“กาแฟ” เครื่องดื่มเรียกพลัง ดื่มไม่ถูกวิธีอาจทำลายสุขภาพได้

“กาแฟ” เครื่องดื่มเรียกพลัง ดื่มไม่ถูกวิธีอาจทำลายสุขภาพได้

“กาแฟ” เครื่องดื่มเรียกพลัง ดื่มไม่ถูกวิธีอาจทำลายสุขภาพได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“ร่างกายต้องการกาแฟ” เมื่อไรก็ตามที่เราคิดแบบนี้ แสดงว่าเราอาจจะ 1) ง่วงมาก อยากหายง่วงเร็วๆ มีงานมีการต้องทำอีกมากมาย หรือ 2) ติดคาเฟอีน ไม่ว่าจะเหตุผลอะไรก็ตาม ก็ทำให้คุณเอื้อมไปคว้ากาแฟแก้วเล็กมาดื่มทุกวันได้ (บางวันอาจจะมากกว่า 1 แก้วด้วยซ้ำ) การดื่มกาแฟทุกวันทำลายสุขภาพของเราหรือไม่ แล้วเราต้องทำอย่างไรถึงจะดื่มกาแฟได้อย่างสบายใจ?


กาแฟ กระตุ้นการทำงานของประสาทจาก “คาเฟอีน”

ที่หลายคนชื่อบการดื่มกาแฟ นอกจากกลิ่นหอมหวลเย้ายวนใจ และรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว น่าจะเป็นเพราะฤทธิ์ของคาเฟอีนที่ทำให้คุณตื่นตัว สดชื่น กระปรี้กระเปร่าขึ้นได้ในระยะเวลาสั้นๆ ทำให้คุณมีสมาธิในการเรียนมากขึ้น ทำงานได้คล่องมือขึ้น สมองทำงานไวขึ้น ถ้านึกไม่ออกว่ามันสามารถกระตุ้นการทำงานของประสาทของคุณได้มากแค่ไหน ก็ลองนึกถึงเครื่องดื่มชูกำลังที่เหล่านักกีฬาหรือคนขับรถบรรทุกชอบดื่มกัน เครื่องดื่มเหล่านี้มีคาเฟอีนอยู่เช่นกัน (มากกว่ากาแฟด้วย) แถมยังมีน้ำตาลอีกมากมายอีกต่างหาก

นอกจากนี้ยังมีเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนอยู่เช่นกัน แต่อาจจะน้อยกว่ากาแฟเล็กน้อย ได้แก่ ชา โกโก้ น้ำอัดลม เป็นต้น


คาเฟอีน ดื่มให้พอดี ก่อนจะทำลายสุขภาพทีหลัง

การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนต้องดื่มในปริมาณที่เหมาะสม เพราะหากดื่มคาเฟอีนมากเกินไป อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เรา “นอนไม่หลับ” ได้ ซึ่งหากคุณนอนไม่หลับ ก็ทำให้เช้าวันต่อไปของคุณไม่สดใส ความกระปรี้กระเปร่าลดน้อยลง นอกจากนี้ยังพบในบางรายที่มีความทนทานต่อฤทธิ์ของคาเฟอีนได้น้อยกว่าคนทั่วไปอยู่มาก เช่น ดื่มกาแฟแล้วใจสั่น หัวใจเต้นแรง มือเย็น เหงื่อแตก


แล้วความ “พอดี” ในการดื่มกาแฟ อยู่ที่ไหน?

อาจเป็นเรื่องยากที่จะกำหนดปริมาณเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนอย่างกาแฟ และอื่นๆ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกคน เพราะในแต่ละคนสามารถทนต่อฤทธิ์ของคาเฟอีนได้ไม่เท่ากัน บางคนสามารถดื่มกาแฟก่อนนอนได้โดยยังสามารถนอนหลับต่อได้อย่างสบายๆ บางคนดื่มชาเย็น ชาเขียวแค่ไม่กี่อึก ก็ใจสั่น หรือนอนไม่หลับได้ ดังนั้นการจะหาปริมาณที่ “เหมาะสม” ในการดื่มหาแฟ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนอื่นๆ จึงต้องเป็นการ “ลอง” กะปริมาณเอาเอง โดยค่อยๆ เพิ่มปริมาณเครื่องดื่ม หรือเปลี่ยนเครื่องดื่มไปเรื่อยๆ ถึงจุดที่รู้สึกไม่ค่อยดีให้หยุด แล้วจำเอาไว้ว่าเราทนกับเครื่องดื่มคาเฟอีนประเภทไหน ได้เท่าไร

อย่าลืมว่าการหาปริมาณการดื่มกาแฟที่เหมาะกับตัวเอง ควรเริ่มจากน้อยไปหามากอย่างช้าๆ อย่ารีบร้อน และคอยสังเกตอาการที่เกิดขึ้นกับตัวเองไปตลอดทั้งวัน

>> ทำไม? บางคนดื่ม “กาแฟ” แล้ว “ท้องเสีย”


ดื่มกาแฟอย่างไร ไม่ทำลายสุขภาพ?

  1. เลือกกาแฟดำ แทนกาแฟใส่น้ำตาล ครีมเทียม ฯลฯ เราติดกาแฟได้ แต่เราอย่าติดน้ำตาล

  2. ไม่ควรดื่มกาแฟหลังบ่ายสองโมงตรง (หรือหลังเที่ยง หากร่างกายของคุณไวต่อฤทธิ์คาเฟอีนมาก) เพราะมีความเสี่ยงที่ฤทธิ์ของคาเฟอีนจะทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับในตอนกลางคืนได้

  3. ดื่มกาแฟพร้อมรับประทานอาหารเช้า จะทำให้ร่างกายดูดซึมคาเฟอีนได้อย่างช้าๆ และออกฤทธิ์ได้นานโดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มเอสเปรสโซ่ช็อต หรือเพิ่มจำนวนแก้ว

  4. เลือกกาแฟคุณภาพดี เพื่อให้ได้คุณประโยชน์จากกาแฟให้ได้มากที่สุด

>> 6 เคล็ดลับดื่มกาแฟอย่างไรโดยไม่เสียสุขภาพ

>> กาแฟสด VS กาแฟสำเร็จรูป แบบไหนมีประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่ากัน?  


อันตรายจากภาวะผิดปกติจากคาเฟอีน

หากคุณดื่มกาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหลายๆ แก้วแล้วยังไม่รู้สึกถึงความกระปรี้กระเปร่าตื่นตัว หรือไม่ได้ช่วยให้หายง่วงเลยสักนิด นั่นไม่ใช่สัญญาณที่ดี เพราะคุณอาจเข้าสู่ภาวะ ดื้อคาเฟอีน

หากไม่ได้ดื่มคาเฟอีนแล้วรู้สึกปวดศีรษะ ง่วงนอนมาก อ่อนเพลีย ไปจนถึงคลื่นไส้ คุณอาจกำลังติดคาเฟอีนมากเกินไป

หรือหากคุณรู้สึกกระสับกระส่าย นอนไม่หลับ หัวใจเต้นแรง หลังจากดื่มกาแฟมากกว่าเดิมที่เคยดื่ม คุณอาจเสี่ยงภาวะพิษจากคาเฟอีน ได้เช่นกัน

>> อาการเริ่มต้น ของคนที่ติด “คาเฟอีน”

ดังนั้น อย่าดื่มกาแฟจนเกิดอันตราย หากมีอาการดังกล่าวควรหยุดดื่มทันที และอาจขอคำปรึกษาจากแพทย์เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด เช่น ชอบรสชาติกาแฟ แต่แพ้คาเฟอีน ก็เลือกดื่มกาแฟดีแคป (DeCaf) ที่เอาคาเฟอีนออก หรือเลือกวิธีอื่นที่จะทำให้รู้สึกสดชื่นในตอนเช้า เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ เป็นต้น

>> 3 วิธีกระตุ้นความสดชื่นในตอนเช้า แทนการดื่มกาแฟ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook