จริงหรือไม่? น้ำประปาใช้หุงข้าวไม่ได้

จริงหรือไม่? น้ำประปาใช้หุงข้าวไม่ได้

จริงหรือไม่? น้ำประปาใช้หุงข้าวไม่ได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังจากโลกออนไลน์มีการแชร์ข้อมูลว่าน้ำประปานำมาใช้หุงข้าวไม่ได้ เพราะจะทำลายสารอาหารในข้าวจนหมด เรื่องจริงเป็นอย่างไร Sanook! Health มีคำตอบจากอาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาฝากกันค่ะ

น้ำประปา ทำลายสารอาหารในข้าว?

ข้อมูลที่แชร์กันบอกว่า น้ำประปามีคลอรีน ที่เราใส่ลงไปในน้ำเพื่อการฆ่าเชื้อโรค แต่คลอรีนจะทำลายวิตามินบี และสารอาหารอื่นๆ ที่ดีของข้าวออกไปจนหมด สุดท้ายข้าวจะไม่เหลือสารอาหารดีๆ เลยนั้น อันที่จริงแล้ว คลอรีนใส่ลงมาในน้ำประปาเพื่อฆ่าเชื้อโรคจริง แต่ไม่ได้ใส่ในปริมาณที่เยอะ และคลอรีนมีจุดเดือดที่ต่ำมาก กล่าวคือ เมื่อเรานำมาหุงข้าว ความร้อนที่ใช้ในการหุงข้าวทำให้คลอรีนระเหยออกไปจนหมด ไม่เหลือสิ่งตกค้างใดๆ และไม่ได้ทำลายวิตามินบี หรือสารอาหารในข้าวแต่อย่างใด ซึ่งจริงๆ แล้ว ตัวคลอรีนเอง เพียงตั้งแก้วน้ำไว้เฉยๆ ก็สามารถระเหยออกไปจนหมดได้เช่นกัน (โดยไม่ต้องผ่านความร้อนใดๆ เลยด้วยซ้ำ)

 

คลอรีน ถ้าต้มแล้ว จะเป็นคลอโรฟอร์ม และสารก่อมะเร็งอื่น?

เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเช่นกัน จะเกิดขึ้นได้จริงก็ต่อเมื่อมีสารอินทรีย์ปนเปื้อนในน้ำ หรือสารฮิวมัส แต่โอกาสที่จะเกิดขึ้นน้อยมาก เพราะต้องมีปริมาณสารปนเปื้อนค่อนข้างมาก และหากเป็นคลอโรฟอร์มจริง จุดเดือดอยู่ที่ 60 องศาเซลเซียสเท่านั้น หากหุงข้าวที่อุณหภูมิจุดเดือด 100 องศาเซลเซียส ทั้งหมดก็ระเหยออกไปอยู่ดี

 

สารอาหารในข้าวจะถูกทำลายไป ก็ต่อเมื่อ....

จริงๆ แล้ว แค่การหุงข้าว ก็ทำลายวิตามินบีในข้าวได้แล้วล่ะค่ะ เราไม่มีทางได้รับสารอาหารจากข้าวเต็ม 100% หากเราจำเป็นต้องหุงข้าวให้สุกก่อนรับประทาน เพียงแต่หากเลือกวิธีการหุงข้าวให้ดี ก็จะรักษาวิตามินในข้าวเอาไว้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ นั่นคือการหุงข้าวแบบไม่เช็ดน้ำ หรือระบบหุงข้าวด้วยเครื่องหุงข้าวอัตโนมัติแบบที่เราใช้กันอยู่นี่ก็โอเคแล้วค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ค อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook