โรคอุจจาระร่วง

โรคอุจจาระร่วง

โรคอุจจาระร่วง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โรคอุจจาระร่วง

โรคอุจจาระร่วง หมายถึง การถ่ายอุจจาระเหลวกว่าปกติตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ 1 ครั้ง ถ่ายอุจจาระมีมูกหรือเลือด 1 ครั้ง หรือมากกว่านั้นภายในเวลา 12 ชั่วโมง การถ่ายอุจจาระเหลวหลายๆครั้งทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่ไปจำนวนมาก ทำให้เกิดอาการขาดน้ำขึ้นดังนี้ ในเด็กทารกบริเวณกระหม่อมจะบุ๋มลงไป ส่วนในผู้ใหญ่และเด็กโตอาการที่พบได้ คือ ความตึงของผิวหนังลดลง กระบอกตาลึก รายที่เป็นรุนแรงปลายนิ้วจะซีด เป็นร่องเย็นขึ้น กระสับกระส่ายหรือไม่ค่อยรู้สึกตัว ชีพจรเบาเร็ว ไม่ถ่ายปัสสาวะนานเกินกว่า 8 ชั่วโมง (อาการรุนแรง) ถ้าไม่ได้รับการรักษาโดยการทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่เหมาะสมอาจถึงแก่เสียชีวิตได้

การติดต่อ อาการอุจจาระร่วงเกิดจากการจับต้อง และการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อโรคเข้าไป โดยมีลักษณะการแพร่เชื้อโรคได้หลายแบบ

1. ผู้ป่วยถ่ายอุจจาระไว้บนพื้นดิน เมื่อฝนตกจะชะเชื้อโรคในอุจจาระให้กระจายและไหลลงสู่บ่อ สระ แม่น้ำ ลำคลอง ถ้าดื่มน้ำนี้เข้าไปก็อาจติดโรคได้
2. ถ้าผู้ป่วยเป็นผู้ปรุงอาหารเชื้อโรคที่ทำให้เกิดอุจจาระร่วงอาจติดมากับมือผู้ป่วยและอาจลงไปอยู่ในอาหารนั้นๆได้
3. แมลงวันไปเกาะอุจจาระผู้ป่วยแล้วมาตอมอาหารและปล่อยเชื้อโรคไว้ในอาหารที่มิได้ปกปิดให้มิดชิด
4. การรับประทานผักดิบและผลไม้สดที่ไม่สะอาดจะทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงได้ง่าย
5. การใช้ภาชนะที่ไม่สะอาดอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดอุจจาระร่วงได้

อหิวาตกโรคเป็นโรคอุจจาระร่างชนิดหนึ่งซึ่งมีการระบาดได้รวดเร็วมาก เกิดขึ้นจากการรับประทานอาหารที่มีเชื้ออหิวาห์เข้าไป เชื้อโรคนี้จะไปเจริญ เติบโตในลำไส้ ทำให้เกิดอาการที่มีลักษณะเฉพาะ คือ ท้องเดินอย่างมาก อุจจาระเป็นสีน้ำซาวข้าว มีมูกมาก มีกลิ่นเหม็นคาว อาเจียนโดยไม่มีอาการคลื่นไส้ อาการดังกล่าวจะทำให้ผู้ป่วยเสียน้ำและเกลือแร่จากร่างกายอย่างรวดเร็วและรุนแรงกว่าอุจจาระร่วงชนิดอื่นๆ จะทำให้ผู้ที่เป็นถึงแก่ความตายได้ เนื่องจากคนเป็นแหล่งของเชื้ออหิวาห์ที่สำคัญ เชื้อโรจะออกมากับอุจจาระและอาเจียนของผู้ป่วย แมลงวันจะนำเชื้อจากอุจจาระและอาเจียนของผู้ป่วยมาสู่อาหาร ภาชนะใส่อาหารและน้ำดื่ม หรือบางครั้งถ้าผู้ป่วยถ่ายอุจจาระลงแม่น้ำลำคลอง เชื้อจะมาตามแม่น้ำลำคลองได้หรืออาจติดมากับมือของผู้ป่วยโดยตรงก็ได้

ทำอย่างไรจึงไม่เป็นโรคอุจจาระร่วง

1 ดื่มน้ำที่สะอาด เช่น น้ำประปา น้ำฝนที่เก็บในภาชนะที่สะอาด น้ำที่ต้มเดือดแล้ว
2 ระวังอย่าให้แมลงวันตอมอาหาร ควรใส่ตู้หรือมีฝาชีครอบให้มิดชิด และควรจะรับประทานอาหารที่สุกใหม่ๆและร้อน อาหารที่ซื้อจากนอกบ้านควรอุ่นให้ร้อนก่อนรับประทานเพื่อฆ่าเชื้อโรค
3 ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงหรือรับประทานอาหารก่อนออกจากห้องน้ำ
4 ถ้ารับประทานผักดิบและผลไม้สด ควรล้างหลายๆครั้งให้สะอาดและแช่ในน้ำปูนคลอรีนประมาณครึ่งชั่วโมง
5 ถ่ายอุจจาระลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ อย่าถ่ายอุจจาระหรือซักเสื้อผ้าของผู้ป่วยลงในแม่น้ำลำคลองหรือแหล่งน้ำสาธารณะ
6 รักษาบริเวณบ้านให้สะอาด กำจักขยะมูลฝอย เศษอาหารและมูลสัตว์ต่างๆโดยฝังหรือเผาเสีย เพื่อป้องกันมิให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวัน
7 ควรเลี้ยงทารกด้วยน้ำนมมารดาเพราะจะช่วยป้องกันมิให้ทารกติดเชื้ออุจจาระร่วงได้

เมื่อมีผู้ป่วยเกิดขึ้นควรปฏิบัติดังนี้

1. งดอาหารทุกชนิดและใช้น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ เกลือแกงครึ่งช้อนชาผสมน้ำต้มสุก 750 มิลลิลิตร คือ ประมาณขวดน้ำหวานหรือขวดน้ำปลากลมใหญ่ หรืออาจใช้ผงโออาร์เอส (ผงน้ำตาลเกลือแร่สำเร็จรูปมีจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป ศูนย์บริการสาธารณสุข โรงพยาบาล องค์การเภสัชกรรม) 1 ห่อ ผสมน้ำ 1 ขวดเช่นเดียวกัน (ผสมครั้งหนึ่งการใช้ไม่ควรเกิน 24 ชั่วโมง) ดื่มบ่อยๆ เพื่อป้องกันและรักษาอาการขาดน้ำ
2. ถ้าอาการรุนแรงเพิ่มมากขึ้น หรือถ่ายเป็นมูกเลือดให้รีบพาผู้ป่วยไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาต่อ
3. เสื้อผ้าของผู้ป่วยที่เปื้อนอุจจาระควรต้มหรือทำลายเชื้อโรคด้วยยาฆ่าเชื้อเสียก่อนแล้วจึงนำไปซัก และอย่าซักลงไปในแม่น้ำลำคลองเป็นอันขาดเพื่อป้องกันมิให้โรคแพร่ไปสู่ผู้อื่นๆ
4. ถ้ามีอุจจาระร่วงเกิดขึ้นหลายรายให้รีบแจ้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำศูนย์ฯ สาขาหรือที่ศูนย์บริการสาธารณสุขที่อยู่ใกล้เคียงโดยด่วน

เอกสารอ้างอิง
คณะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรคสาขาดโรคท้องร่วงและติดเชื้อ.(2531).กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน.

สุรเกียรติ อาชานานุภาพ.(2544).ตำราการตรวจโรคทั่วไป.(พิมพ์ครั้งที่ 3,ฉบับปรับปรุง).กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน.

สราญจิตต์ กาญจนาภา.(2534).โรคอุจจาระร่วง.งานการพยาบาลป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ ภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี.แผ่นพับ


งานการพยาบาลป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ
ภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
ผู้เรียบเรียง จริยา วิรุฬราช


จัดทำโดยหน่วยแนะแนวและปรึกษาปัญหาสุขภาพ โทร. 0-2201-2520-1

ขอบคุณข้อมูล จาก http://ramaclinic.ra.mahidol.ac.th/main/?q=node/80

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook