"ไตเรื้อรัง" กับ 11 วิธีกินอย่างไรช่วยชะลอไตเสื่อม

"ไตเรื้อรัง" กับ 11 วิธีกินอย่างไรช่วยชะลอไตเสื่อม

"ไตเรื้อรัง" กับ 11 วิธีกินอย่างไรช่วยชะลอไตเสื่อม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน เลี่ยงอาหารที่มีผงชูรส ช่วยชะลอไตเสื่อม เผยผลวิจัยกึ่งทดลอง พบอัตราการทำงานของไตกลุ่มผู้ป่วยดีขึ้น


พฤติกรรมการกิน ปัจจัยเสี่ยงโรคไต

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า พฤติกรรมการกินอาหารที่มีปริมาณของโซเดียมสูงยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคไต โดยเฉพาะคนวัยทำงานที่ใช้ชีวิตและมักซื้ออาหารปรุงสำเร็จหรืออาหารกล่องสำเร็จรูปจากร้านสะดวกซื้อซึ่งมีปริมาณโซเดียมสูง หรือนิยมเติมเกลือหรือน้ำปลาในอาหารเพื่อให้มีรสเค็ม โดยผู้ที่ป่วยโรคไตในระยะแรกจะไม่พบอาการผิดปกติ ทำให้ส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าป่วย แต่จะตรวจพบ เมื่อโรคดำเนินไปมากแล้วหรือเข้าสู่โรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ต้องได้รับการรักษาด้วยการบำบัดทดแทนไตและการปลูกถ่ายไต ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาจำนวนมาก ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังจึงควรระมัดระวังเรื่องการบริโภคอาหารด้วย

อาหารที่แนะนำของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง

ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังควรบริโภคอาหาร ดังนี้

  1. กลุ่มคาร์โบไฮเดรตไม่เกิน 6 ทัพพีต่อวัน ได้แก่ ข้าวขาว วุ้นเส้น ก๋วยเตี๋ยวเซี่ยงไฮ้ สาคู เป็นต้น

  2. หลีกเลี่ยงข้าวกล้องและขนมปัง

  3. สำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะ 1-3 บริโภคอาหารกลุ่มโปรตีน ได้แก่ ไข่ขาว เนื้อปลา เนื้อไก่ เนื้อหมูไม่ติดมัน เป็นต้น ไม่เกิน 7 ช้อนโต๊ะต่อวัน

  4. ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะ 4-5 ไม่ควรบริโภคโปรตีนเกิน 5 ช้อนโต๊ะต่อวัน

  5. ควบคุมการบริโภคอาหารลดหวาน มัน เค็ม

  6. ดื่มน้ำ 1.5 ลิตรต่อวัน

  7. ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะ 3-4 ที่ปัสสาวะน้อยลง แนะนำปริมาณน้ำดื่มเท่ากับปริมาณปัสสาวะทั้งวันบวกเพิ่ม 500 มิลลิลิตร

  8. หลีกเลี่ยงผักและผลไม้ที่มีโพแตสเซียมและฟอสฟอรัสสูง ได้แก่ แครอท บล็อกโคลี ถั่วฝักยาว ฟักทอง มะเขือเทศ แก้วมังกร มะละกอ น้ำส้มคั้น ผลไม้รวม เป็นต้น

  9. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีพิวรีนสูง ได้แก่ เครื่องในสัตว์ ยอดผัก ใจผัก หน่อไม้ หน่อไม้ฝรั่ง เป็นต้น

  10. ควรควบคุมโซเดียม และหลีกเลี่ยงการใช้ผงชูรสในการปรุงประกอบอาหาร

  11. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิดด้วย

นอกจากนี้คนทั่วไปก็ควรป้องกันภาวะไตเสื่อมที่จะนำไปสู่โรคไตเรื้อรังด้วยการบริโภคอาหารในปริมาณที่เหมาะสมตามธงโภชนาการและหลักโภชนบัญญัติ 9 ประการ รวมถึงบริโภคอาหารลดหวาน มัน เค็ม โดยบริโภคน้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน น้ำมันไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน และเกลือไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อวัน ทั้งในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังและประชาชนทั่วไป เพื่อการมีสุขภาพที่ดี

นายแพทย์สมพงษ์ ชัยโอภานนท์ นักวิชาการสาธารณสุขทรงคุณวุฒิ (ด้านโภชนาการ) กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง หากมีการจัดการดูแลอาหารด้วยตนเอง หรือมีผู้ดูแลผู้ป่วยช่วยสนับสนุนจะช่วยชะลอการเสื่อมของไตได้ ซึ่งจากการวิจัยโดยพัฒนาโปรแกรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบริโภคอาหารของผู้ป่วย ด้วยการแนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการปรุงอาหารด้วยผงชูรส จะเป็นทางเลือกที่ช่วยชะลอความเสื่อมของไตและช่วยให้การทำงานของไตดีขึ้น ซึ่งผลวิจัยกึ่งทดลอง เพื่อศึกษาผลของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารตามหลักโภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง กลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี จำนวน 92 คน ประกอบด้วยกลุ่มทดลอง 44 คน กลุ่มควบคุม 48 คน ภายหลังทำการศึกษา 4 สัปดาห์ พบว่า อัตราการทำงานของไตทั้งผู้ป่วยในกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมดีขึ้น และกลุ่มทดลอง  มีความตระหนักรู้ที่จะลดและเลี่ยงผงชูรสปรุงอาหารให้น้อยลงด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook