาเหตุ  แต่สาเหตุใหญ่ที่ทำให้คนฆ่าตัวตาย  เกิดจากโรคซึมเศร้า  คนที่เป็นโรคซึมเศร้า  จะมีความรู้สึกเบื่อรุนแรงแทบทุกอย่างในชีวิต  เบื่อที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป  ความเศร้าที่รุนแรงมากๆอาจทำให้คิดว่าตนเองผิด  ไร้ค่า  และคิดอยากตาย การตายจึงเป็นเหมือนทางออกของปัญหาในระยะสั้น  ไม่ต้องเผชิญปัญหาต่อไป ความคิดของคนจะฆ่าตัวตาย  มักไม่เห็นหนทางแก้ไขปัญหา  ชีวิตมืดมน  และหมดหวัง  ทั้งๆที่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น
 น่าเสียดายที่คนฆ่าตัวตายคิดเช่นนั้น  เพราะถ้าเขารักษาโรคซึมเศร้าอย่างถูกต้อง  เขาจะกลับมาคิดใหม่ได้  แก้ปัญหาได้   บางคนหายแล้วสงสัยว่าตัวเองคิดมากถึงกับ


อยากตายตอนนั้นได้อย่างไร

การฆ่าตัวตายมักเป็นอาการหนึ่งของโรคซึมเศร้า  เมื่อรักษาโรคซึมเศร้าหาย  ก็ไม่คิดอยากตาย
การป้องกันการฆ่าตัวตาย  ทำได้  ถ้าเข้าใจเรื่องโรคซึมเศร้า  และค้นหาให้ได้ว่าใครเริ่มเป็นโรคนี้  อาการเริ่มต้นของโรคซึมเศร้า  คือ  

• อารมณ์ไม่สนุกสนาน  ไม่ร่าเริงเหมือนเดิม  ไม่มีความสุข  เบื่อ  ท้อแท้   เครียด  หงุดหงิด  และเศร้า

• หมดความสนใจในสิ่งต่างๆ  เบื่อสิ่งที่เคยทำแล้วสนุก  มีความสุข  ไม่อยากทำอะไร  ไม่อยากเจอใคร

• เบื่ออาหาร  น้ำหนักลดลงมาก  (หรือบางคนกินมากเพื่อให้หายเครียด  น้ำหนักเพิ่มขึ้น)

• นอนไม่หลับ  หลับๆตื่นๆ  หรือตื่นเร็วกว่าเดิม 2-3 ชั่วโมงแล้วนอนต่อไปไม่ได้ (แต่บางคนนอนมากขึ้นเนื่องจากไม่อยากทำอะไร  นอนแต่ก็ไม่หลับ)

• เหนื่อยหน่าย  อ่อนเพลีย  ไม่มีแรง  ไม่อยากทำอะไร

• ความคิดช้า  การเคลื่อนไหวช้า

• สมาธิความจำเสีย  ตั้งใจทำงานไม่ได้  ลังเลตัดสินใจลำบาก

• คิดว่าตัวเองไร้ค่า  ทำผิด  ทำไม่ดี  คิดต่อตัวเองไม่ดี

• อยากตายและฆ่าตัวตาย


อาการของโรคมักเริ่มจากเป็นน้อยๆ  มากขึ้นช้าๆ  หรือรวดเร็ว  อาจมีหรือไม่มีสาเหตุจากการสูญเสียหรือความเครียดทางจิตใจ    ถ้ามีสาเหตุทางจิตใจ  มักเป็นความเครียดในชีวิต  เช่น ปัญหาการเรียน การทำงาน  หรือความสูญเสียในชีวิต( เช่น  สอบตก  อกหัก  คนรักเสียชีวิต  หย่าร้าง  ตกงาน)  

คนที่เป็นโรคซึมเศร้า มักไม่รู้ตัวว่าเป็น ไม่มาพบแพทย์  บางคนกลัวว่าการมาพบจิตแพทย์แสดงว่าเป็นโรคจิตโรคประสาท  ทำให้ขาดการช่วยเหลือ  จากการสำรวจพบว่า คนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า 100  คน  มีเพียง  10 คนเท่านั้นที่พบแพทย์และได้รับการรักษาด้วยยาอย่างถูกต้อง  

โรคซึมเศร้ารักษาไม่ยาก   เนื่องจากโรคนี้เกิดจากการแปรปรวนของสารสื่อนำประสาท  ที่สามารถแก้ไขได้ด้วยยารักษาโรคซึมเศร้า  ร้อยละ 80  หายได้เมื่อได้รับยาร่วมกับการรักษาทางจิตใจ   เวลาหายจะเป็นปกติเหมือนคนเดิม  โรคนี้มิใช่โรคจิต  โรคประสาท  เป็นโรคทางอารมณ์  ที่รักษาหายได้เหมือนเดิม

โรคนี้พบได้บ่อยๆในสังคม  อาจเกิดกับตัวเองหรือคนใกล้ชิดก็ได้  ถ้าพบว่าใครมีอาการหลายๆข้อของโรคซึมเศร้าข้างต้น นานหลายวันติดต่อกัน หรืออาการมากขึ้น  ควรปรึกษาจิตแพทย์ที่ใกล้ที่สุด

ถ้าสงสัยว่าคนใกล้ชิดมีอาการคล้ายโรคซึมเศร้า  เช่น  ซึมเฉย  เงียบ  ไม่พูดไม่จา  เฉื่อยชา  ช้า  ทำอะไรผิดไปจากเดิมมากๆ  การเรียนหรือการทำงานเสียไป    การห่วงใยสอบถามเขาถึงอาการของโรคซึมเศร้า  จะเป็นการช่วยเหลือเบื้องต้นที่ดี  คนที่ซึมเศร้าจะรู้สึกมีเพื่อน  มีที่พึ่ง  อาการซึมเศร้าจะดีขึ้น  และไม่ค่อยฆ่าตัวตาย ถ้าเขามิได้เป็นโรคซึมเศร้าจริง  การแสดงความห่วงใยถามถึงอาการเป็นการประคับประคองจิตใจที่ดี   ไม่มีผลเสียใดๆน่ากลัว เมื่อพบว่าใครเป็นโรคซึมเศร้า    ในตอนท้ายควรแนะนำให้เขามาปรึกษาจิตแพทย์โดยเร็ว   การรักษาอย่างรวดเร็วได้ผลดีกว่ารักษาช้า   โดยเฉพาะผู้ที่มีความคิดอยากตาย  หรือคิดฆ่าตัวตาย  การแนะนำให้รักษาจะเป็นการช่วยชีวิตเขาทีเดียว
 

คนที่กำลังคิดฆ่าตัวตายนั้น  บางทีแสดงออกเป็นพฤติกรรมให้รู้ได้  เช่น 

• บางคนเปรยๆให้คนใกล้ชิดฟัง  เช่น “รู้สึกเบื่อจัง  ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม”

• บางคนพูดเป็นเชิงฝากฝัง  สั่งเสีย  เช่น  “ฝากดูแลลูกด้วยนะ”

• บางคนดำเนินการบางอย่าง  เช่น  ทำพินัยกรรม โอนทรัพย์สมบัติให้ลูกหลาน

       ถ้าสงสัยว่าคิดฆ่าตัวตายหรือไม่  ควรถาม
       การถามเรื่องการฆ่าตัวตายนี้สำคัญมาก  ทำได้  ควรทำอย่างยิ่ง  เพราะช่วยรักษาชีวิตเขาไว้ได้



การถามเรื่องฆ่าตัวตาย  ทำได้โดยใช้ชุดคำถามขั้นบันไดดังนี้

1. เมื่อพบว่ามีอารมณ์ซึมเศร้า  ให้ถามต่อไปว่า  “ความเศร้านั้นมากจนทำให้เบื่อชีวิต หรือไม่” 

2. ถ้าตอบรับ  ให้ถามต่อไปว่า “คิดอยากตาย  หรือไม่”

3. ถ้าตอบรับ  ให้ถามต่อไปว่า “คิดจะทำหรือไม่”

4. ถ้าตอบรับ  ให้ถามต่อไปว่า “คิดจะทำอย่างไร”

5. ถ้าตอบรับ  ให้ถามต่อไปว่า “เคยทำหรือไม่”

6. ถ้าตอบรับ  ให้ถามต่อไปว่า “เคยทำอย่างไร”

7. สุดท้าย  ให้ถามต่อไปว่า “มีอะไรยับยั้งใจ จนทำให้ไม่ได้ทำ หรือหยุดความคิดนี้ได้”


คำถามสุดท้าย  ไม่ว่าตอบอย่างไร  จะเป็นปัจจัยป้องกัน  ช่วยให้เขายั้งคิด  ไม่ทำในครั้งต่อไป
บางคนมีความเชื่อเก่าที่ไม่ถูกต้องว่า  การถามเรื่องการฆ่าตัวตาย  จะไปกระตุ้นคนที่ยังไม่คิดให้ไปคิดฆ่าตัวตาย  หรือคนที่คิดอยากตายอยู่แล้วการถามเป็นการกระตุ้นให้ทำจริงๆ   ความเชื่อเหล่านี้ไม่เป็นความจริง  

ความจริงคือ  การถามไม่ได้ชักจูงหรือกระตุ้นให้คิด หรือทำ  แต่สำหรับคนที่คิดจะทำอยู่แล้ว  จะรู้สึกดีขึ้น จนไม่ทำ

สรุป  เราทุกคนมีส่วนร่วมในการป้องกันการฆ่าตัวตาย  ได้ดังนี้

• สนใจ  ใส่ใจ  สังเกตตนเอง  เพื่อนๆ  และคนใกล้ชิด  ว่ามีอาการของโรคซึมเศร้าหรือไม่  ถ้ามี  ให้ถามว่ามีความคิดอยากฆ่าตัวตายหรือไม่

• ถ้าตนเองเกิดโรคซึมเศร้า  ให้ปรึกษาทีมสุขภาพจิตโดยเร็ว  

• แนะนำผู้ที่ซึมเศร้า  มาพบทีมสุขภาพจิต

 

อ่านบทความเพิ่มเติม >>>>> SIRIRAJ E-PUBLIC LIBRARY
ขอบคุณเนื้อหาจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook