ประเมินความเสี่ยง "เบาหวาน ความดัน ไขมันในเลือดสูง" จากการอ่านผลตรวจสุขภาพ

ประเมินความเสี่ยง "เบาหวาน ความดัน ไขมันในเลือดสูง" จากการอ่านผลตรวจสุขภาพ

ประเมินความเสี่ยง "เบาหวาน ความดัน ไขมันในเลือดสูง" จากการอ่านผลตรวจสุขภาพ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
  • โรคความดันโลหิตสูงมักไม่แสดงอาการ แต่สร้างความเสียหายต่อหลอดเลือดและหัวใจ ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด ผู้ป่วยมากกว่า 90-95 เปอร์เซ็นต์ ไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนของโรคได้ พบเพียงปัจจัยเสี่ยง เช่น อายุที่มากขึ้น น้ำหนักที่เกินเกณฑ์มาตรฐาน อาหารที่รับประทาน หรือพันธุกรรม  
  • การตรวจสุขภาพอยู่เสมอ เพื่อป้องกันและรู้เท่าทันโรคร้าย รวมถึงการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง รับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับดี มีสุขภาพจิตที่ดี ถือเป็นหัวใจหลักของการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม 

การตรวจร่างกายโดยที่ยังไม่มีความผิดปกติใดๆ หรืออาจมีอาการเพียงเล็กน้อย ถือเป็นการค้นหาโรคที่อาจแฝงอยู่โดยยังไม่ปรากฏอาการผิดปกติ ช่วยให้ตรวจพบแนวโน้มการเกิดโรคหรือโรคในระยะเริ่มต้น ส่งผลให้สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันโรค รวมถึงช่วยลดความรุนแรง และภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้หากพบโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ทั้งนี้ การดูแลร่างกายทั้งการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายเป็นประจำอย่างถูกต้องเหมาะสม รวมไปถึงการดูแลทางด้านจิตใจและการนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เช่นกัน 

จะเห็นได้ว่า การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ถือเป็นกุญแจสำคัญสู่การมีสุขภาพที่สมบูรณ์แบบ ส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจ ครบทั้งการป้องกันและดูแลรักษา เป็นประโยชน์ต่อตัวคุณและครอบครัวอย่างมาก 

โรคเบาหวาน

นพ. ธเนศ สินส่งสุข แพทย์เวชศาสตร์ป้องกัน ประจำศูนย์สุขภาพ รพ. สมิติเวช สุขุมวิท ระบุว่า ปัจจุบันคนไทยเป็นโรคเบาหวานกันมากขึ้น และพบว่าผู้ป่วยเบาหวานมีอายุน้อยลง โดยผลการสำรวจข้อมูลคนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปี ขึ้นไป ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวานมากถึง 9.5% โดย 2 ใน 3 ของผู้ป่วยเท่านั้นที่ทราบว่าตนเองเป็นโรคเบาหวาน ส่วนที่เหลือ 1 ใน 3 นั้นไม่ได้รับการตรวจและรักษาอย่างถูกวิธี

โรคเบาหวานถือว่าเป็นภัยเงียบที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย เป็นโรคที่อาจไม่แสดงอาการใดๆ ต้องทำการวินิจฉัยด้วยการตรวจเลือดเพื่อวัดระดับน้ำตาลในเลือดจึงจะทราบว่าเป็นโรคเบาหวาน ทั้งนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่นั้นมักตรวจพบว่าเป็นโรคเบาหวานจากการตรวจสุขภาพประจำปี

เกณฑ์การวินิจฉัยเบาหวานมีหลายวิธี เช่น การวัดระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ซึ่งค่าปกติของระดับน้ำตาลควรน้อยกว่า 100 มก./ดล. หากมากกว่า 126 มก./ดล. ถือว่าเป็นเบาหวาน อย่างไรก็ตาม หากระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ระหว่าง 100-125 มก./ดล.  ถือว่ามีความเสี่ยง หรือเรียกว่าเป็นภาวะเบาหวานแฝงเท่านั้น

นอกจากนี้ สามารถตรวจฮีโมโกลบิน เอ วัน ซี (Hemoglobin A1C - HbA1C) ซึ่งเป็นการตรวจระดับน้ำตาลสะสมในเลือดตลอดระยะเวลา 2-3 เดือนที่ผ่านมาได้เช่นกัน โดยค่าปกติ HbA1C น้อยกว่า 6.0 mg% หากพบค่า HbA1C อยู่ในช่วง 6.0 mg% ถึง 6.4 mg% ถือว่าเสี่ยงเป็นเบาหวาน และเป็นผู้ป่วยเบาหวานเมื่อมีค่า HbA1C  มากกว่าหรือเท่ากับ 6.5 mg%

โรคความดันโลหิตสูง

โรคนี้เป็นโรคที่ต้องได้รับการดูแลและใส่ใจอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากสามารถส่งผลให้เกิดโรคร้ายแรงอื่นๆ ตามมาได้ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น ทั้งนี้ ค่าความดันโลหิตของคนปกตินั้นอยู่ที่ 120/80 มิลลิเมตรปรอท แต่ในปัจจุบัน สมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกาได้ประกาศให้มีการเปลี่ยนแปลงค่าความดันโลหิตที่เป็นตัวแปรวินิจฉัยว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงค่าใหม่ คือ 130/80 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป

ความน่ากลัวของโรคความดันโลหิตสูง คือ ผู้ป่วยมากกว่า 90-95 เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถตรวจหาสาเหตุที่ชัดเจนของโรคได้ พบเพียงปัจจัยเสี่ยง เช่น อายุที่มากขึ้น การมีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน อาหารที่รับประทานเป็นประจำ หรือแม้แต่พันธุกรรม นอกจากนี้ ยังมักไม่แสดงอาการ แต่เบื้องหลังนั้นได้สร้างความเสียหายต่อหลอดเลือดและหัวใจอย่างมาก ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพเรื้อรังอื่นๆ ที่อาจตามมาได้ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น

โรคไขมันในเลือดสูง

ระดับไขมันในเลือดมีความสำคัญต่อการเกิดภาวะหลอดเลือดแข็ง ตีบ และอุดตัน  ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหัวใจโดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจ  ดังนั้น ผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงจึงมีโอกาสเป็นโรคหัวใจขาดเลือด สมองขาดเลือด ส่งผลให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตตามมา หรือเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้  โดยระดับคอเลสเตอรอลปกติที่ยอมรับได้ คือ ไม่เกิน 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ส่วนไตรกลีเซอไรด์ ควรน้อยกว่า 170 มก./ดล. รวมถึงไขมันชนิดดี (HDL) ควรมีค่ามากกว่า 60 มก./ดล. และไขมันชนิดไม่ดี (LDL) ควรมีค่าน้อยกว่า 130 มก./ดล.

โรคหัวใจ

โรคหัวใจนั้น เป็นโรคที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ อาจเป็นในส่วนของหลอดเลือดหัวใจ ลิ้นหัวใจ โรคหัวใจแต่กำเนิด หรือโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น มีปัจจัยเสี่ยงมาจากอายุที่มากขึ้น เพศ พันธุกรรม โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง มีภาวะอ้วน หรือชอบรับประทานอาหารไขมันสูง ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ และไม่ค่อยออกกำลังกาย ทำให้มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว หายใจไม่เต็มอิ่ม เหนื่อยง่าย คลื่นไส้

ทั้งนี้ เนื่องจากโรคหัวใจเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของทั้งเพศชายและเพศหญิง การตรวจหัวใจในรูปแบบต่างๆ ตามคำแนะนำของแพทย์ผู้ชำนาญการด้านหัวใจ จะช่วยทำนายความเสี่ยงของโอกาสเกิดโรคหัวใจ เพื่อรู้เท่าทันและป้องกันโรคหัวใจได้ตั้งแต่เริ่มต้น เช่น การตรวจแคลเซียมในหลอดเลือดหัวใจ หากได้ค่าการตรวจตั้งแต่ 400 ขึ้นไป ก็บ่งบอกว่าอาจมีภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบแฝงอยู่ เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดได้ รวมไปถึงการดูแลทางด้านต่างๆ เช่น อาหาร การออกกำลังกาย ก็มีผลต่อสุขภาพและมีข้อห้าม/ข้อควรระวังสำหรับผู้ที่เป็นโรคหัวใจด้วยเช่นกัน

โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)

ค่าความดันโลหิตสูง เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองมากที่สุด การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต และไขมันในเลือด เป็นการตรวจเบื้องต้นเพื่อประกอบการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมอง หากพบข้อบ่งชี้ภาวะหลอดเลือดสมอง อาจต้องมีการตรวจอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ตรวจค่าการอักเสบของหลอดเลือด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram) ว่ามีจังหวะการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติหรือไม่ ตรวจการไหลเวียนเลือดของหลอดเลือดแดงในสมอง (Transcranial Doppler Ultrasound) และตรวจหลอดเลือดแดงบริเวณคอที่ไปเลี้ยงสมองด้วยคลื่นความถี่สูง (Carotid Duplex Ultrasound) ทั้งนี้ การตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมองด้วยวิธีต่างๆ จะช่วยชี้ตำแหน่งหลอดเลือดสมองผิดปกติได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงหาความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้ก่อนเกิดอาการ

แม้การตรวจสุขภาพ จะไม่ได้เป็นการรับประกันว่าผู้ตรวจจะปลอดจากโรคต่างๆ แต่การตรวจสุขภาพในกรณีที่ยังไม่มีอาการ จะช่วยให้ค้นพบโรคตั้งแต่ระยะเริ่มแรก อีกทั้งหากเสริมด้วยการดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูงและอาหารรสจัด ออกกำลังกายเป็นประจำ ลดความเครียด นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหมั่นสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น รวมถึงพบแพทย์เพื่อปรึกษาการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมที่สามารถทำได้ก่อนป่วย ก็สามารถส่งเสริมให้มีสุขภาพที่ดีแบบ 360 องศาได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook