ทำไม นอน "ละเมอ" ไม่ควรรีบปลุกให้ตื่นทันที

ทำไม นอน "ละเมอ" ไม่ควรรีบปลุกให้ตื่นทันที

ทำไม นอน "ละเมอ" ไม่ควรรีบปลุกให้ตื่นทันที
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นอนละเมอ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกๆ คน แต่คุณอาจไม่เคยทราบว่า อะไรคือเหตุผลที่คุณอาจคาดไม่ถึง ว่าทำไมคนที่นอนละเมอ หรือละเมอเดิน ไม่ควรเข้าไปเขย่าตัวปลุกให้ตื่นในทันที

วงจรการนอนหลับ

อาจารย์ดาว รศ.พญ.นฤชา จิรกาลวสาน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญการรักษาด้านการนอนหลับ แห่งศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Single Being PODCAST ของหมอผิง พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล หรือ หมอผิง ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวพรรณและเวชศาสตร์ชะลอวัย โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท เอาไว้ว่า วงจรการนอนหลับของคนเราแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่

  1. ช่วง N1 การหลับตื้นๆ ใช้ระยะเวลาประมาณ 5% ของทั้งวงจรการนอนหลับ
  2. ช่วง N2 การหลับที่ลึกขึ้น ใช้ระยะเวลาประมาณ 50-60% ของทั้งวงจรการนอนหลับ
  3. ช่วง N3 การหลับลึก ใช้ระยะเวลาประมาณ 20-25% ของทั้งวงจรการนอนหลับ เป็นช่วงที่โกรทฮอร์โมนหลั่ง ช่วยในเรื่องของการเจริญเติบโตของเด็ก
  4. ช่วง N4 หรือ REM Sleep คือ ระยะหลับที่มีการกระตุกของตา หรืออาจเรียกว่าเป็นระยะ “หลับฝัน”  ใช้ระยะเวลาประมาณ 20-25% ของทั้งวงจรการนอนหลับ แต่ละช่วงระยะเวลาของการนอนหลับช่วง REM Sleep ใช้เวลาประมาณ 90-120 นาที และจะวนซ้ำเรื่อยๆ ประมาณ 5-7 รอบ

ทำไมเราถึง “ละเมอ”

จริงๆ แล้วอาการละเมอสามารถพบได้มากในวัยเด็ก หรือวัยผู้ใหญ่ขั้นต้น หรือวัยรุ่น เพราะเป็นช่วงวัยที่ใช้เวลาในส่วนการนอนช่วงหลับลึก หรือ N3 ค่อนข้างนาน การละเมอเป็นการตื่นตัวที่ไม่สมบูรณ์ หมายถึงช่วงที่เราหลับลึกแล้วเรามีการตื่นขึ้นมา แต่เรายังไม่ตื่นลืมตาขึ้นมาเต็มที่ คล้ายอาการกึ่งตื่นกึ่งหลับ ทำให้แสดงพฤติกรรมต่างๆ ออกมาได้

อาการละเมอที่พบได้ มีตั้งแต่การละเมอพูด ละเมอเดิน ละเมอกิน ฯลฯ เป็นต้น

เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ หรือเมื่อเราโตขึ้น ในช่วงระยะเวลาหลับลึก หรือช่วง N3 จะค่อยๆ สั้นลง ทำให้อาการละเมอค่อยๆ หายไปได้เองด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การละเมอไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงการนอนหลับลึก หรือ N3 เพียงอย่างเดียว แต่อาจเกิดขึ้นในช่วงของการนอนหลับฝัน หรือ REM Sleep ได้เช่นกัน จะเป็นการละเมอในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นรูปแบบที่ผิดปกติ อาจเกี่ยวพันกันกับโรคทางระบบประสาท เช่น อาการละเมอในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ต้องได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง

ทำไม นอน "ละเมอ" ไม่ควรรีบปลุกให้ตื่นทันที

สิ่งที่ไม่ควรทำเด็ดขาด คือการเข้าไปปลุก เขย่าตัวผู้ที่ละเมออยู่ให้ตื่นทันที เพราะคนที่เข้าไปปลุกอาจถูกทำร้ายได้ และคนที่ละเมอก็จำไม่ได้ว่าทำร้ายคน หรือทำอะไรลงไปบ้าง ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือ ค่อยๆ เข้าไปพยุง หรือจูงกลับมานอนที่เตียงโดยไม่ต้องพยายามปลุกให้เขาตื่นจะดีที่สุด

ละเมอแบบไหน อันตราย

อาการละเมอโดยทั่วไปจะหายเองได้เมื่อโต และอาจไม่มีอาการรุนแรงอะไร แต่ในบางรายที่เป็นการละเมอเดิน แล้วเสี่ยงอันตรายเดินพลัดตกจากที่สูงจนเสียชีวิต ก็อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน โดยสาเหตุอาจเกิดจากการพักผ่อนน้อยในกลุ่มเด็กที่เดินทางไปต่างจังหวัดไกลๆ หรือแม้กระทั่งในข่าวต่างประเทศก็เคยเกิดเหตุการณ์ที่มีอาการละเมอจนขับรถไปฆาตกรรมคนอื่น แล้วตกใจเมื่อเห็นตัวเองมือเปื้อนเลือด จนสุดท้ายเข้ารับการตรวจร่างกายแล้วพบว่ามีอาการผิดปกติในการนอนและละเมอจนทำอะไรลงไปโดยไม่รู้ตัวได้จริง รวมไปถึงในบางรายที่มีอาการละเมอกิน กินอาหารที่กินได้ หรือกินอะไรที่ไม่ใช่อาหาร (ของที่กินไม่ได้) หรือแม้กระทั่งละเมอทำอาหารกินเอง ซึ่งค่อนข้างอันตราย 

อย่างไรก็ตาม อาการละเมอเดิน ละเมอกิน ยังไม่ถึงขั้นเรียกว่าเป็นการละเมอที่อันตราย เพราะเป็นอาการละเมอที่เกิดขึ้นในช่วงการนอนหลับลึก หรือช่วง N3 อาศัยความเข้าใจและความช่วยเหลือจากคนในครอบครัวช่วยดูแลเรื่องความปลอดภัยของผู้ที่ละเมอได้ เมื่อเขาโตขึ้น อาการละเมอต่างๆ จะหายไปได้เอง แต่สำหรับอาการละเมอที่เรียกว่า “ผิดปกติ” ควรพบแพทย์โดยด่วนนั้น คืออาการละเมอที่เกิดขึ้นในช่วงการนอนแบบหลับฝัน หรือ REM Sleep โดยเป็นอาการละเมอที่ผู้ที่ละเมอจำเหตุการณ์ตอนที่ละเมอได้ แต่กึ่งๆ เป็นความทรงจำเกี่ยวกับการฝันร้าย มีการกรีดร้อง ตะโกน เขวี้ยงแขนขา ชกต่อย มักเกิดขึ้นในช่วงครึ่งคืนหลัง และไม่มีประวัติละเมอในวัยเด็ก มักเกิดขึ้นกับวัยชราราว 50 ปี และพบได้บ่อยในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยอาจเป็นอาการละเมอที่สัมพันธ์กับโรคทางระบบประสาท

จึงนับว่าอาการละเมออาจไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ในบางราย และหากใครที่มีอาการละเมอบ่อยๆ ก็ไม่ควรเพิกเฉย ควรเข้ารับการตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลจะดีกว่า

วิธีป้องกันอาการละเมอ

  1. นอนพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะส่วนใหญ่อาการละเมอมักเกิดกับคนที่มีคุณภาพการนอนที่ไม่ค่อยดี นอนหลับไม่เพียงพอ นอนหลับไม่สนิท ดื่มแอลกอฮอล์ก่อนนอน เข้านอนไม่เป็นเวลา เป็นต้น 
  2. สำหรับคนที่ละเมอเป็นเวลา คือเข้านอนตรงเวลา ละเมอตรงเวลา สามารถช่วยไม่ให้เกิดอาการละเมอได้โดยการปลุกเขาให้ตื่นขึ้นมาสักครู่ก่อนที่เขาจะเริ่มมีอาการละเมอ ก็ช่วยไม่ให้เขามีอาการละเมอในเวลาเดิมได้
  3. ใครที่ละเมอบ่อยๆ ควรนอนล็อกประตู หลีกเลี่ยงของมีคมในห้องนอน หรือหากมีอาการมากๆ อาจต้องนอนที่ฟูกบนพื้น แทนการนอนบนเตียงสูงๆ
  4. หากมีอาการหนัก แพทย์อาจพิจารณาให้ยานอนหลับบางชนิด เพื่อลดการตื่นตัวขณะนอนหลับ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook