แพทย์ชี้ ผู้สูงอายุ เสี่ยง "ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย"

แพทย์ชี้ ผู้สูงอายุ เสี่ยง "ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย"

แพทย์ชี้ ผู้สูงอายุ เสี่ยง "ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประเทศไทยกำลังนับถอยหลังสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ โดยในปี 2564 เราจะมีประชากรผู้สูงอายุมากถึงร้อยละ 20 ของประเทศ ดังนั้นการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุจึงเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเข้ามาทุกขณะ โดยเฉพาะความเสี่ยงต่อภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้และอาจเป็นภาระลูกหลานในที่สุด การสร้างความเข้าใจด้านโภชนาการและเสริมสารอาหารให้เพียงพอถือเป็นก้าวสำคัญในการเดินหน้าสู่สังคมสูงวัยที่แข็งแรงและมีคุณภาพ

ผู้สูงอายุ ที่รับประทานอาหารได้น้อยลง เบื่ออาหาร จะส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิต น้ำหนักลดลง มีอาการเหนื่อยง่าย และแรงบีบมือที่ลดลง นอกจากนี้ การกินอาหารที่มีโภชนาการไม่เหมาะสม ไม่ได้มีเพียงแค่กินได้น้อยเท่านั้น แต่พบว่าโรคอ้วนในกลุ่มผู้สูงอายุชาวไทยเพิ่มขึ้นถึงกว่าร้อยละ 30 (เทียบปี 2551 กับ ปี 2557) แต่การมีน้ำหนักตัวที่มากไม่ได้แปลว่ามีมวลกล้ามเนื้อมากตามไปด้วย เพราะแม้ว่าจะดูอ้วนท้วนสมบูรณ์ แต่อาจจะเกิดจากมวลไขมันที่สะสมมากเกิน

ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย คืออะไร?

ผศ.พญ.ศานิต วิชานศวกุล อายุรแพทย์และแพทย์ผู้ชำนาญด้านโภชนาการคลินิกประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย (Sarcopenia) พบได้บ่อยครั้งในผู้สูงอายุ ด้วยอายุที่เพิ่มขึ้น การสลายของมวลกล้ามเนื้อจะสูงขึ้น แต่กลับสร้างทดแทนได้ไม่ดีอย่างที่เคย

อันตรายของภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย

โดยปกติแล้ว บุคคลทั่วไปที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปจะมีมวลกล้ามเนื้อลดลงที่ 8% ในทุกๆ 10 ปี มวลกล้ามเนื้อจะมีอัตราการลดลงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเมื่ออายุ 70 ปีอัตราการลดลงจะเพิ่มเป็น 15% ทุก 10 ปี ซึ่งมีนัยสำคัญอย่างมากเพราะเมื่อมีการลดลงของมวลกล้ามเนื้อจะส่งผลต่อสุขภาพทั้งภายในและภายนอก เช่น มีภูมิต้านทานที่น้อยลง เจ็บป่วย แขนขาอ่อนแรง ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และอาจเป็นผู้ป่วยติดเตียงในที่สุด หากไม่ได้รับการดูแล

การศึกษาและงานวิจัยหลายชิ้นแนะว่าผู้สูงอายุควรรับประทานโปรตีนคุณภาพดีเพิ่มขึ้น เพราะโปรตีนเป็นสารอาหารที่ช่วยเสริมสร้างและลดการสลายมวลกล้ามเนื้อโดยตรง แต่สำหรับผู้สูงอายุการทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ในปริมาณที่เพียงพอนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะโปรตีนจากเนื้อสัตว์เพราะไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้สะดวกและย่อยยาก

โปรไบโอติกส์ ตัวช่วยสุขภาพดี

นอกจากเรื่องโปรตีนคุณภาพดีทีมีความสำคัญในผู้สูงอายุ มีการศึกษาพบว่าผู้สูงอายุมีการเปลี่ยนแปลงโดยมีการลดลงของจุลินทรีย์ดีในลำไส้หรือโปรไบโอติกส์ ซึ่งจะมีผลต่อสุขภาพเชิงลบในผู้สูงอายุได้ การเสริมโปรไบติกส์หรือจุลินทรีย์ที่ดีในอาหาร อาจช่วยฟื้นฟูคุณภาพลำไส้จากการเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ดี โดยมีการศึกษาพบว่า การเสริมอาหารที่มีจุลินทรีย์ดีหรือโปรไบโอติกส์ ต่อเนื่อง 4 เดือน มีส่วนช่วยให้การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ดีขึ้น ช่วยกระตุ้นการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาว (lymphocyte) อย่างมีนัยสำคัญ และ ช่วยลดการติดเชื้อต่างๆ ได้มากกว่าถึง 41% เมื่อติดตามผลดื่มต่อเนื่อง 1 ปี

วิธีเสริมสร้างกล้ามเนื้อของผู้สูงอายุ ลดเสี่ยงภาวะกล้ามเนื้อ

ผศ.พญ.ดรุณีวัลย์ วโรดมวิจิตร อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุถึงวิธีเสริมสร้างกล้ามเนื้อของผู้สูงอายุ ดังนี้

  1. ออกกำลังกายทุกวัน เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เช่น การใช้ยางยืดในการออกกำลังกาย

  2. รับประทานอาหารที่มีโปรตีนให้เพียงพอ เช่น ถั่วเหลือง เนื้อปลา เนื้อวัว เพื่อป้องกันการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ และเพิ่มเส้นใยของกล้ามเนื้อ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook