“กระเพาะอาหารอักเสบ” กับ 7 วิธีปรับเปลี่ยนชีวิตพิชิตโรค

“กระเพาะอาหารอักเสบ” กับ 7 วิธีปรับเปลี่ยนชีวิตพิชิตโรค

“กระเพาะอาหารอักเสบ” กับ 7 วิธีปรับเปลี่ยนชีวิตพิชิตโรค
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อาการปวดท้องทุกครั้งที่หิว หรืออิ่มท้อง ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะเป็นความทรมานที่ไม่มีใครอยากเผชิญ แต่หลายคนก็จำใจจำยอมต้องทนกับความเจ็บปวดเหล่านี้ เพราะดันดูแลร่างกายไม่ดีตั้งแต่แรก โดยเฉพาะเหล่าวัยรุ่นที่ใช้ชีวิตสุดเหวี่ยงโดยไม่สนใจสุขภาพของตัวเองเท่าที่ควร เมื่อย่างเข้าสู่วัยที่เรียนหนัก หรือทำงานหนัก โรคกระเพาะอาหารอักเสบจะเป็นโรคแรกๆ ที่อาจมาทักทายคุณได้ง่ายๆ ทั้งหมดมาจากพฤติกรรมในการใช้ชีวิตที่ไม่คำนึงถึงกระเพาะอาหารของคุณนั่นเอง

อ่านต่อ >> 8 พฤติกรรมทำร้าย “กระเพาะอาหาร” โดยไม่รู้ตัว

 

พญ. สกุณี ภระกูลสุขสถิต แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีปรับเปลี่ยนชีวิต พิชิตโรคกระเพาะอาหารอักเสบเอาไว้ ดังนี้

 

  1. รับประทานอาหารที่ปรุงสุก สะอาด

หลายคนอาจไม่ทราบว่า โรคกระเพาะอาหารอักเสบ มีสาเหตุหนึ่งที่มาจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า เชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร หรือ เอชไพโลไร (Helicobacter pylori / H.pylori) ซึ่งเป็นเชื้อที่พบได้ในอาหาร หรือน้ำดื่มที่มีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ และอาจรวมถึงอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ดังนั้นการทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ๆ ก็จะสามารถหลีกเลี่ยงการติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบได้

อ่านต่อ >> เชื้อแบคทีเรีย “เอชไพโลไร” ภัยเงียบซ่อนอยู่ในกระเพาะอาหาร

 

  1. รับประทานอาหารให้ตรงเวลาทุกมื้อ

เรื่องนี้หลายคนน่าจะทราบกันดีอยู่แล้วว่า หากรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา จนน้ำย่อยในกระเพาะอาหารถูกผลิตออกมา แล้วมาทำร้ายผนังกระเพาะอาหารแทน อาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร และทำให้เราปวดท้องทรมานได้ ดังนั้นเราสามารถหลีกเลี่ยงความทรมานนี้ได้ง่ายๆ ด้วยการทานข้าวให้ตรงเวลา ให้ระบบย่อยอาหารของกระเพาะอาหารเราทำงานตามปกติ

 

  1. ไม่ทานอาหารน้อย หรือมากเกินไป

ในแต่ละมื้อ ควรทานอาหารแต่พอดี ไม่มาก หรือไม่น้อยจนเกินไป เพราะทานอาหารน้อยมากจนไม่มีอะไรให้กระเพาะอาหารได้ย่อย ก็อาจทำให้น้ำย่อยในกระเพาะอาหารทำลายผนังในกระเพาะจนเป็นแผลได้เช่นกัน สำหรับการทานอาหารมากเกินไป อาจเป็นการเร่งให้กระเพาะอาหารผลิตน้ำย่อยออกมามากจนเกินไป จนกรดในน้ำย่อยที่หลั่งออกมามีมากเกินไปจนทำลายผนังกระเพาะอาหารด้วย นอกจากนี้ควรเคี้ยวข้าวให้ละเอียดก่อนกลืน เพื่อเป็นการลดภาระในการทำงานของกระเพาะอาหาร ช่วยให้ร่างกายย่อยอาหารได้ง่าย รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

  1. หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด และอาหารหมักดอง

การทานอาหารรสจัด หรืออาหารหมักดอง จะไปกระตุ้นการทำงานของกระเพาะอาหารให้ผลิตน้ำย่อยออกมามากขึ้น (เพราะเข้าใจว่าเป็นอาหารที่ย่อยยาก) ส่งผลให้ผนังกระเพาะอาหารระคายเคือง เป็นแผลอักเสบได้

 

  1. งดบุหรี่ แอลกอฮอล์ ชา กาแฟ น้ำอัดลม และเครื่องดื่มอื่นๆ ที่มีคาเฟอีน

เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน จะไปกระตุ้นการทำงานของกระเพาะอาหารให้ผลิตน้ำย่อยออกมามากขึ้น ดังนั้นน้ำย่อยส่วนเกินที่เป็นกรดจึงอาจทำลายผนังกระเพาะอาหารได้อีกเช่นกัน นอกจากนี้การดื่มน้ำอัดลมในขณะท้องว่าง อาจทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหารมาก และยังอาจทำให้อืดท้อง แน่นท้องได้อีกด้วย

อ่านต่อ >> ปวดท้องแบบไหน เป็นโรค “กระเพาะอาหารอักเสบ”

 

  1. ปรึกษาแพทย์ก่อนทานยาที่มีฤทธิ์ระคายเคืองกระเพาะอาหาร

ระมัดระวังการใช้ หรือทานยาที่อาจส่งผลให้ระคายเคืองกระเพาะอาหาร เช่น ยาสเตียรอยด์ ยากลุ่มเอนเสด (NSAIDs) เช่น แอสไพริน และยาบรเทาอาการปวดอื่นๆ เพื่อไม่ให้เกิดผลในผนังกระเพาะอาหารจนเกิดการอักเสบ และมีอาการปวดแสบท้องขึ้นได้

 

  1. จัดการกับความเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ

ทราบหรือไม่ว่า ภาวะเครียด และการพักผ่อนไม่เพียงพอ มีส่วนที่ทำให้กระเพาะอาหารหลั่งน้ำย่อยออกมามากเกินไป หรือแม้กระทั่งน้ำย่อยหลังออกมาผิดเวลาได้ ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ควรผ่อนคลายความเครียดของตัวเอง และเข้านอนให้ตรงเวลาทุกคืน จะช่วยให้ร่างกายของคุณเข้าที่เข้าทาง และลดความเสี่ยงในการเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบได้

อ่านต่อ >> ดูแลสุขภาพ ห่างไกลโรค "แผลในกระเพาะอาหาร"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook