“โรคเรื้อน” ใครๆ ก็รังเกียจ แต่ “พ่อหลวง” ทรงห่วงใย

“โรคเรื้อน” ใครๆ ก็รังเกียจ แต่ “พ่อหลวง” ทรงห่วงใย

“โรคเรื้อน” ใครๆ ก็รังเกียจ แต่ “พ่อหลวง” ทรงห่วงใย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ถ้าให้พูดถึงเรื่องราวดีๆ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำริจัดตั้งขึ้น เพื่อให้ราษฎรชาวไทยได้อยู่ดีกินดี ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ และใช้ชีวิตได้อย่างสุขสงบ และปลอดภัย ให้เล่ากันทั้งปีก็คงไม่จบ

ครั้งนี้ก็อีกเช่นกัน ที่ทาง Sanook! Health ขออนุญาตนำบทความดีๆ จากเฟซบุ๊คเพจ Spartan Doctor มาให้ชาวไทยได้อ่านกันค่ะ พวกเราจะได้รับรู้ และเข้าใจถึงความหวงใยที่องค์พ่อหลวงของเราทรงมีให้กับพวกเราชาวไทยมากมายขนาดไหน แม้กระทั่งโรคเรื้อน ที่ใครๆ ก็รังเกียจ แต่พระเจ้าแผ่นดินของเรา ทรงห่วงใยผู้ป่วยกลุ่มนี้มากจริงๆ

 

____________________

มารู้จักผู้ป่วยโรคเรื้อน_ผู้ป่วยที่สังคมรังเกียจแต่พระเจ้าแผ่นดินทรงห่วงใย

(หมายเหตุ : บทความนี้ผมสรุปรวบรวมมาจากข้อมูล เอกสารและบทความของผู้เกี่ยวข้องกับโรคเรื้อนในไทย และเสริมความรู้ทางการแพทย์เกี่ยวกับโรคเรื้อนของผมเข้าไป )

 

โรคเรื้อน แค่ฟังชื่อบางคนก็เริ่มนึกภาพที่ไม่น่าดูขึ้นมาในใจแล้ว แต่ถ้าเราได้รับทราบข้อมูลของโรคนี้ในเชิงการแพทย์และได้ทราบสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงทำเพื่อคนไข้กลุ่มนี้เราจะเข้าใจในมุมมองที่กว้างขึ้น

โรคเรื้อน ( Leprosy ) เป็นโรคติดเชื้อเรื้อรังแบบติดต่อ ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อกลุ่มมัยโคแบคทีเรีย (Mycobacterium leprae ) ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับเชื้อวัณโรค แต่ต่างสายพันธุ์กัน

 thumb_leprosy

ผู้ป่วยโรคเรื้อนจะเกิดความผิดปกติที่สองอวัยวะหลักคือ

1.ระบบผิวหนัง

2.เส้นประสาทส่วนปลาย

โดยอาการทางผิวหนังจะมีตั้งแต่รอยด่างขาวเรียบๆไปจนถึงบวมแดงเป็นปื้นนูนหนา ส่วนอาการทางระบบประสาทจะเป็นอาการชาหรืออ่อนแรงของอวัยวะที่เลี้ยงโดยเส้นประสาทนั้นๆ

ความรุนแรงของอาการขึ้นกับปริมาณเชื้อในร่างกาย บางคนเป็นแค่รอยผื่นเล็กๆปริมาณไม่มาก บางคนเป็นทั้งตัว บางคนเป็นมากจนเกิดรูปร่างใบหน้าเปลี่ยน บางคนเส้นประสาทอักเสบมากเกิดภาวะพิการกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือนิ้วด้วนนิ้วกุดจากอาการชาปลายมือปลายเท้าแล้วใช้งานโดยไม่ได้ระวัง

 

 

การเข้ารับการรักษาแต่เนิ่นๆด้วยยาปฏิชีวนะจะช่วยลดการเกิดภาวะทุพพลภาพจากโรคได้เป็นอย่างมาก

การแพร่เชื้อทางหลักจะเป็นทางฝอยละอองทางเดินหายใจ คือการพูด ไอ จาม ออกมาโดนผู้อื่น ส่วนการสัมผัสผิวหนังบริเวณที่เป็นแผลอาจเกิดได้แต่น้อยกว่ามาก

ข้อมูลทางการแพทย์ที่ควรรู้คือ เมื่อผู้ป่วยเริ่มรับการรักษาแล้วเกิน 1 สัปดาห์ ผู้ป่วยแทบจะไม่แพร่เชื้ออีกต่อไป เพราะปริมาณเชื้อจะลงลงอย่างรวดเร็วจนเหลือน้อยมาก ซึ่งถ้าเรามีองค์ความรู้นี้เราจะไม่ตั้งข้อรังเกียจต่อผู้ป่วยที่รับการรักษาอยู่

 

โรคเรื้อนอยู่คู่สังคมไทยมาช้านาน แต่ทุกวันนี้เรากลับไม่ค่อยเห็นผู้ป่วยโรคเรื้อน อาจแค่เคยได้ยินว่ามีโรคนี้ จนแม้แต่หมอรุ่นใหม่เองก็ยังแทบไม่เจอคนไข้โรคนี้ให้รักษาเท่าไหร่แล้ว นั่นเป็นเพราะเหตุใด?

ย้อนกลับไปสมัยปี พ.ศ.2498 ในสมัยนั้นการแพทย์ไทยยังไม่ก้าวหน้าและประชาชนยังเข้าไม่ถึงระบบการสาธารณสุขได้ดีพอ มีผู้ป่วยโรคเรื้อนมากมายที่ไม่ได้รับการรักษาที่ดีจนกระทั่งจากเดิมป่วยแค่ระยะแรกๆกลายเป็นเข้าสู่ระยะท้ายๆ มีผื่นผิวหนังเต็มตัว หูหนาตาเร่อ ปากจมูกแหว่ง นิ้วมือนิ้วเท้ากุด ทุพพลภาพ ซึ่งเป็นที่รังเกียจและโดนกีดกันจากสังคม และยากต่อการควบคุมแยกโรคเพื่อรักษาได้อย่างเป็นระบบ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงตระหนักถึงปัญหาผู้ป่วยโรคเรื้อนในไทย ทรงรับงานด้านการรักษาป้องกันโรคเรื้อนให้เป็นโครงการในพระราชดำริให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งรัดงานปราบโรคเรื้อน เกิดโครงการควบคุมโรคเรื้อนแบบใหม่ที่มุ่งค้นหาและรักษาผู้ป่วยตามบ้านที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ และดำเนินการให้การรักษาที่บ้านเพื่อลดผลกระทบทางครอบครัวของผู้ป่วย

และทรงพระราชทานพระราชทรัพย์จากทุนอานันทมหิดลเพื่อเป็นทุนในการก่อสร้างอาคารวิจัยและฝึกอบรมวิชาการสร้างเป็น สถาบันราชประชาสมาสัย ขึ้นที่โรงพยาบาลพระประแดงเดิม เมื่อปี พ.ศ.2503

 

 

นอกจากนี้ยังทรงให้การสงเคราะห์ดูแลลูกหลานของผู้ป่วยโรคเรื้อนด้วยการให้จัดตั้งสถานเลี้ยงดูเด็ก และโรงเรียนราชประชาสมาสัย เพื่อให้เติบโตและอยู่ร่วมในสังคมได้

โดยชื่อ ราชประชาสมาสัย นี้ เป็นนามพระราชทาน มีความหมายคือ พระมหากษัตริย์ และประชาชนย่อมอาศัยซึ่งกันและกัน”

นับจากจุดเริ่มต้นนั้นเองส่งผลให้กระทรวงสาธารณสุขและภาคประชาชนสนองพระราชดำรินำไปสู่การค้นหาและดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อนอย่างต่อเนื่องเป็นระบบ มีการวิจัยโรค มีการพัฒนาการให้ยารักษาที่มีประสิทธิภาพ จนในปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อนลดลงจากในอดีตคือผู้ป่วย 50 คนต่อประชากร 10,000 คนในปี พ.ศ. 2496 มาเป็น 0.07 คน ต่อ 10,000 คนในปี พ.ศ. 2558

นอกจากนี้ไทยยังเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สามารถควบคุมโรคเรื้อนบรรลุเป้าหมายขององค์การอนามัยโลกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537

ผู้ป่วยโรคเรื้อนเป็นหนึ่งในตัวอย่างปัญหาสาธารณสุขหลายๆอย่างของไทยในอดีตที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงเล็งเห็นความสำคัญของปัญหาและทรงมีความห่วงใยต่อราษฎร จนเกิดโครงการตามพระราชดำริที่เป็นรูปธรรมและส่งผลมาถึงปัจจุบันทำให้พวกเราอยู่กันอย่างสงบสุขได้โดยไม่ต้องเผชิญกับวิกฤติโรคร้ายเหมือนครั้งในอดีตที่ผ่านมา

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook