หัวใจวายเฉียบพลัน เสียชีวิตได้ใน 1 ชั่วโมง

ภัยเงียบ "กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน" เสี่ยงเสียชีวิตใน 1 ชั่วโมง

ภัยเงียบ "กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน" เสี่ยงเสียชีวิตใน 1 ชั่วโมง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือ หัวใจวายเฉียบพลัน อาจทำให้เสียชีวิตภายใน 1 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ กรมการแพทย์เตือนหากจุกแน่นหน้าอก เหงื่อออก ใจสั่น ปวดร้าวไปกราม จุกใต้ลิ้นปี่ ให้รีบพบแพทย์ทันที แนะหลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูงความเครียดบุหรี่และแอลกอฮอล์ควบคุมอาหารออกกำลังกาย ตรวจสุขภาพประจำปี จะลดความเสี่ยงโรคหัวใจได้

นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิชรองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันเป็นภาวะที่มีลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดหัวใจ ทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ หัวใจจะขาดเลือดและออกซิเจน ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย

ในประเทศไทยพบว่าร้อยละ 45 ของการเสียชีวิตเฉียบพลัน เกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งโรคนี้มักเกิดขึ้นทันทีแบบเฉียบพลันเช่น ขณะปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน ทำงาน เล่นกีฬาเกิดจากภาวะหลอดเลือดแดงแข็งและก่อตัวเป็นตะกรัน โดยหลอดเลือดเมื่อเกิดการร่อนหลุดของตะกรัน ทำให้มีการอุดตันของหลอดเลือด อาจทำให้เสียชีวิตเฉียบพลัน มักเกิดขึ้นภายใน 1 ชั่วโมง และที่สำคัญมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิตเฉียบพลันจากโรคหัวใจ ไม่เคยแสดงอาการมาก่อนสะท้อนให้เห็นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นโรคที่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดดังนั้นการดูแลสุขภาพตนเองเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ

heart-attack-2iStock

 

หลักการง่ายๆ ที่สามารถปฏิบัติตนเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคคือ

  1. หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง โดยเฉพาะไขมันประเภทอิ่มตัว เช่น ไขมันจากเนื้อสัตว์อาหารฟาสต์ฟู้ด เนยและผลิตภัณฑ์จากนมที่ไม่พร่องไขมันเพราะอาหารที่มีไขมันสูงจะทำให้เกิดการสะสมไขมันในผนังหลอดเลือดโดยควรรับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้นในแต่ละมื้อ

  2. หลีกเลี่ยงความอ้วน ซึ่งหากมีนํ้าหนักตัวมากหัวใจจะทำงานหนักขึ้นเพื่อส่งโลหิต ออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงเนื้อเยื่อทั่วร่างกาย ซึ่งหากเปรียบเทียบการทำกิจกรรมประเภทเดียวกันหัวใจของคนที่มีนํ้าหนักตัวมากจะทำงานหนักกว่าคนที่มีนํ้าหนักตัวปกติดังนั้นควรควบคุมอาหารและออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 -5 ครั้ง จะช่วยให้หัวใจสูบฉีดเลือดได้ดีและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอื่นๆ

  3. หลีกเลี่ยงอารมณ์เครียด เพราะความเครียดจะมีผลต่อสุขภาพร่างกายในหลายๆ ด้านเช่นปวดศีรษะไปจนถึงขั้นหัวใจวายจึงควรทำจิตใจให้แจ่มใส ควบคุมอารมณ์ หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่เป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดความเครียดโดยหากิจกรรมนันทนาการ เช่น ปลูกต้นไม้ ฟังเพลง เล่นกีฬา เพื่อให้ผ่อนคลาย

  4. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเป็นเวลานานจะทำให้ปริมาณไขมันในเลือดมีระดับสูงลดสมรรถภาพของหัวใจในการสูบฉีดเลือดไปยังส่วนอื่นๆของร่างกายนอกจากนี้ หากพบว่าตนเองมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ต้องควบคุมระดับความดันโลหิตและระดับนํ้าตาล ในเลือดมากกว่าบุคคลทั่วไป

 

อาการและสัญญาณเตือนของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน คือ จุกแน่นหน้าอก มีเหงื่อออก ใจสั่น ปวดร้าวไปกราม สะบักหลัง แขนซ้าย จุกคอหอย จุกใต้ลิ้นปี่ คล้ายโรคกระเพาะ หรือกรดไหลย้อน ซึ่งหากมีอาการดังกล่าวให้รีบพบแพทย์โดยเร็วซึ่งจะต้องได้รับยาละลายลิ่มเลือดภายในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมงหลังมีอาการ หรือขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนและใส่ขดลวดคํ้ายันภายในเวลาไม่เกิน 3 ชั่วโมง หลังจาก มีอาการ จะให้ผลการรักษาที่ดีมาก

นอกจากนี้ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีและควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆเช่น อาหารไขมันสูง ความเครียด ออกกำลังกายเพื่อป้องกันโรคหัวใจที่อาจเป็นภัยเงียบทำให้เสียชีวิตได้

และด้วยการที่กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดแบบฉับพลันนี้อาจเป็นที่มาของภาวะข้างเคียง อย่าง ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือหัวใจวายเฉียบพลันได้ ซึ่งเกิดจากการอุดตันที่หลอดเลือดหัวใจ เนื่องจากอาจมีบางอย่างมาขวางการไหลของเลือด จนเป็นเหตุทำให้เลือดไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงหัวใจได้ ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจถูกทำลายตามมา

หัวใจวายเฉียบพลันเกิดขึ้นได้อย่างไร ?

อาการหัวใจวายเฉียบพลัน หรือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเกิดจากภายในหลอดเลือดหัวใจนั้นเกิดการอุดตัน โดยที่ลิ่มเลือดเหล่านี้เกิดจากการที่ร่างกายมีไขมันมากจนเกิดการสะสมเป็น ‘ตะกรัน’ (plaque) ไปเกาะอยู่ทั่วผนังของหลอดเลือด จากนั้นเมื่อไขมันเหล่านี้รวมเข้ากับเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มากัดกินก็จะทำให้เกิดเป็นกลุ่มเซลล์ แต่ไม่สามารถที่จะดูดกลับเข้าไปในร่างกายใหม่ได้ จนต้องฝังตัวอยู่ในผนังหลอดเลือดแทน เมื่อเวลาผ่านไป มีการสะสมของตะกรันเป็นจำนวนมากก็จะปริออก หรือแตกตัว ทำให้หลอดเลือดพยายามซ่อมแซมตัวเองจนเกิดเป็นลิ่มเลือดไปอันตันหลอดเลือด เกิดเป็นการแตกตัวที่หลอดเลือดแขนงเล็กเพิ่มขึ้นอีก เมื่อภาวะนี้เกิดขึ้นกับผู้ป่วยก็จะมีอาการเจ็บหน้าอก ในขั้นร้ายแรงที่สุด หากลิ่มเลือดนี้เข้าไปอุดตันหลอดเลือดขนาดใหญ่ก็อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook