เตือน “หญิงตั้งครรภ์” เลี่ยงอาหารรสจัด-หมักดอง เพื่อสุขภาพลูกในครรภ์
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060
    //s.isanook.com/he/0/ud/5/25931/pregnant.jpgเตือน “หญิงตั้งครรภ์” เลี่ยงอาหารรสจัด-หมักดอง เพื่อสุขภาพลูกในครรภ์

    เตือน “หญิงตั้งครรภ์” เลี่ยงอาหารรสจัด-หมักดอง เพื่อสุขภาพลูกในครรภ์

    2023-03-14T23:39:00+07:00
    แชร์เรื่องนี้

    แนะอาหารสำหรับหญิงตั้งครรภ์ ให้หลีกเลี่ยงอาหารรสจัดหมักดอง เน้นกินอาหารให้ครบ 5 กลุ่ม ควบคู่กับการดื่มนมรสจืด 2-3 แก้วทุกวัน เพื่อให้ได้รับสารอาหารให้ครบถ้วนเพียงพอ สำหรับการเจริญเติบโตของลูกในครรภ์

    นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า หญิงตั้งครรภ์ควรกินอาหารให้ครบ 5 กลุ่ม คือ กลุ่มข้าวแป้ง กลุ่มเนื้อสัตว์ กลุ่มผัก กลุ่มผลไม้ และกลุ่มนมเพื่อให้ได้รับสารอาหารให้ครบถ้วนเพียงพอ สำหรับการเจริญเติบโตของลูกในครรภ์ หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด หมักดอง กาแฟ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และบุหรี่ หญิงตั้งครรภ์ในแต่ละไตรมาสต้องการสารอาหารแตกต่างกันไป ช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสแรก (อายุครรภ์ 0-3 เดือน) เป็นช่วงที่ทารกมีการสร้างอวัยวะ ยังไม่มีการขยายขนาดของร่างกายมากนัก น้ำหนักตัวคุณแม่อาจเพิ่มขึ้นเพียง 1-2 กิโลกรัม แต่ถ้ามีอาการแพ้ท้อง ก็อาจทำให้น้ำหนักตัวลดลงไปบ้าง พลังงานสารอาหารที่ร่างกายควรได้รับในระยะนี้ใกล้เคียงกับก่อนตั้งครรภ์

    อาหารที่เหมาะสมของหญิงตั้งครรภ์ในแต่ละช่วง

    1-3 เดือน

    ในช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสแรกอาการที่แสดงออกคือ การแพ้ท้อง หากแพ้ท้องมากทำให้กินอาหารได้น้อย ควรแบ่งมื้ออาหารเป็นมื้อย่อยๆ กินให้บ่อยขึ้น ซึ่งช่วงไตรมาสนี้แนะนำอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากที่สุด เน้นกลุ่มโปรตีนจากเนื้อสัตว์และเกลือแร่ เช่น ผัดผักใส่หมูสับ ต้มจืดตำลึง เป็นต้น 

    4-6 เดือน

    ช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 (อายุครรภ์ 4-6 เดือน) คุณแม่จะเริ่มกินอาหารได้มากขึ้น ในขณะที่ระยะนี้ทารกกำลังสร้างอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย และมีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมีอัตราสูงสุดในเดือนสุดท้ายก่อนคลอด น้ำหนักของทารกจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงจำเป็นต้องใช้พลังงานและสารอาหารสำหรับสร้างระบบไหลเวียน ระบบประสาท กล้ามเนื้อ กระดูกและอวัยวะต่างๆ ของทารก และสำหรับร่างกายของมารดาเองด้วย ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์จึงจำเป็นต้องกินอาหารที่มีพลังงานและสารอาหารสูงกว่าคนปกติ

    ขณะตั้งครรภ์ควรควบคุมน้ำหนักตัวให้เพิ่มขึ้นตามเกณฑ์คือ ½ กิโลกรัมต่อสัปดาห์ หรือ 2 กิโลกรัมต่อเดือน ซึ่งในช่วงนี้ร่างกายต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นประมาณ 300 กิโลแคลอรี่ต่อวัน และต้องการโปรตีนจากเนื้อสัตว์ นม ไข่ เพิ่มขึ้นจากเดิม รวมทั้งต้องการธาตุเหล็ก เพื่อใช้สร้างเม็ดเลือดแดง โฟเลทในการป้องกันความพิการแต่กำเนิด ปากแหว่งเพดานโหว่ของทารก แหล่งอาหารที่มีเหล็กและโฟเลต ได้แก่ ตับ เนื้อสัตว์ ผักใบเขียวเข้ม นอกจากนี้ยังต้องการแคลเซียมและฟอสฟอรัสในการสร้างกระดูกและฟัน แหล่งอาหารได้จากนม  ปลาเล็กปลาน้อย เต้าหู้แข็ง ธัญพืช และผักเขียวเข้ม หญิงตั้งครรภ์ควรกินอาหารที่มีไอโอดีน เช่น อาหารทะเล หรือ ปรุงประกอบอาหารด้วยเครื่องปรุงที่มีการเสริมไอโอดีน ซึ่งไอโอดีนช่วยในการพัฒนาระบบประสาทและการเจริญเติบโตของเซลล์สมองของทารกในครรภ์ เมนูที่แนะนำ เช่น ไข่ตุ๋น ต้มเลือดหมูใส่ผัก ปลานึ่งกับผักลวก เป็นต้น

    7-9 เดือน

    ช่วงไตรมาสที่ 3 (อายุครรภ์ 7-9 เดือน) โดยร่างกายของหญิงตั้งครรภ์ยังคงต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นประมาณ 300 กิโลแคลอรีต่อวัน ซึ่งเป็นช่วงที่ทารกมีการขยายขนาดร่างกายเพิ่มขึ้นมาก รวมถึงการสร้างกระดูกและฟัน จึงควรกินอาหารที่มีแคลเซียมและฟอสฟอรัสสูง เน้นอาหารที่มีกรดไขมัน โอเมก้า 3 ซึ่งเป็นกรดไขมันดี เช่น ปลาทู ปลาจะละเม็ด โดยมีเมนูแนะนำ ได้แก่ ยำปลาทู แกงเลียง ยำหัวปลี ฟักทองผัดไข่ เป็นต้น