5 ประเด็นที่ยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับ “ความดันโลหิตสูง”

5 ประเด็นที่ยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับ “ความดันโลหิตสูง”

5 ประเด็นที่ยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับ “ความดันโลหิตสูง”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ภาวะความดันโลหิตสูง คือปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองซึ่งคร่าชีวิตคนทั่วโลกเป็นจำนวนมากทุกปี ในขณะที่อัตราการการเสียชีวิตด้วยภาวะความดันโลหิตสูงยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง น้อยคนนักที่ตระหนักถึงภัยอันตรายของโรค อีกทั้งยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการลดความเสี่ยงจากโรคแทรกซ้อน เราจึงขอไขปัญหา 5 ความเชื่อผิดๆ ต่อไปนี้ เพื่อให้ผู้ที่มีความเสี่ยงสามารถป้องกันควบคุม และอยู่ร่วมกับภาวะความดันโลหิตสูงอย่างสบายใจ

 

1. “ภาวะความดันโลหิตสูงพบได้ในผู้สูงอายุเท่านั้น”

ที่จริงภาวะความดันโลหิตสูงพบได้ในช่วงอายุ 35-50 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นความดันโลหิตสูง และกลุ่มผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงสืบเนื่องมาจากสภาวะแวดล้อมและพฤติกรรมส่วนตัว เช่น การสูบบุหรี่ การรับประทานอาหารรสเค็มจัด นอกจากนี้ การทำงานอยู่ภายใต้ความเครียดอย่างต่อเนื่อง และการใช้ชีวิตประจำวันที่เร่งรีบ ยังเป็นส่วนที่ก่อให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง

ทราบหรือไม่: ข้อมูลล่าสุดจากองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า 1 ใน 3 ของผู้ใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ป่วยเป็นภาวะความดันโลหิตสูง และภายในปี 2568 คาดว่าความชุกของภาวะความดันโลหิตสูงจะเพิ่มขึ้นถึง 1.56 พันล้านคนทั่วโลก

 

2. “ถ้าไม่ได้มีอาการผิดปกติ แปลว่าไม่ได้ป่วยเป็นภาวะความดันโลหิตสูง”

ภาวะความดันโลหิตสูงได้ชื่อว่าเป็น “ฆาตรกรเงียบ” (Silent Killer) เพราะภาวะความดันโลหิตสูงไม่แสดงอาการเจ็บป่วยใดๆ หากไม่ได้ตรวจวัดความดันโลหิต ผู้ป่วยอาจไม่ทราบได้เลยว่าตนมีภาวะดังกล่าว และเมื่อป่วยเป็นเวลานานเท่านั้นจึงจะเริ่มมีอาการบ่งชี้ชัดเจน โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเข้าพบแพทย์ด้วยอาการวิงเวียนศีรษะ มีเลือดกำเดาไหล หอบหายใจเร็ว แน่นหน้าอก ตามัว มือเท้าชา หรืออาจมีอาการอื่นๆ อันเป็นผลข้างเคียงจากภาวะแทรกซ้อน หรือโรคอื่นที่พบร่วมกัน ดังนั้น ผู้มีความเสี่ยงจึงไม่ควรรอให้ตนล้มป่วยแล้วจึงเข้าพบแพทย์ และควรหาโอกาสตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้รู้ทันทุกสัญญาณอันตรายที่มาพร้อมภาวะความดันโลหิตสูง

ทราบหรือไม่: ตามข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข คาดว่าปัจจุบันมีคนไทยป่วยเป็นความดันโลหิตสูงกว่า 10 ล้านคน แต่ร้อยละ 70 ของคนกลุ่มนี้กลับไม่ทราบว่าตนป่วยเป็นภาวะดังกล่าว โดยในปี 2556 คนไทยเกือบ 7 รายเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองทุกชั่วโมง

 

3. “วัดความดันโลหิตทุกครั้งที่มีเหตุต้องพบแพทย์ก็เพียงพอแล้ว”

เนื่องจากค่าความดันโลหิตที่วัดได้ในแต่ละครั้งบ่งชี้เพียงระดับความดันโลหิตในขณะนั้น ซึ่งเปลี่ยนแปลงได้ตามปัจจัยแวดล้อมต่างๆ เช่น เวลาของวัน อารมณ์ และกิจกรรมที่เพิ่งทำ การวัดความดันโลหิตเพียง 1-2 ครั้งต่อปีเมื่อไปตรวจร่างกายประจำปี จึงไม่เพียงพอสำหรับการวินิจฉัยโรค ด้วยเหตุนี้ การตรวจวัดความดันโลหิตจำเป็นต้องทำเป็นประจำเพื่อให้เห็นภาพรวมและแนวโน้มที่ชัดเจน โดยผู้มีความเสี่ยงควรหมั่นจดบันทึกข้อมูลค่าความดันโลหิตของตนเองอย่างถี่ถ้วน

ทราบหรือไม่: การลดค่าความดันโลหิตเพียง 2 มิลลิเมตรปรอท สามารถลดความเสี่ยงจากภาวะหัวใจล้มเหลวมากถึงร้อยละ 50 และลดโอกาสการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองถึงร้อยละ 10

 

4. "ค่าความดันโลหิตที่วัดได้ที่โรงพยาบาลมีความแม่นยำที่สุด”

ในความเป็นจริง ค่าความดันโลหิตที่วัดได้ที่โรงพยาบาลอาจไม่ตรงกับค่าความดันโลหิตจริงเสมอไป โดยแพทย์อาจวินิจฉัยคาดเคลื่อนเนื่องจากมีข้อมูลประกอบไม่เพียงพอ หรืออาจมีปัจจัยอื่นๆ เช่น ภาวะความดันโลหิตสูงปลอม (White Coat Hypertension) หรือภาวะที่ผู้ป่วยอาจเกิดจากความกังวล ตื่นเต้นเมื่อพบแพทย์ จึงวัดความดันโลหิตที่โรงพยาบาลได้ค่าที่สูงกว่าระดับที่วัดด้วยเครื่องดิจิทัลเองที่บ้าน ฉะนั้น การตรวจวัดความดันโลหิตด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

ทราบหรือไม่: จากการศึกษาในประชากรขนาดใหญ่ พบว่าการใช้นิยามระดับความดันโลหิตที่วัดได้ที่โรงพยาบาล (office BP) ทำให้มีการจัดนิยามความรุนแรงของโรคผิดไปมากกว่าร้อยละ 40 ของผู้ป่วย โดยพบภาวะความดันโลหิตสูงปลอม มากถึงร้อยละ 36.7 ของผู้ป่วยในทุกกลุ่มอายุ

 

5. “ป่วยเป็นความดันโลหิตสูงต้องพึ่งยารักษาถึงควบคุมโรคได้”

การควบคุมรักษาความดันโลหิตสูงให้ได้ประสิทธิภาพนั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ป่วยในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การเลิกสูบบุหรี่ การควบคุมน้ำหนักตัว การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การหลีกเลี่ยงความเครียด และการงดอาหารรสเค็มจัด ซึ่งการวัดระดับความดันโลหิตด้วยตนเองที่บ้านนอกจากจะช่วยกระตุ้นให้ผู้ป่วยใส่ใจคอยติดตามการรักษา และควบคุมระดับความดันได้ดียิ่งขึ้นแล้ว ขณะเดียวกันยังสามารถลดภาวะแทรกซ้อน และค่าใช้จ่ายในการใช้ยาโดยไม่จำเป็นอีกด้วย

ทราบหรือไม่: ในปี 2557 คนไทยเสียเงินจำนวนมากไปกับค่ารักษาพยาบาลโรคความดันโลหิตสูงถึง 79,263 ล้านบาทต่อปี และหมดเงินไปกับค่ารักษาโรคหัวใจมากถึง 154,876 ล้านบาทต่อปี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook