ทำความรู้จักโรคลืมชั่วคราว (TGA) ในหนัง “แฟนเดย์” กัน

ทำความรู้จักโรคลืมชั่วคราว (TGA) ในหนัง “แฟนเดย์” กัน

ทำความรู้จักโรคลืมชั่วคราว (TGA) ในหนัง “แฟนเดย์” กัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ช่วงนี้กระแสภาพยนตร์เรื่อง “แฟนเดย์ แฟนกันแค่วันเดียว” กำลังมาแรงเลยนะคะ ด้วยเนื้อเรื่องที่พูดถึงอาการของนางเอกที่เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ นั่นคืออาการของโรค “ลืมชั่วคราว” ที่ทำให้นางเอกลืมอดีตที่ผ่านมา 3-4 ปี โดยสิ้นเชิง แต่จะลืมอยู่แค่วันเดียวเท่านั้น เมื่อตื่นนอนขึ้นมาความทรงจำทุกอย่างก็จะกลับมาเป็นปกติ

โรคนี้มีอยู่จริง มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Transient Global Amnesia แต่รายละเอียดของโรคไม่ได้เหมือนกับในภาพยนตร์สักทีเดียว จริงๆ แล้วโรคนี้มีอาการอย่างไร มาดูประเภทของความจำ และอาการสูญเสียความทรงจำในแบบต่างๆ กันก่อนดีกว่า

 

1. ความจำระยะสั้น คือความจำที่เราจำได้ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาไม่นาน บางส่วนอาจถูกจัดเก็บเป็นความจำระยะยาวในอนาคต แต่บางส่วนก็หายไป เช่น อ่านหนังสือสอบก่อนเข้าห้องสอบวันเดียว หากสอบเสร็จไม่ทบทวน อีกไม่กี่เดือนก็ลืม

2. ความจำระยะยาว คือความทรงจำที่เราจำได้อย่างแม่นยำ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสมัยอดีตตั้งแต่เด็ก หรือวัยหนุ่มสาว หรือเป็นเรื่องที่เราจำฝังใจ เช่น รักครั้งแรก หรืออาจจะเป็นหนังสือที่เราอ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำบ่อยๆ จนชิน

ความจำระยะยาวยังแบ่งออกเป็น 4 อย่าง คือ

- ความจำที่เป็นความรู้รอบตัวทั่วไป เช่น ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการปกครองโดยระบบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และความทรงจำในช่วงเวลาหนึ่งที่จำรายละเอียดได้ดี เช่น ความทรงจำช่วงที่มีเดตครั้งแรกกับเพื่อนผู้ชายในห้องที่โรงหนัง เป็นต้น

- ความจำที่เกี่ยวกับการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น อาบน้ำ แปรงฟัน ทานอาหาร ต่อให้ความจำเสื่อม ความทรงจำส่วนนี้จะยังอยู่

- ความจำที่ไม่ต้องคิดอะไรก็ทำได้เอง เช่น ผูกเชือกรองเท้า ขี่จักรยาน

- ความจำที่ต้องนึกย้อนไปถึงอดีตถึงจะจำได้ เช่น ความทรงจำเมื่อครั้งที่แอบโดดเรียนไปเที่ยวห้างกับเพื่อน เป็นต้น

อาการที่สูญเสียความทรงจำ แบ่งออกเป็น

1. ความทรงจำหายไปช่วงหนึ่ง แต่ยังคงทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ดำเนินชีวิตได้ตามปกติ อาจจะพูดอะไรไว้ตอนเช้า ตอนบ่ายก็ลืมแล้ว เป็นต้น

2. ไม่สามารถสร้างความจำใหม่หลังจากที่เกิดอาการได้ และนึกย้อนอดีตระยะสั้นไม่ได้ ขณะที่ความทรงจำระยะยาวยังปกติ มีลักษณะคล้ายตัวละครนางเอกในเรื่องแฟนเดย์ แต่ในทางการแพทย์แล้ว คนไข้จะลืมเฉพาะความทรงจำที่เกิดขึ้นในระยะสั้นๆ ไม่กี่วัน หรือไม่กี่เดือนเท่านั้น และไม่ใช่ว่านอนหลับไปตื่นเดียวแล้วความทรงจำของเมื่อวานจะหายไป ความทรงจำใหม่อาจจะยังคงอยู่เรื่อยๆ และจะหายไปเมื่อไรก็ไม่มีใครทราบได้

3. ความทรงจำสูญเสียหลังอุบัติเหตุรุนแรง ที่เราเห็นกันบ่อยๆ ในละคร แต่จะลืมหมดทุกอย่าง ทุกเหตุการณ์ และกับทุกคน (จำได้แค่เรื่องของภาษา และกิจวัตรประจำวันตามปกติ) แต่จะไม่มีทางลืมใครแค่คนเดียวเหมือนที่เราเห็นในละครเด็ดขาด

 

อาการของโรคลืมชั่วคราว (Transient Global Amnesia หรือ TGA)

1. ผู้ป่วยทำกิจวัตรประจำวันได้ปกติ แต่อาจจะเบลอเล็กน้อยขณะที่มีอาการ เพราะจะจำสถานที่ เวลาต่างๆ ไม่ได้

2. ผู้ป่วยจะถามคำถามเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานอยู่บ่อยๆ ถามซ้ำๆ เพราะแม้จะได้รับคำตอบไปแล้ว แต่ก็จะจำไม่ได้ จึงทำให้ถามคำถามเดิมซ้ำๆ

3. ยังจำบุคคลได้ แต่อาจจะนึกชื่อไม่ออก เรียกชื่อไม่ได้

4. อาการช่วงที่ลืมอาจอยู่ได้ถึง 24 ชั่วโมง แต่ส่วนใหญ่มักเป็นชั่วโมงมากกว่า

5. มักสูญเสียความทรงจำระยะสั้น ที่น้อยกว่า 1 ปี

6. ความทรงจำใหม่ที่เกิดขึ้นหลังมีอาการอาจจะอยู่กับผู้ป่วยไปได้อีกระยะหนึ่ง ไม่หายไปภายในคืนเดียว ไม่สามารถระบุเวลาที่จะลืมความทรงจำหลังเกิดอาการได้แน่ชัด

 

 มิว นิษฐา แฟนเดย์ โรคลืมชั่วคราว (TGA)มิว นิษฐา แฟนเดย์ โรคลืมชั่วคราว (TGA)

 

สาเหตุของโรคลืมชั่วคราว (Transient Global Amnesia หรือ TGA)

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของโรคลืมชั่วคราวได้อย่างแน่ชัด แต่มีการอธิบายกลไกการเกิด TGA หลายกลไก ได้แก่

กลุ่มโรคลมชัก ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว และโรคไมเกรน เป็นต้น

 

ใครที่มีความเสี่ยงต่อโรคลืมชั่วคราว (Transient Global Amnesia หรือ TGA)

โรคลืมชั่วคราว มักเกิดกับวัยกลางคน หรือวัยสูงอายุ

 

การรักษาโรคลืมชั่วคราว (Transient Global Amnesia หรือ TGA)

พบแพทย์เพื่อให้การยืนยัน และอธิบายเกี่ยวกับโรคลืมชั่วคราว ว่าอาการที่เป็นจะสามารถหายได้เองภายในระยะเวลาประมาณ 1 วัน โดยผู้ป่วยจะมีความจำกลับมาสมบูรณ์เหมือนเดิมทุกประการ ยกเว้นจะสูญเสียความจำในช่วงที่เกิดอาการ และ โรคลืมชั่วคราวมักมีอาการเพียงครั้งเดียวในชีวิต ไม่เป็นซ้ำอีก มีเพียงส่วนน้อยที่เป็นซ้ำได้อีก

 

ถึงแม้อาการจริงๆ จะแตกต่างจากในภาพยนตร์เล็กน้อย แต่อย่างน้อยก็ทำให้คนไทยได้รู้จักกับโรคที่เกี่ยวกับความทรงจำของมนุษย์มากขึ้นนะคะ หากพบผู้ใหญ่ที่มีอาการดังกล่าว อย่าลืมพาไปพบแพทย์นะคะ

 

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก เฟซบุ๊ค อ.ทัดดาว สอนนิวโร, errama.com

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook