3 แนวคิดสู่ชีวิตแห่งความสุขจาก "วิกรม กรมดิษฐ์"
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060
    //s.isanook.com/wo/0/ud/22/111857/2660308434.jpg3 แนวคิดสู่ชีวิตแห่งความสุขจาก "วิกรม กรมดิษฐ์"

    3 แนวคิดสู่ชีวิตแห่งความสุขจาก "วิกรม กรมดิษฐ์"

    2018-07-01T09:30:00+07:00
    แชร์เรื่องนี้

    ช่วงเทศกาลสงกรานต์หรือปีใหม่ไทยที่เพิ่งผ่านพ้นไปนั้นเรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของหลายๆครอบครัวที่ได้มีโอกาสพบปะลูกหลาน ได้ใช้เวลาร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆ หลายคนใช้ช่วงเวลานี้เป็นจุดสตาร์ทในการเริ่มต้นทำอะไรใหม่ๆหรือเปลี่ยนแปลงตัวเองไปในทิศทางที่ดีขึ้น

    เมื่อ HELLO! ได้รับโอกาสพิเศษในการพูดคุยกับหนึ่งในบุคคลที่เรียกได้ว่าสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างประสบความสำเร็จและมีความสุขอย่าง คุณวิกรม กรมดิษฐ์จึงขอแชร์เรื่องราวอันมีคุณค่าที่น่าเป็นประโยชน์ต่อใครที่กำลังจะเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงตัวเองไม่น้อย โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ ที่คุณวิกรม ขอบอกว่าหากทำ 3 ข้อนี้ได้แล้วชีวิตจะมีความสุข!

    ข้อที่ 1  “เข้าใจตัวเอง รู้จักตัวเอง”

    “เป็นสิ่งแรกที่ไม่ใช่แต่เด็ก แต่กับทุกๆคนบนโลกนี้ควรจะต้องรู้จักตัวเองก่อนว่า เราเป็นใคร เราต้องการอะไรในชีวิต ต้องเคลียร์ตรงนี้ก่อน มันเหมือนกับเรือ ถ้าเกิดเราไม่มีเข็มทิศเราก็ไม่รู้ว่าวิ่งไปที่ไหน เราต้องรู้จักตัวเองว่าทำอะไรได้เรื่อง ทำอะไรไม่ได้เรื่อง อีกอย่างเราต้องเข้าใจครอบครัว รากเหง้าของเรา เพื่อจะรู้ว่าเราเป็นเรือชนิดไหน ถ้าเป็นเรือแจวก็ต้องพายอยู่ในคลอง ถ้าเรือแจวพายอยู่ในทะเล ก็ไปไม่รอด หรือถ้าเป็นเรือดำน้ำแล้วมาอยู่ในคลองมันก็ไม่ได้เหมือนกัน”

    ข้อที่ 2 “มองโลก มองสังคมให้เป็น”

    “เราต้องรู้ว่าโลกใบนี้ตอนนี้เขาหมุนไปถึงไหน แล้วอนาคตเขาจะหมุนไปทางไหน เราสู้ญี่ปุ่นไม่ได้ สู้เกาหลีไม่ได้ เพราะว่าคนพวกนี้เขาเข้าใจโลกว่าโลกนี่มันหมุนไปจุดไหนกันแน่ แล้วหมุนด้วยความเร็วเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นการที่เรามองโลกให้กว้างเพื่อให้เห็นอนาคตของโลก ก็จะทำให้เราเรียนรู้ว่าเราควรจะเรียนอะไร ควรจะทำอะไร ให้มันเหมาะสมกับโลกและกับสังคม ยิ่งประกอบกับเรามีเข็มทิศที่ดี เราก็จะสามารถวิ่งไปสู่จุดที่ดีที่สุดได้ง่ายขึ้น”

    ข้อที่ 3 “อย่าหลอกตัวเอง”

    “เราต้องยืนอยู่บนความจริง อย่าหลอกตัวเอง ไม่ว่าจะกิน จะแต่งตัว เราไม่จำเป็นต้องไปซื้ออะไร ใส่อะไร ที่ไม่ใช่ตัวตนของเรา สิ่งที่ปรุงแต่งมากๆ มันจะทำให้เหนื่อย ยิ่งถ้าเราพูดไม่จริง วันหนึ่งเราจะต้องเดือดร้อน เราเป็นยังไงเราก็แสดงตนอย่างงั้น แต่ก็ต้องให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อม กับสังคมที่เป็นจริงด้วย”

    คุณวิกรม ทิ้งท้ายกับเราอีกว่า “ที่จริงแล้วหลักพวกนี้นั้นมีพื้นฐานจากศาสนาพุทธทั้งนั้น ศาสนาพุทธเขาสอนอยู่เรื่องหนึ่งนั่นคือ สัจธรรม’ ซึ่งแปลว่า ความจริง ฉะนั้นคนรุ่นใหม่ ถ้าเกิดมีโครงสร้างแห่งความคิดตรงนี้ เขาก็จะไม่เดือดร้อน และสามารถมีชีวิตที่เหมาะสม บนความพอใจของเขา มันถือว่าเป็นความสุขนะ เมื่อเราพึงพอใจ เราไปที่ไหน เรายืนที่ไหน เราจะเจอกับใคร เราก็จะยืนแบบอกผาย ไหล่ผึ่ง ได้อย่างเต็มภาคภูมิ