6 วิธีรักษา “ความดันโลหิตสูง” ด้วยตัวเอง อาจไม่ต้องกินยา

6 วิธีรักษา “ความดันโลหิตสูง” ด้วยตัวเอง อาจไม่ต้องกินยา

6 วิธีรักษา “ความดันโลหิตสูง” ด้วยตัวเอง อาจไม่ต้องกินยา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ความดันสูง ลดได้ หากเราดูแลตัวเองตามเคล็ดลับไม่กี่ข้อนี้

อาจารย์ ดร.กภ.ธวัชชัย ลักเซ้ง สำนักวิชาสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ระบุว่า จากข้อมูลของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นั้นได้แบ่งกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (non-communicable diseases, NCDs) ออกเป็น 6 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคเบาหวาน (diabetes mellitus) โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ (cardiovascular & cerebrovascular diseases ) โรคถุงลมโป่งพอง (emphysema) โรคมะเร็ง (cancer) โรคความดันโลหิตสูง (hypertension) และโรคอ้วนลงพุง (obesity)

โรคความดันโลหิตสูงนับเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่สำคัญทางสาธารณสุขที่ควรได้รับการเอาใจใส่ดูแลเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากปัญหาหลักของการควบคุมโรคความดันโลหิตสูงในประเทศไทย คือ การที่ผู้ป่วยไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรค ทำให้ไม่สามารถได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ จนส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆตามมา เช่น โรคเส้นเลือดในสมองแตก เป็นต้น

ความดันโลหิตคืออะไร

ความดันโลหิต (blood pressure) เกิดจากแรงที่หัวใจบีบตัวจนเกิดแรงดันที่ผลักต้านภายในหลอดเลือด ความดันโลหิตมีจำนวน 2 ค่า เสมอ คือ

  • ความดันซิสโทลิก (systolic blood pressure, SBP) หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า “ความดันตัวบน” เป็นค่าความดันสูงสุดขณะที่หัวใจบีบตัวเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
  • ความดันไดแอสโทลิก (diastolic blood pressure, DBP) หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า “ความดันตัวล่าง” เป็นค่าความดันต่ำสุดขณะหัวใจคลายตัว

สาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง

ภาวะความดันโลหิตสูงมากกว่าร้อยละ 90 จะไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่พบว่ามีปัจจัยร่วมบางอย่างที่อาจส่งเสริมให้เกิดความดันโลหิตสูง เช่น ปัจจัยทางด้านพันธุกรรมและพฤติกรรม เป็นต้น และผู้ป่วยความดันโลหิตสูงประมาณร้อยละ 10 จะเป็นความดันโลหิตสูงชนิดที่ทราบสาเหตุ เช่น ความดันโลหิตสูงจากการใช้ยาคุมกำเนิดบางชนิด หรือการเกิดเนื้องอกของต่อมหมวกไต เป็นต้น

การจำแนกความรุนแรงของโรคความดันโลหิตสูง

ตามแนวทางการรักษาโรคความดันโลหิตสูงในเวชปฏิบัติทั่วไป โดยสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2562 ได้ให้ข้อมูลการกำหนดระดับความดันโลหิตที่วัดในคลินิก โรงพยาบาล หรือสถานบริการสาธารณสุข ดังแสดงในตารางที่ 1

ตารางที่ 1 แสดงการจำแนกโรคความดันโลหิตสูงตามความรุนแรงในผู้ใหญ่อายุ 18 ปี ขึ้นไป (แนวทางการรักษาโรคความดันโลหิตสูงในเวชปฏิบัติทั่วไป โดยสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2562)

ตารางที่ 1 แสดงการจำแนกโรคความดันโลหิตสูงตามความรุนแรงในผู้ใหญ่อายุ 18 ปี ขึ้นไป (แนวทางการรักษาโรคความดันโลหิตสูงในเวชปฏิบัติทั่วไป โดยสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2562)

จากตาราง จะสังเกตได้ว่า

  1. ความดันโลหิตปกติ จะต้องมีความดันตัวบน น้อยกว่า 130 มม.ปรอท และ/หรือความดันตัวล่างน้อยกว่า 85 มม.ปรอท 
  2. ความดันโลหิตสูง จะต้องมีความดันตัวบนตั้งแต่ 140 มม.ปรอทขึ้นไป และ/หรือความดันตัวล่างมากกว่า 90 มม.ปรอทขึ้นไป

การวัดความดันโลหิตด้วยเครื่องชนิดพกพาที่บ้าน (self หรือ home blood pressure monitoring, HBPM)

แนะนำให้ตัวผู้ป่วยเอง (หรือญาติผู้ดูแล) วัดและจดบันทึกค่าความดันโลหิตเอาไว้เพื่อนำมาให้แพทย์พิจารณาประกอบการรักษา โดยแนะนำให้วัดความดันโลหิตที่บ้านวันละ 2 ช่วงเวลา คือ ในช่วงเช้า และในช่วงเย็น โดยวัดความดันโลหิตจำนวน 2 ครั้งในแต่ละช่วงเวลา (วัดช่วงเช้า 2 ครั้ง และช่วงเย็นอีก 2 ครั้ง รวมวัดวันละ 4 ครั้ง) เป็นเวลาติดต่อกัน 3-7 วัน หากพบว่าความดันโลหิตอยู่ในช่วงที่สูง (ทั้งที่ไม่ได้ออกแรงเยอะ) ให้ปรึกษาแพทย์ทันทีโดยไม่ต้องรอให้ครบ 7 วัน 

ตารางที่ 2 สรุปคำแนะนำในการวัดความดันโลหิตโดยวิธี home blood pressure monitoring (HBPM) (แนวทางการรักษาโรคความดันโลหิตสูงในเวชปฏิบัติทั่วไป โดยสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2562)

 ตารางที่ 2 สรุปคำแนะนำในการวัดความดันโลหิตโดยวิธี home blood pressure monitoring (HBPM) (แนวทางการรักษาโรคความดันโลหิตสูงในเวชปฏิบัติทั่วไป โดยสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2562)

ระดับของคำแนะนำ  I หมายถึง “ควรปฏิบัติ” เนื่องจากความมั่นใจของคำแนะนำให้ปฏิบัติอยู่ในระดับสูง มีประโยชน์ต่อผู้ป่วย และมีความคุ้มค่า

การป้องกันและควบคุมโรคความดันโลหิตสูงโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชีวิต

การรักษาโรคความดันโลหิตสูงด้วยการรับประทานยาเพียงอย่างเดียว ไม่ได้รักษาที่ต้นเหตุของโรค ดังนั้นส่วนที่สำคัญมากก็คือการป้องกันและควบคุมโรคความดันโลหิตสูงโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชีวิต ซึ่งมีข้อแนะนำดังต่อไปนี้จำนวน 6 ข้อ คือ

  1. ลดน้ำหนักในผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน

ควรพยายามควบคุมให้มีค่าดัชนีมวลกายตั้งแต่ 18.5 – 22.9 กก./ตร.ม. และมีเส้นรอบเอวสำหรับผู้ชายไม่เกิน 90 ซม. (36 นิ้ว) และสำหรับผู้หญิงไม่เกิน 80 ซม. (32 นิ้ว) หรือ ไม่เกินส่วนสูงหารสอง ทั้งเพศชายและหญิง

  1. ปรับรูปแบบของการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ

ควรแนะนำให้รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ทุกมื้อ โดยในแต่ละมื้อมีปริมาณอาหารที่เหมาะสม 

  1. จำกัดปริมาณเกลือและโซเดียมในอาหาร

โดยจำกัดปริมาณการบริโภคโซเดียมไม่เกินวันละ 2 กรัม ซึ่งเทียบเท่ากับเกลือแกงปริมาณ 1 ช้อนชา (5 กรัม) หรือน้ำปลาหรือซีอิ๊วขาว 3-4 ช้อนชา และควรจำกัดปริมาณการใช้ผงชูรสด้วย

  1. เพิ่มกิจกรรมทางกายหรือออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

ควรออกกำลังกายแบบแอโรบิก อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน อย่างไรก็ตามผู้ที่มีภาวะต่อไปนี้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนออกกำลังกาย คือ

  • ผู้ที่มีความดันตัวบนตั้งแต่ 180 มม.ปรอท หรือ ความดันตัวล่างตั้งแต่ 110 มม.ปรอทขึ้นไป
  • ผู้ที่มีอาการเจ็บหน้าอก หรือหายใจไม่สะดวก โดยเฉพาะเมื่อออกแรง
  • ผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว
  • ผู้ป่วยมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ผู้ป่วยมีโรคเบาหวานที่ยังควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี
  • ผู้ที่มีภาวะเจ็บป่วยเฉียบพลันอื่น ๆ
  • ผู้ที่มีโรคเรื้อรังอื่น ๆ เช่น อัมพฤกษ์ ข้อเข่าเสื่อม โรคปอดเรื้อรัง เป็นต้น
  1. จำกัดหรืองดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ในผู้ที่ไม่เคยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาก่อนเลย ไม่แนะนำให้ดื่ม หรือ ถ้าดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่แล้ว ควรจำกัดปริมาณ คือผู้หญิงไม่เกิน 1 ดื่มมาตรฐาน (standard drink) ต่อวัน และผู้ชายไม่เกิน 2 ดื่มมาตรฐานต่อวัน

         ตัวอย่าง 1 ดื่มมาตรฐาน (standard drink) เช่น

  • เบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ 5 % ประมาณ 1 กระป๋องเล็กหรือขวดเล็ก
  • ไวน์ ที่มีแอลกอฮอล์ประมาณ 8-12% ประมาณ 1 แก้วไวน์ หรือไวน์ ที่มีแอลกอฮอล์ประมาณแอลกอฮอล์ 18% ประมาณ 3 ออนซ์ (90 ซีซี)
  • วิสกี้หรือสุราที่มีแอลกอฮอล์ 40 ดีกรี ประมาณ 1.5 ออนซ์ (45 ซีซี)
  1. เลิกบุหรี่

การเลิกบุหรี่อาจไม่ได้มีผลต่อการลดความดันโลหิตโดยตรง แต่สามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook