8 สิ่งที่ไม่ควรพูดกับผู้ป่วยโรคมะเร็ง

8 สิ่งที่ไม่ควรพูดกับผู้ป่วยโรคมะเร็ง

8 สิ่งที่ไม่ควรพูดกับผู้ป่วยโรคมะเร็ง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อโรคมะเร็งเป็นโรคยอดนิยมของวัยทำงานไปจนถึงวัยชรา และระยะหลังๆ มานี้ก็พบผู้ป่วยโรคมะเร็งในวัยเด็ก และวัยรุ่นมากขึ้น ดังนั้นหากมองไปรอบๆ ตัวแล้วจะพบเจอคนที่กำลังเป็นโรคมะเร็งอยู่ก็ไม่น่าแปลก และหลายคนก็ทราบดีว่าสิ่งเดียวที่ทำได้คือการเข้ารับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญไปเรื่อยๆ เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่เราสนทนากับเพื่อน หรือคนรู้จักที่เป็นผู้ป่วยโรคมะเร็ง อาจมีบางสิ่งที่เราไม่ควรพูด หรือไม่ควรทำต่อหน้าเขา และอาจเป็นสิ่งที่เราไม่เคยรู้มาก่อนว่าไม่ควรทำ ไม่ควรพูด ดังนั้น Sanook! Health ขอแนะนำสิ่งที่ไม่ควรพูดกับผู้ป่วยโรคมะเร็งมาให้เราทุกคนระมัดระวังกัน

1. ไม่ต้องถามหาเหตุผล หรือสาเหตุที่เป็นโรคมะเร็ง

‘พ่อแม่ หรือญาติเป็นมะเร็งหรือเปล่า?’ ‘ชอบดื่ม ชอบสูบบุหรี่ ชอบทานอาหารขยะ ฯลฯ หรือเปล่า?’ ถ้าเขาไม่ได้เล่าเองก็ไม่มีความจำเป็นต้องถาม เพราะนอกจากจะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนแล้ว การถามหาสาเหตุในช่วงเวลาที่เขาป่วยแล้ว ดูจะไม่มีประโยชน์อันใด เพราะสุดท้ายแล้วโรคมะเร็งที่เขาเป็น ก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้แน่ชัดว่าเป็นเพราะอะไรจริงๆ กันแน่ และถึงแม้จะถามไปเพราะกลัวว่าจะเป็นโรคมะเร็งด้วย จึงถามหาสาเหตุว่าเป็นเพราะสิ่งนั้น สิ่งนี้หรือไม่ ถ้าจะให้ตอบจริงๆ เลยคือ ทุกคนมีสิทธิ์เป็นโรคมะเร็งเหมือนกันหมด ดังนั้นไม่ต้องถามรายละเอียดจะดีกว่า

2. พูดเองเออเอง

‘ดูไม่ค่อยโทรมเลยนะ ไม่เหมือนคนป่วยเลย เดี๋ยวก็หายแล้ว’ หรือ ‘อย่าร้องไห้นะ เข้มแข็งเข้าไว้ ถ้าเราร้องไห้แปลว่าเรายอมแพ้แล้ว’ เราไม่มีทางเข้าใจความรู้สึกที่เกิดขึ้นของผู้ป่วยโรคมะเร็งได้หรอกว่าเขารู้สึกอย่างไร และไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะห้ามไม่ให้ท้อ ไม่ให้เสียใจ ไม่ให้ร้องไห้ หรือแม้กระทั่งการให้กำลังใจกันลอยๆ ในบางครั้งก็ไม่ได้ฟังแล้วรู้สึกดีขึ้น เพราะเป็นคำพูดที่คนพูดอาจจะพูดเองเออเอง ไม่ได้ถามผู้ป่วยว่ารู้สึกอย่างไรจริงๆ ผู้ป่วยทุกคนรู้ดีว่าโรคนี้มีโอกาสรักษาให้หายยาก ไม่ใช่ทานยาเม็ดสองเม็ดก็หาย เราไม่ใช่หมอ ดังนั้นแทนที่จะพูดเองเออเองไปเรื่อย หยุดตัดสินใจแทนผู้ป่วยจะดีกว่า

3. หาวิธีรักษามาให้โดยไม่ได้ร้องขอ

เรื่องนี้อาจเคยเกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคมะเร็งหลายคน เพราะเหล่าเพื่อน เหล่าคนรู้จักที่หวังดี มักมาพร้อมกับทางออกที่ตัวเองคิดว่าดี แต่จริงๆ แล้วดีจริงหรือเปล่าก็ยังพิสูจน์ไม่ได้ หลายคนแนะนำให้ผู้ป่วยทำนู่นทำนี่ ทานนู่นทานนี่เพิ่ม หรือแม้กระทั่งแนะนำวิธีการรักษาแบบใหม่ วิธีการใหม่ไปเลย จริงๆ แล้วเรื่องที่เราเห็นหรือได้ยินมาว่าทำแบบนู้นแบบนี้แล้วหาย มันไม่มีหลักประกันอะไรเลยว่าหากผู้ป่วยคนนั้นทำตามแล้วเขาจะหายด้วย ในเมื่อตอนนี้เขาเริ่มวิธีการรักษาของเขาไปแล้ว เขามีแพทย์ประจำตัวแล้ว ปล่อยให้การรักษาเป็นหน้าที่ของแพทย์ผู้ที่เชี่ยวชาญกว่าเราจะดีกว่า หากผู้ป่วยคนนั้นทำตามที่เราแนะนำขึ้นมาจริงๆ แล้วมันไม่ได้ผลกับเขา เราจะรับผิดชอบได้หรือเปล่า

4. พูดถึงผู้ป่วยโรคมะเร็งคนอื่นที่อาการแย่กว่า

บางครั้งการให้กำลังใจก็สามารถเกิดขึ้นได้จากคำพูดเล็กๆ น้อยๆ หากเราเล่าว่า “พ่อของเพื่อนก็เป็นมะเร็งเหมือนกัน แต่เขาเสียชีวิตแล้วเมื่อเดือนก่อน” แน่นอนว่าคนป่วยตรงหน้าเราคงรู้สึกไม่ดี และไม่อยากจะคิดว่าอนาคตของเขาจะต้องจบลงเหมือนกับพ่อของเพื่อนเราหรือไม่ ดังนั้นหากจะพยายามหาเรื่องที่เกี่ยวข้องมาคุยกัน โดยอ้างถึงผู้ป่วยโรคมะเร็งคนอื่นๆ ที่คุณรู้จัก ก็แนะนำถึงคนป่วยที่กำลังรักษา แล้วมีแนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้นจะดีกว่า

5. ตั้งใจฟังถึงวิธีรักษา

หากระหว่างสนทนาผู้ป่วยโรคมะเร็งกำลังเล่าให้ฟังว่าเขาต้องผ่านการรักษารูปแบบใดมาบ้าง อยากให้เราช่วยกันตั้งใจฟังเขาให้ดีๆ เพราะโรคมะเร็งไม่ใช่โรคที่จะรักษากันได้ง่ายๆ ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านความอดทนทรมานมามากมาย แต่ละเรื่องแต่ละช่วงเวลาที่เขาเหล่านั้นผ่านมาไม่ใช่เรื่องง่าย และหากเขาอยากจะแบ่งปันประสบการณ์อันยากลำบากเหล่านั้นให้คุณฟัง คุณก็อย่าเพิ่งเบือนหน้าหนี หยิบมือถือมาเล่น หรือจู่ๆ ก็ขัดจังหวะขึ้นมาแล้วเปลี่ยนเรื่องคุยไปเสียเฉยๆ

6. ยาก-ง่าย อย่าตัดสินให้เขา

ความยาก-ง่ายของอะไรสักอย่างสำหรับเราทุกคนไม่เท่ากัน บางคนมองว่าการคำนวณเป็นเรื่องง่าย หรือการทำอาหารเป็นเรื่องยาก แต่อย่าลืมว่าความถนัด หรือมุมมองของสิ่งต่างๆ ของคนเราไม่เท่ากัน หากผู้ป่วยเล่าขั้นตอนของการทำคีโมให้เราฟัง แล้วเราบอกเขาว่า ‘แค่นี้เองเหรอ ไม่ยากเนอะ’ ลองคิดดูแล้วกันว่าผู้ป่วยฟังแล้วจะรู้สึกอย่างไร ในทางกลับกันหากเล่าถึงขั้นตอนในการรักษาที่ยุ่งยาก แล้วเราแสดงความคิดเห็นลงไปว่าเป็นเรื่องยาก ไม่น่าทำได้ มันก็ไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกดีอีกเช่นกัน ดังนั้นหากอยากจะแสดงความคิดเห็นระหว่างเรื่องที่ผู้ป่วยเล่าให้ฟัง นอกจากตั้งใจฟังแล้ว อาจจะพยักหน้าอย่างเข้าใจ และให้กำลังใจเขาว่า ‘เก่งจังเลยที่ผ่านมาได้’ มากกว่า

7. ไม่ต้องแนะนำผู้ป่วยโรคมะเร็งอีกคนให้รู้จักก็ได้

แม้ว่าจะเป็นโรคมะเร็งเหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องใช้วิธีรักษาเหมือนกัน ดังนั้นหากจะแนะนำผู้ป่วยโรคมะเร็งให้รู้จักกัน อาจจะเป็นเพียงเพื่อให้ช่วยกันให้กำลังใจซึ่งกันและกัน หรือพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันมากกว่า แต่ในเรื่องของวิธีการรักษาอาจไม่จำเป็นต้องเป็นวิธีเดียวกัน จากแพทย์คนเดียวกัน ในโรงพยาบาลเดียวกันก็ได้

8. ไม่พูดอะไรเลย

อ่านมาตั้งยาว หลายคนเริ่มรู้สึกว่าพูดแบบนั้นก็ไม่ได้ ทำแบบนี้ก็ไม่ดี ไม่ทำอะไรเลยก็แล้วกัน แต่เอาเข้าจริงแล้วผู้ป่วยโรคมะเร็งทุกคนต้องการกำลังใจด้วยกันทั้งนั้น และมันเป็นสิ่งที่ตัวเองสร้างขึ้นมาเองได้แค่เพียงจำนวนหนึ่ง อีกจำนวนหนึ่งต้องได้รับการสนับสนุนจากคนรอบข้างด้วย เพราะไม่ว่าจะสตรองแค่ไหน ผู้ป่วยที่ต้องทนทุกข์ทรมานกับการรักษาภายใต้ความรู้สึกที่ทราบดีว่ามีความหวังที่จะมีชีวิตรอดปลอดภัยเพียงน้อยนิด ก็ต้องมีบางช่วงบางเวลาที่รู้สึกเหนื่อย รู้สึกท้อไปบ้าง

ดังนั้นแทนที่เราจะเงียบๆ ไม่พูดอะไรเลย เราก็อาจจะเลือกให้กำลังใจเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้เขารู้ว่าเราอยู่ข้างเขาเสมอ รับฟังความทุกข์ใจที่เขามี และตอบกลับไปว่า ‘สู้ๆ ทุกอย่างจะต้องดีขึ้น’ และแทนที่จะบอกเขาว่า ‘มีอะไรให้ช่วยก็บอกได้’ เพราะส่วนใหญ่ผู้ป่วยก็เกรงใจที่จะขอให้คุณช่วยตรงๆ ลองเปลี่ยนเป็นการยื่นมือช่วยเป็นเรื่องๆ ไป เช่น ‘อยากกินอะไรไหมเดี๋ยวซื้อมาฝาก’ ‘ไปเดินเล่นที่ตลาดด้วยกันไหม เดี๋ยวพาไป’ ‘ที่บ้านมีใครดูแลอยู่ไหม เดี๋ยวเข้าไปทำความสะอาด/ซักผ้าให้’ เป็นต้น

 

คำแนะนำในการพูดให้กำลังใจเหล่านี้ ไม่ได้ใช้กับเพียงผู้ป่วยโรคร้ายอย่างมะเร็งเท่านั้น สามารถใช้พูดกับผู้ป่วยโรคอื่นๆ รวมไปถึงผู้ที่กำลังประสบกับความทุกข์ และการสูญเสียในรูปแบบอื่นๆ เช่น คนที่มีปัญหาชีวิต คนที่เพิ่งเลิกกับแฟน เพิ่งสูญเสียญาติ แท้งบุตร ตกงาน สอบตก ฯลฯ ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นไม่ได้หายไปได้ง่ายๆ ภายในวันสองวัน แต่มันสามารถค่อยๆ จางลง จนถึงขั้นที่ตัวของพวกเขาเองเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันได้อย่างไม่ทรมานอีกต่อไป ดังนั้นให้เวลาค่อยๆ เยียวยาให้พวกเขาเข้มแข็งขึ้นได้เองจะดีกว่า เราแค่เป็นกำลังใจอยู่ข้างๆ เขาในยามที่เขาต้องการเท่านั้นก็พอ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook