ไขข้อสงสัยเรื่องแม่ท้อง ‘ทำได้-ข้องใจ-ต้องห้าม’

ไขข้อสงสัยเรื่องแม่ท้อง ‘ทำได้-ข้องใจ-ต้องห้าม’

ไขข้อสงสัยเรื่องแม่ท้อง  ‘ทำได้-ข้องใจ-ต้องห้าม’
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อคุณตั้งท้อง โลกที่เคยอยู่ กิจวัตรที่เคยทำก็ดู ‘เสี่ยง' ไปหมด ว่าที่คุณแม่ได้แต่สงสัยว่า อะไรทำได้ -อะไรไม่ควรทำ ยิ่งหาคำตอบก็ยิ่งสับสน เราจึงรวบรวมข้อสงสัยต่างๆ มาไขให้กระจ่าง

 

 

จากุซซี่ (‘ต้องห้าม')


น้ำร้อนในอ่างจากุซซี่จะเร่งให้ร่างกายของว่าที่คุณแม่มีอุณหภูมิสูงขึ้น (ปกติร่างกายของแม่ตั้งครรภ์ก็มีอุณหภูมิสูงกว่าคนทั่วไปเล็กน้อยอยู่แล้ว) แถมยังเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นลมล้มลงในอ่างอีกต่างหาก เพราะฉะนั้น หลีกเลี่ยงการแช่น้ำร้อนๆ รวมถึงการเข้าห้องซาวน่าไปก่อนดีกว่า

 

ออกกำลังกาย (‘ทำได้')


ถ้าคุณไม่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น เคยมีประวัติแท้งบุตร คลอดก่อนกำหนด หรือมีโรคแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ ฯลฯ การออกกำลังเป็นเรื่อง ‘ควรทำ' สำหรับแม่ท้องเลยล่ะ (แต่ก็ควรปรึกษาสูติแพทย์ประจำตัวก่อนนะ) กฏข้อสำคัญคือ ต้องระมัดระวังอุบัติเหตุ และอย่าหักโหม ถ้าก่อนท้องคุณไม่ได้ออกกำลังบ่อยนัก ควรเริ่มวันละนิด สัก 15-20 นาที 3 วัน/สัปดาห์ ก็พอแล้ว

 

 

 

เสริมความงาม (‘ข้องใจ')


พอรู้ตัวว่าตั้งท้อง หลายคนเลิกแต่งหน้าหรือทาครีมบำรุงไปเลย ความจริง แม่ท้องสามารถใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวได้ ถ้าผลิตภัณฑ์นั้นๆ ไม่มีส่วนผสมของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์ เช่น สารเคมีกลุ่มอนุพันธ์ของวิตามินเอ (Retinoid-A) และ กลุ่มกรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid)


ถ้าไม่แน่ใจว่าครีมที่ใช้อยู่มีสารอันตรายหรือไป ลองหยิบไปให้สูติแพทย์ช่วยดูรายละเอียดให้ก็ได้ และ ถ้าคุณจำเป็นต้องไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อรักษาสิวในช่วงอุ้มท้อง ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบว่า กำลังตั้งครรภ์ แพทย์จะได้สั่งยาที่ไม่เป็นอันตรายต่อทารก (คุณแม่อาจปรึกษาสูติแพทย์ประจำตัวร่วมด้วยเพื่อความมั่นใจ)

 

กุ๊กกิ๊กกับสามี (‘ทำได้')


ถ้าไม่มีปัญหาสุขภาพหรือภาวะเสี่ยงที่แพทย์แนะนำให้งดมีเพศสัมพันธ์ ก็เชิญสวีทกับคุณหวานใจได้ตามปกติ เพียงแต่ควรหลีกเลี่ยงท่วงท่าที่กระทบกระแทกรุนแรง ถ้ามีเลือดออกจากช่องคลอดระหว่างทำกิจกรรมรัก ก็ควรหยุดมีเพศสัมพันธ์ไว้ก่อน และปรึกษาสูติแพทย์ประจำตัวให้ตรวจวินิจฉัยอาการในวันถัดไป

 

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (‘ต้องห้าม')


หากคุณแม่ตั้งครรภ์ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์จะสามารถซึมผ่านเข้าสู่กระแสเลือดของทารกได้ภายใน 20 นาที ถ้าเด็กได้รับแอลกอฮอลล์ปริมาณมากก็มีโอกาสที่จะเกิดภาวะกลุ่มอาการทารกพิษสุราในครรภ์ (Foetal alcohol syndrome-FAS) ซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตและความผิดปกติต่างๆ ได้

 

 

 

 

เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน (‘ข้องใจ')


กองมาตรฐานอาหารของประเทศอังกฤษ (The Food Standards Agency) ออกประกาศเตือนว่า หญิงตั้งครรภ์ ไม่ควรได้รับคาเฟอีนมากกว่า 200 มิลลิกรัม/วัน ปริมาณนี้เท่ากับกาแฟสำเร็จ 2 แก้ว กาแฟสด 1 แก้ว ชา 2 เหยือก หรือโคลา 5 กระป๋อง แต่ทางที่ดี พยายามลดหรือเลิกดื่มไปเลยดีกว่า เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้นอกจากจะมีคาเฟอีนแล้ว ยังมีน้ำตาลซึ่งทำให้เกิดปัญหาน้ำหนักเกินด้วย

 

แผ่นอนามัย (‘ต้องห้าม')


ว่าที่คุณแม่มักจะมีตกขาวหรือมูกใสๆ ไหลออกมาจากช่องคลอดมากกว่าผู้หญิงทั่วไป (ก็ผลจากฮอร์โมนนั่นแหละ) ถึงอย่างนั้นก็ไม่ควรใช้แผ่นอนามัยเป็นประจำทุกวัน เพราะตกขาวจะไปสะสมอยู่ในแผ่นอนามัย ทำให้เกิดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดกลิ่น หรือเชื้อราได้ง่าย ถ้ารู้สึกไม่สบายตัว ให้ใช้วิธีเปลี่ยนกางเกงชั้นในบ่อยๆ ระหว่างวันแทนดีกว่า

 

กระบะทรายอึแมว (‘ต้องห้าม')


อึของเจ้าเหมียวขนนุ่มอาจเป็นอันตรายต่อแม่ท้อง เพราะในลำไส้ขแมวอาจมีเชื้อปรสิตท็อกโซพลาสโมซิส ซึ่งหากได้รับเชื้อในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ อาจทำให้เกิดภาวะแท้ง ทารกตายตอนคลอดหรือมีอาการผิดปกติได้ ถ้าที่บ้านของคุณเลี้ยงแมว ก็ควรให้คนอื่นในบ้านช่วยเปลี่ยนทรายอึแมวแทน ถ้าแม่ท้องจำเป็นต้องเปลี่ยนทรายเอง ห้ามใช้มือเปล่าเด็ดขาด ต้องใส่ถุงมือยางและหน้ากากอนามัยทุกครั้ง

 

ทำสีผม (‘ข้องใจ')


ตอนนี้ยังไม่มีผลการศึกษาชี้ชัดว่า สารเคมีที่ใช้ในการทำสีผมจะส่งผลต่อการตั้งครรภ์หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่ทำสีผม หนังศีรษะมีโอกาสที่จะสัมผัสสารเคมี ทำให้สารเคมีซึมเข้าสู่ร่างกายได้ ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านแนะนำว่า อย่างน้อยก็ควรรอให้พ้นไตรมาสแรกซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายของทารกเริ่มสร้างอวัยวะต่างๆ เสียก่อน จึงค่อยทำสีผม (แต่ความจริงแล้วรอให้ลูกคลอดออกมาก่อนก็ยิ่งปลอดภัยนะ) และควรทำสีผมในที่อากาศโปร่ง เพื่อหลีกเลี่ยงการสูดดมสารเคมีเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมาก ถ้าคุณแม่จะทำสีผมเองก็ควรใส่ถุงมือให้เรียบร้อย

 

ทาสีบ้าน (‘ข้องใจ')


เวลาที่ทาสีบ้าน คุณมีโอกาสสัมผัสกับน้ำมัน ยางไม้เรซิน ตัวทำละลาย สารดูดซับความชื้น สารไวนิล ลาเท็กซ์ และอะคริลิค ฯลฯ นอกจากนี้ สีทาบ้านยังอาจมีส่วนผสมของสารเคมีที่เป็นพิษต่อร่างกาย เช่น ตะกั่ว สังกะสี และอลูมิเนียมฯลฯ แม่ท้องไม่ควรประมาท หากจำเป็นต้องทาสีบ้านเอง ควรให้สมาชิกคนอื่นในครอบครัวเป็นคนจัดการ และควรอยู่ห่างจากบริเวณที่ทาสีอย่างน้อย 48 ชั่วโมง เพื่อให้ไอสีระเหยไปจนหมด (ที่จริงแค่กลิ่นสีก็อาจทำให้แม่ท้องรู้สึกคลื่นไส้หรือเวียนศีรษะได้แล้วนะ)

 

 

 

 

โดยสารเครื่องบิน (‘ข้องใจ')


ว่าที่คุณแม่สามารถโดยสารเครื่องบินขนาดใหญ่ที่มีการปรับระดับความดันในห้องโดยสารเป็นอย่างดีได้อย่างปลอดภัย ยกเว้นกรณีที่มีข้อควรระวัง เช่น ภาวะรกเกาะต่ำ ปากมดลูกหย่อน หรือมีประวัติแท้งคุกคาม ก็ไม่ควรเดินทางด้วยเครื่องบินโดยไม่จำเป็น เพราะหากเกิดอาการผิดปกติ จะไม่มีอุปกรณ์หรือบุคลากรที่พร้อมช่วยเหลือ นอกจากนี้สายการบินส่วนใหญ่มักสงวนสิทธิ์ งดให้บริการเส้นทางบินระหว่างประเทศ สำหรับผู้โดยสารตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์ 28-30 สัปดาห์ขึ้นไป เนื่องจากเกรงจะเกิดกรณีคลอดฉุกเฉิน

 

ยาแอสไพริน (ต้องห้าม')


ยาแอสไพรินจะต้านฤทธิ์ของสารพรอสตาแกลนดิน (สารออกฤทธิ์ต่อการทำงนาชองกล้ามเนื้อมดลูกในกลไลการคลอด) และอาจทำให้การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ หากได้รับยาในระยะ 2 สัปดาห์ก่อนคลอด อาจทำให้เกิดปัญหาตกเลือดตอนคลอดได้ หากมีอาการปวดที่ต้องใช้ยา แพทย์จึงแนะนำให้ใช้ยาแก้ปวดชนิดอื่น เช่น พาราเซตามอล แทน

 

กางเกงยีนส์ฟิตๆ (‘ข้องใจ')


การใส่เสื้อผ้ารัดๆ ไม่ได้ส่งผลต่อทารกในครรภ์ แต่อาจทำให้คุณแม่รู้สึกอึดอัดไม่สบายตัว (ตอนนี้ใครตัวใหญ่ขึ้นยกมือหน่อย) นี่ไม่ใช่ว่าแม่ท้องจะใส่กางเกงยีนส์ไม่ได้นะ เดี๋ยวนี้มีกางเกงยีนส์สำหรับคนท้อง ทรงสบายๆ ทำจากวัสดุที่ระบายอากาศได้ดี แถมมีแผ่นพยุงท้องติดมาด้วย

 

ยาฉีดยุง/แมลง (‘ข้องใจ')


ยาฆ่าแมลงในปัจจุบันมีความปลอดภัยมากขึ้น แต่ก็ใช่ว่าแม่ท้องอย่างเราจะอยู่ในห้องที่เพิ่งฉีดยากันยุงได้ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้คุณแม่ ‘อยู่ห่าง' จากพื้นที่ที่ฉีดยาฆ่าแมลง นานกว่าระยะเวลาที่กำหนดในบรรจุภัณฑ์ 1 เท่า เช่น ถ้าบนกระป๋องยาฉีดยุง แนะนำให้ฉีดทิ้งไว้ 2 ชั่วโมงก่อนใช้ห้อง คุณก็ควรรอจนครบ 4 ชั่วโมงก่อน เพื่อความปลอดภัย

 

กฎ 5 ข้อ ตั้งครรภ์ปลอดภัย

1. อ่านฉลากและดูรายละเอียดส่วนผสม ในบรรจุภัณฑ์ของอาหาร เครื่องดื่ม ยารักษาโรค และเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ ให้ละเอียด หากไม่แน่ใจ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้


2. คำว่า ‘ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ' ไม่ได้แปลว่า ‘ปลอดภัย' เสมอไป


3. ถ้าเพื่อนหรือว่าที่คุณแม่คนอื่นใช้ได้ ไม่ได้หมายความว่า คุณจะใช้ได้ด้วย เพราะว่าที่แม่ท้องแต่ละคนมีข้อจำกัดหรือข้อควรระวังไม่เหมือนกัน


4. ใช้สามัญสำนึก ถ้าอาหารตรงหน้าดูไม่สะอาด หรือไม่รู้ว่าปรุงมานานแค่ไหน ก็อย่ากินเลยดีกว่า


5. อย่ากังวลเกินไป จริงอยู่ว่าแม่ท้องต้องระมัดระวังตัวเองมากขึ้น แต่ก็อย่าเครียดเกินเหตุจนเสียสุขภาพจิต สิ่งใดที่ไม่แน่ใจก็ไปถามคุณหมอเสียก่อน ผ่อนคลายและมีความสุขให้มากๆ ส่งผลดีต่อเจ้าเบบี๋ด้วยนะ

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook