“ถั่งเช่า” มีประโยชน์จริง หรือหลอกลวง?

“ถั่งเช่า” มีประโยชน์จริง หรือหลอกลวง?

“ถั่งเช่า” มีประโยชน์จริง หรือหลอกลวง?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากใครมีผู้หลักผู้ใหญ่อยู่ที่บ้าน อาจจะเคยเห็นท่านชมโฆษณาทางทีวีที่พบได้ทั้งวัน กับ เครื่องดื่มผสมถั่งเช่า ที่อ้างสรรพคุณที่ดีต่อสุขภาพมากมาย จริงๆ แล้วถั่งเช่าคืออะไร มีประโยชน์ต่อร่างกายมากแค่ไหน และควรรับประทานมากน้อยแค่ไหน มาศึกษากันอย่างละเอียดกันดีกว่า

ถั่งเช่า คืออะไร?

ข้อมูลจาก เฟซบุ๊กเพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ระบุว่า ถั่งเช่า เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่ง ที่ก็มาจากเชื้อราเจริญเติบโตบนซากหนอน มีสรรพคุณเชิง เภสัชสมุนไพรหลายอย่าง และสามารถบริโภคได้ ถ้าไม่กินเยอะเกินไป หรือมีอาการแพ้ รวมถึงผู้ป่วยบางโรค

รองศาสตราจารย์ ดร.นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ และ ธิดารัตน์ จันทร์ดอน สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ถั่งเช่า ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ส่วนที่เป็นตัวหนอน คือ ตัวหนอนของผีเสื้อ และบนตัวหนอนมีเห็ดชนิดหนึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cordyceps sinensis (Berk.) Saec. หนอนชนิดนี้ในฤดูหนาวจะฝังตัวจำศีลอยู่ใต้ดินภูเขาหิมะ เมื่อน้ำแข็งเริ่มละลาย สปอร์เห็ดจะพัดไปกับน้ำแข็งที่ละลาย แล้วไปตกที่พื้นดิน จากนั้นตัวหนอนเหล่านี้ก็จะกินสปอร์ และเมื่อฤดูร้อนสปอร์ก็เริ่มเจริญเติบโตเป็นเส้นใยโดยอาศัยการดูดสารอาหารและแร่ธาตุจากตัวหนอนนั้น เส้นใยงอกออกจากท้องของตัวหนอน และงอกออกจากปากของมัน เห็ดเหล่านี้ต้องการแสงอาทิตย์มันจึงงอกขึ้นสู่พื้นดิน รูปลักษณะภายนอกคล้ายไม้กระบอก ส่วนตัวหนอนเองก็จะค่อยๆ ตายไป อยู่ในลักษณะของหนอนตายซาก ฉะนั้น “ถั่งเช่า” ที่ใช้ทำเป็นยาก็คือ ตัวหนอนและเห็ดที่แห้งแล้วนั่นเอง

ถั่งเช่า มีประโยชน์จริงหรือไม่?

ถั่งเช่า ถือได้ว่าเป็นยาสมุนไพรที่มีการใช้อย่างแพร่หลายในประเทศจีนนานนับศตวรรษ ถั่งเช่าอุดมไปด้วยสารต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ ได้แก่ โพลีแซคคาไรด์ (galactomannan), นิวคลีโอไทด์ (adenosine, cordycepin), cordycepic acid, กรดอะมิโน และสเตอรอล (ergosterol, beta-sitosterol) นอกจากนี้ยังประกอบด้วยสารอาหารสำคัญอื่นๆ เช่น โปรตีน วิตามินต่างๆ (E, K, B1, B2 และ B12) และแร่ธาตุต่างๆ (โพแทสเซียม โซเดียม แคลเซียม แมกนีเซียม เหล็ก สังกะสี และซิลิเนียม) เป็นต้น

นอกจากนี้ ถั่งเช่า มีสรรพคุณทางยาแผนโบราณที่ใช้กันแพร่หลายในประเทศจีนในเรื่องของกระตุ้นสมรรถภาพทางเพศ และใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงอวัยวะภายใน เช่น ปอด ตับ และไต เป็นต้น

จากการทดลองในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง พบว่าถั่งเช่ามีฤทธิ์ปรับสมดุลของร่างกาย กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ต้านมะเร็ง ลดระดับน้ำตาลในเลือด ต้านการอักเสบ และกระตุ้นสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า “ถั่งเช่า” มีการใช้อย่างแพร่หลายและมีราคาสูง แต่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะการศึกษาทางคลินิกยังมีน้อยที่ศึกษาในคนอย่างเป็นระบบมีน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นกรณีศึกษาเท่านั้น

ข้อควรระวังในการทานถั่งเช่า

  1. ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากถั่งเช่ามีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดได้ จะไปเสริมฤทธิ์กับยาลดน้ำตาลในเลือด
  2. ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยที่ได้รับยากลุ่มป้องกันการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด เนื่องจากถั่งเช่ามีฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด
  3. ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน (immunosuppressive) ทั้งนี้เพราะว่าถั่งเช่ามีฤทธิ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน
  4. กลุ่มของคนไข้ที่มีเชื้อ HIV ต่ำ เช่น มีค่า CD4 น้อยกว่า 200 ก็ควรที่จะหลีกเลี่ยงเช่นกัน เพราะอาจจะเกิดปัญหาการติดเชื้อราได้
  5. ควรระมัดระวังปริมาณที่รับประทาน ขนาดบริโภคของผู้ใหญ่ (อายุมากกว่า 18 ปี) ในแต่ละวัน ประมาณ 3-9 กรัม ชงกับน้ำร้อน หรือประกอบอาหาร ขนาดการใช้ที่มากเกินไปอาจจะก่อเกิดผลเสียได้ 
  6. การใช้ในหญิงมีครรภ์ หญิงในนมบุตร และในเด็ก ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ 
  7. ห้ามใช้ในคนที่แพ้เห็ด Cordyceps ผู้ป่วยที่มีอาการหลอดลมอักเสบเรื้อรัง และผู้ป่วยที่มีการเต้นของหัวใจผิดปกติ 

ฉะนั้นจึงควรระมัดระวังในการใช้ถั่งเช่า และควรมีการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการใช้ถั่งเช่าในการรักษาโรคเพื่อความปลอดภัยและให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภค ผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook