ปรับไลฟ์สไตล์ลดเสี่ยง "มะเร็ง"

ปรับไลฟ์สไตล์ลดเสี่ยง "มะเร็ง"

ปรับไลฟ์สไตล์ลดเสี่ยง "มะเร็ง"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งนับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งได้ เพราะฉะนั้นเนื่องในวันมะเร็งโลกหรือ World Cancer Day 2018 ที่ตรงกับวันที่ 4 กุมภาพันธ์ของทุกปี เราจึงอยากชวนให้ทุกคนมาปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ให้ดีขึ้นกว่าเดิม เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งยอดนิยมอย่างมะเร็งเต้านม มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ และมะเร็งต่อมลูกหมาก พร้อมทั้งมีสุขภาพกายใจดีไปอีกนาน

 

ผู้หญิงใส่ใจเช็กมะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านมเกิดจากการแบ่งตัวที่ผิดปกติของเซลล์ที่อยู่ภายในต่อมน้ำนมหรือท่อน้ำนม แม้จะไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ การกินยาคุมกำเนิดหรือกินยาฮอร์โมนทดแทนหลังวัยหมดประจำเดือน, เริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกเมื่ออายุน้อย, อายุมากกว่า 35 ปี, ไม่มีบุตรหรือมีบุตรคนแรกเมื่ออายุมากกว่า 30 ปี, ได้รับการฉายแสงที่ทรวงอก, หมดประจำเดือนเมื่ออายุมาก, มีญาติเป็นมะเร็งเต้านมตั้งแต่วัยก่อนหมดประจำเดือน, ภาวะอ้วน และสูบบุหรี่ การปฏิบัติตัวที่ป้องกันมะเร็งเต้านมได้ดีที่สุดคือ

- ตรวจเต้านมด้วยตนเอง เดือนละ 1 ครั้ง หลังหมดประจำเดือน ประมาณ 1 สัปดาห์

- ตรวจเต้านมโดยแพทย์ปีละครั้ง

- ตรวจเต้านมโดยแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์ปีละ 1 ครั้ง เมื่ออายุมากกว่า 40 ปี

 

ผู้ชายระวังมะเร็งต่อมลูกหมาก

มะเร็งต่อมลูกหมากแม้ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ผู้ที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นคือ ผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป และคนในครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก เพราะฉะนั้นการป้องกันที่คุณผู้ชายสามารถทำได้ คือ

- ทานผักผลไม้และธัญพืชที่มีสารอาหารช่วยป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมาก ได้แก่ สารไลโคปีน เช่น มะเขือเทศ สารซัลโฟราเฟน เช่น บรอกโคลี สารฟลาโวนอยด์และสารไอโซฟลาโวน เช่น ถั่วเหลือง

- ตรวจวัดระดับ PSA (Prostate Specific Antigen) หากค่าสูงเกินมาตรฐานอาจเสี่ยงเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากได้ และอาจต้องตรวจอย่างอื่นเพิ่มเติมตามความเห็นของแพทย์

 

เลิกสูบไกลมะเร็งปอด

เพราะสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งปอดมากกว่า 80% เกิดจากการสูบบุหรี่ ผู้ที่สูบบุหรี่จัดหรือสูบบุหรี่เฉลี่ยวันละหนึ่งซองต่อเนื่องเป็นเวลา 30 ปี หรือวันละสองซองเป็นเวลา 15 ปี หรือเลิกสูบแล้วแต่ยังไม่เกิน 15 ปี จำเป็นต้องได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดด้วยการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอดแบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ หรือที่เรียกกันว่า การทำซีทีสแกนทรวงอกอย่างน้อยปีละครั้ง  อีกทั้งควรปรับไลฟ์สไตล์ ได้แก่

ออกกำลังกาย

- ลด ละ เลิกสูบบุหรี่

 

งดดื่มห่างมะเร็งตับ

มะเร็งตับเกิดจากเซลล์ในตับกลายพันธุ์เป็นเซลล์มะเร็งที่ร่างกายควบคุมไม่ได้ และอาจกระจายไปยังอวัยวะต่าง ๆ สาเหตุมักมาจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเวลานาน การบริโภคสารก่อมะเร็ง การติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับ ดังนั้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่สามารถช่วยลดโอกาสการเกิดมะเร็งตับ ได้แก่

เลิกดื่มสุรา ถ้ายังทนไม่ไหวให้ดื่มได้ไม่เกินวันละ 2 แก้ว และไม่เกิน 14 แก้วต่อสัปดาห์

- ทานอาหารปรุงสุก

- หากรู้ว่าตนเองมีภาวะเสี่ยงให้ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีและซี อัลตราซาวนด์ตับ และเจาะเลือด Alpha-Fetoprotein (AFP) เพื่อดูสารบ่งชี้มะเร็งตับ

 

เลือกทานห่างมะเร็งลำไส้

มะเร็งลำไส้พบมากเป็นอันดับต้น ๆ ของคนไทย อาจเพราะคนนิยมทานอาหารแปรรูปเป็นประจำ ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งได้ เพราะฉะนั้นควรดูแลตนเองให้ห่างไกลมะเร็งลำไส้ด้วยการ

หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ผ่านการแปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม ของหมักดอง และไม่ควรรับประทานเกิน 500 กรัมต่อสัปดาห์

- เมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป ทุก ๆ 5 - 10 ปี ควรได้รับการตรวจระบบทางเดินอาหารส่วนต้นและส่วนล่าง โดยใช้การส่องกล้อง (Colonoscopy)

 

เพราะการป้องกันโรคมะเร็งที่ดีที่สุดคือการลดทุกความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรค เนื่องในวัน World Cancer Day 2018 อยากให้ทุกคนตระหนักเรื่องการดูแลสุขภาพ เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ดูแลจิตใจให้แข็งแรง ที่สำคัญหากรู้ว่าตนเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือช่วงอายุที่ควรเข้ารับการตรวจอย่านิ่งนอนใจ ควรตรวจเช็กโดยละเอียด เพราะหากเกิดความผิดปกติจะได้ทำการรักษาได้ทันทีและมีโอกาสรักษาหายได้ในเร็ววัน ทำให้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook