ภาวะฉุกเฉิน "DKA" หนึ่งในภาวะแทรกซ้อนของ "โรคเบาหวาน" ที่ควรระวัง

ภาวะฉุกเฉิน "DKA" หนึ่งในภาวะแทรกซ้อนของ "โรคเบาหวาน" ที่ควรระวัง

ภาวะฉุกเฉิน "DKA" หนึ่งในภาวะแทรกซ้อนของ "โรคเบาหวาน" ที่ควรระวัง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ภาวะฉุกเฉิน DKA (Diabetic ketoacidosis) เป็นภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลันที่พบได้ในผู้ป่วยเบาหวาน แต่เดิมพบบ่อยในผู้ป่วยเบาหวานชนิดพึ่งอินซูลิน (เบาหวานชนิดที่หนึ่ง) แต่ปัจจุบันพบได้บ่อยขึ้นในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่สอง (ผู้ป่วยผู้ใหญ่ส่วนใหญ่เป็นชนิดนี้) โดยเฉพาะเมื่อมียารักษาเบาหวานกลุ่มใหม่ กลุ่ม SGLT-2 inhibitor (ยาที่ออกฤทธิ์โดยการขับน้ำตาลทางปัสสาวะ) เช่น Jardiance Forxiga Xigduo และ Luxefi


ภาวะฉุกเฉิน DKA คืออะไร?

พญ.ณัฐกานต์ มยุระสาคร อายุรแพทย์โรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า DKA คือ ภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูงร่วมกับภาวะเลือดเป็นกรด ซึ่งไม่หายเป็นปกติได้ โดยการกินยาหรือฉีดยาอินซูลินเพิ่มเพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล บางครั้งต้องเข้า ICU เพื่อให้น้ำเกลือ ยาอินซูลินเข้ากระแสเลือด และสารน้ำเกลือแร่ด้วยความระมัดระวัง รักษา 12-24 ชั่วโมงจึงจะพ้นภาวะนี้  


สาเหตุของภาวะ DKA

โดย DKA เกิดจากปัจจัย 3 ปัจจัย คือ

  • อินซูลินไม่เพียงพอ ภาวะขาดอินซูลิน ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่หนึ่งร่างกายไม่ผลิตอินซูลิน เมื่อผู้ป่วยหยุดฉีดยาอินซูลินก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ DKA ได้

  • ภาวะดื้ออินซูลิน ร่วมกับหลั่งอินซูลินไม่เพียงพอ พบได้ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่สองโดยเฉพาะคนที่เป็นโรคเบาหวานมานาน มียาฉีดอินซูลินเป็นประจำอยู่แล้ว ร่างกายมีภาวะ Stress เช่น การติดเชื้อ การผ่าตัด อุบัติเหตุ

  • โรคหลอดเลือดแดงตีบเฉียบพลัน ขาดอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต (แป้ง น้ำตาล) เป็นปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ได้รับยากลุ่ม SGLT-2 inhibitor  


กลไกการเกิดภาวะ DKA

สำหรับกลไกการเกิดภาวะ DKA ร่างกายหลั่งสารกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า Counter-regulatory hormone ที่ประกอบด้วย อะดรีนาลีน คอติซอล และ กลูคากอน ออกมาต่อสู้กับความเจ็บป่วยเฉียบพลัน มีผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น โดยการเมตาบอลิสมไขมันเป็นพลังงาน กลไกนี้มีผลดีคือทำให้ร่างกายมีพลังงานมากขึ้น แต่มีของแถมคือสารคีโตนซึ่งทำให้เลือดเป็นกรด เมื่อเกิดคีโตนปริมาณมาก ร่างกายจะขับคีโตนออกทางการหายใจ ทำให้มีอาการหอบเหนื่อย


อาการที่บ่งชี้ว่ากำลังเกิดภาวะ DKA

  • คลื่นไส้อาเจียน

  • เบื่ออาหาร หรืองดน้ำงดอาหารเพื่อเตรียมตัวผ่าตัด

  • มีอาการปัสสาวะบ่อย ปริมาณมากขึ้น

  • คอแห้ง กระหายน้ำ (โดยเฉพาะน้ำเย็น น้ำหวาน)

  • อ่อนเพลีย ไม่มีแรง

  • หอบเหนื่อย

  • ลมหายใจมีกลิ่นผลไม้

  • ตรวจพบระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 250 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร


การป้องกัน ภาวะ DKA สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน (Sick- day rules)

  1. เน้นกินคาร์โบไฮเดรต

  2. ดื่มน้ำมากขึ้น

  3. อย่าหยุดยาฉีดอินซูลิน

  4. แนะนำให้รับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก น้ำข้าวผสมเกลือเล็กน้อย แครกเกอร์ หรือขนมปัง

  5. ถ้าไม่สามารถกินอาหารอ่อนได้ แนะนำให้กินอาหารเหลว ที่มีคาร์โบไฮเดรตอย่างน้อย 50 กรัม ทุก 3-4 ชม. เช่น น้ำผลไม้หรือโยเกิร์ต ซุปข้น

  6. ดื่มนํ้าเปล่าให้เพียงพออย่างน้อย 1 แก้วทุก 1 ชั่วโมง (สำหรับผู้ที่มีปัญหาโรคหัวใจหรือโรคไต ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับปริมาณนํ้าที่เหมาะสม)

  7. อย่าหยุดยาฉีดอินซูลิน โดยเฉพาะ basal หรือ long-acting insulin

  8. ตรวจน้ำตาลในเลือดบ่อยขึ้น คือ ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ เช่น ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่หนึ่ง ควรตรวจทุก 4 ชั่วโมง และในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่สอง ควรตรวจอย่างน้อย 4 ครั้งต่อวัน (3 เวลาก่อนอาหารและก่อนนอน)

  9. มาโรงพยาบาลทันทีเมื่ออาการไม่ดีขึ้น เช่น อาการของโรคร้ายแรง ได้แก่ มีอาการแน่นหน้าอก ปากเบี้ยว แขนขาอ่อนแรง มีอาการป่วยหรือมีไข้มากกว่า 2 วัน แล้วยังไม่ทุเลา คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องร่วง ไม่สามารถรับประทานอาหารได้นานเกิน 6 ชั่วโมง ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดก่อนอาหารมากกว่า 240 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร มีอาการของภาวะขาดน้ำ ริมฝีปากแห้งแตก คอแห้ง กระหายน้ำ หรืออาการรุนแรงขึ้น อ่อนเพลีย หอบเหนื่อย แน่นหน้าอก หายใจมีกลิ่นผลไม้

  10. เมื่อมีการงดน้ำงดอาหารเพื่อเตรียมตัวผ่าตัดหรือทำหัตถการใดๆ แนะนำให้หยุดยากลุ่ม SGLT-2 inhibitor 3-7 วันก่อนทำหัตถการ ทั้งนี้ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์

  11. ควรปรึกษาแพทย์เพื่อปรับยาฉีดอินซูลิน รวมถึงแจ้งรายการยาทุกตัวที่ใช้อยู่ อาหารเสริม และวิตามินต่างๆ กับแพทย์และทันตแพทย์ก่อนทำหัตถการทุกครั้ง เพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook