ความแตกต่างของ โกรทฮอร์โมน ธรรมชาติ VS โกรทฮอร์โมนสังเคราะห์

ความแตกต่างของ โกรทฮอร์โมน ธรรมชาติ VS โกรทฮอร์โมนสังเคราะห์

ความแตกต่างของ โกรทฮอร์โมน ธรรมชาติ VS โกรทฮอร์โมนสังเคราะห์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โกรทฮอร์โมน เป็นฮอร์โมนตามธรรมชาติที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย ถึงแม้ร่างกายจะผลิตได้เอง แต่ก็จะลดลงไปตามวัย ทำให้มีการผลิต โกรทฮอร์โมนสังเคราะห์ ขึ้นมาเพื่อช่วยในการทำงานของร่างกาย แบบเดียวกับโกรทฮอร์โมนตามธรรมชาติ แต่โกรทฮอร์โมนสังเคราะห์ จะให้ประโยชน์แก่ร่างกายได้แบบเดียวกับโกรทฮอร์โมนตามธรรมชาติจริงหรือ เรามาดูกัน

ประโยชน์ของ โกรทฮอร์โมน ตามธรรมชาติ

โกรว์ธฮอร์โมน (Growth Hormone - GH) เป็นฮอร์โมนที่หลั่งจากต่อมใต้สมองส่วนหลังเข้าสู่กระแสเลือด การหลั่งของโกรทฮอร์โมนไม่ได้ต่อเนื่อง แต่จะหลั่งเป็นระลอกทุกสามถึงห้าชั่วโมง โดยการหลั่งนี้ควบคุมโดยฮอร์โมนอีกสองชนิดที่หลั่งออกมาจากสมองส่วนไฮโปธาลามัส (hypothalamus) เป็นฮฮร์โมนที่ควบคุมการหลั่งของโกรทฮอร์โมนอีกทีหนึ่ง โกรทฮอร์โมนจะมีมากในตอนที่เป็นเด็ก มากที่สุดในช่วงวัยรุ่น และลดลงในวัยกลางคน โกรทฮอร์โมนจะออกฤทธิ์โดยตรงต่ออวัยวะต่างๆ หรือออกฤทธิ์ทางอ้อมโดยผ่านเปปไทด์ฮอร์โมนที่มีโครงสร้างคล้ายอินซูลิน หรือ IGF-1 (insulin-like growth factor-1) โกรทฮอร์โมนทำหน้าที่หลายอย่างในร่างกาย คือมีส่วนช่วยในการทำงานของเนื้อเยื่อทั้งร่างกาย ในวัยเด็กและวัยรุ่น โกรทฮอร์โมนช่วยพัฒนากระดูกและกระดูกอ่อน และเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ โกรว์ธฮอร์โมนจะมีหน้าที่ช่วยเร่งการทำงานของโปรตีน ช่วยในเรื่องระบบเผาผลาญพลังงาน  และรักษาระดับน้ำตาลในเลือด จากการศึกษาพบว่าผู้ใหญ่ที่อ้วน จะมีระดับโกรว์ธฮอร์โมนต่ำกว่าผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักปกติ

 

โกรทฮอร์โมนสังเคราะห์ ใช้เพื่ออะไร

โกรทฮอร์โมนแบบสังเคราะห์ (Human Growth Hormone - HGH) ถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อปี 1985 ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า เป็นฮอร์โมนที่สังเคราะห์ขึ้นมาเลียนแบบฮอร์โมนตามธรรมชาติ ถึงแม้ HGH จะได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา สหรัฐฯ แต่ก็เป็นการรับรองในกรณีเฉพาะ อย่างเช่น ใช้ในการรักษาภาวะทางการแพทย์บางอย่างสำหรับเด็ก ได้แก่

  • กลุ่มอาการเทอร์เนอร์ (Turner’s Syndrome ความผิดปกติทางพันธุกรรม ที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเด็กผู้หญิง

  • กลุ่มอาการพราเดอร์-วิลลี่ (Prader-Willi Syndrome) ความผิดปกติทางพันธุกรรมที่พบได้ยาก ทำให้มีฮอร์โมนเพศต่ำ ไม่มีกล้ามเนื้อ และรู้สึกผิวอยู่ตลอดเวลา

  • โรคไตเรื้อรัง

  • ภาวะขาดโกรว์ธฮอร์โมน ในเด็กที่เกิดมาตัวเล็กพราะคลอดก่อนกำหนด

 

ในผู้ใหญ่นั้น HGH ได้รับอนุมัติจากองค์การอาหารและยา สหรัฐฯ ให้ใช้เพื่อรักษา

  • อาการ Short bowel syndrome หรือภาวะที่ร่างกายไม่สามารถดูดซึมสารอาหารได้ดีพอ เนื่องมาจากโรคเกี่ยวกับลำไส้ที่รุนแรง หรือการถูกผ่าตัดเอาลำไส้เล็กออกไปจำนวนมาก

  • ขารขาดฮอร์โมนเนื่องจากเนื้องอกที่ต่อมใต้สมองซึ่งพบได้ยาก หรือผลจากการรักษาเนื้องอกชนิดนี้

  • โรคที่ทำลายกล้ามเนื้อที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์

 

โกรทฮอร์โมนสังเคราะห์ กับสารพัดคำกล่าวอ้าง

เนื่องมาจากระดับของโกรว์ธฮอร์โมนตามธรรมชาติในร่างกาย จะลดลงไปตามวัย ผู้เชี่ยวชาญด้านแอนตี้เอจจิ้งบางคนจึงอ้างว่า สามารถใช้ผลิตภัณฑ์โกรว์ธฮอร์โมนสังเคราะห์ เพื่อทดแทนโกรว์ธฮอร์โมนธรรมชาติ และสามารถเปลี่ยนความเสื่อมของร่างกาย ที่เกิดขึ้นเนื่องจากวัยได้ อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ และการใช้โกรว์ธฮอร์โมนสังเคราะห์ เพื่อการต่อต้านความร่วงโรยของวัย ก็ไม่ได้รับการรับรองจาก FDA แต่อย่างใด บางคนใช้โกรว์ธฮอร์โมนสังเคราะห์นี้พร้อมกับยาเพิ่มประสิทธิภาพร่างกายบางอย่าง เช่น สเตอรอยด์ เพื่อสร้างกล้ามเนื้อ หรือทำให้เล่นกีฬาได้ดีขึ้น แต่ก็เช่นกันที่ไม่มีงานวิจัยใดที่รับรองผลในเรื่องนี้ รวมทั้ง FDA ก็ไม่ได้รับรองการใช้งานในกรณีนี้เช่นกัน

 

ผลข้างเคียงและอันตรายจากโกรทฮอร์โมนสังเคราะห์

การฉีดโกรทฮอร์โมนเข้าสู่ร่างกายในระยะยาว สามารถทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่าอะโครเมกาลี (Acromegaly) หรือภาวะที่ร่างกายเจริญเติบโตไม่สมส่วน เนื่องมาจากผู้ใหญ่ไม่สามารถเติบโตไปได้อีกแล้ว การใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์นี้ ปริมาณมากๆ จึงทำให้กระดูกของคนๆ นั้นหนาขึ้น แทนที่จะทำให้มันยาวขึ้น โดยคนที่เกิดภาวะอะโครเมกาลี จะพบการเจริญเติบโตของกระดูกผิดปกติบริเวณมือ เท้า และใบหน้า ผิวหนังก็สามารถได้รับผลกระทบด้วย มันอาจจะหนาขึ้น หยาบขึ้น และมีขนเพิ่มมากขึ้น ระดับของ HGH ที่มากเกินไป ยังอาจนำไปสู่การเกิดความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจได้ นอกจากนี้การใช้โกรทฮอร์โมนยังสามารถทำให้เกิดอาการดังนี้

  • อาการเจ็บปวดข้อต่อ กลามเนื้อ และปลายประสาท

  • อาการบวมเนื่องจากมีของเหลวส่วนเกินในเนื้อเยื่อร่างกาย

  • กลุ่มอาการคาร์ปัลทันเนลซินโดรม (Carpal tnnnel syndrome) หรือกลุ่มอาการที่ส่งผลให้ประสาทมือชา

  • ความรู้สึกเหมือนเป็นเหน็บและอาการชาตามผิวหนัง

  • ระดับคอเลสเตอรอลสูงขึ้น

  • เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน และมีส่วนในการทำให้เนื้องอกมะเร็งเติบโตเร็วขึ้น

 

คิดให้ดีก่อนใช้โกรทฮอร์โมนสังเคราะห์

เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า โกรทฮอร์โมนสังเคราะห์นั้น ไม่เท่าเทียมกับโกรว์ธฮอร์โมนที่ร่างกายเราผลิตขึ้นมาตามธรรมชาติ ถึงแม้จะเป็นฮอร์โมนแบบเดียวกันก็ตาม การใช้โกรว์ธฮอร์โมนสังเคราะห์ จึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ และใช้สำหรับผู้ที่อยู่ในภาวะขาดโกรทฮอร์โมนจริงๆ ไม่ควรใช้เพื่อประโยชน์ในการทำให้ร่างกายดีขึ้น แข็งแรงขึ้น หรืออ่อนเยาว์ขึ้น เนื่องมาจากยังไม่มีงานวิจัยที่รับรองผลในด้านเหล่านี้อย่างจริงจัง เมื่อเทียบกับผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้แล้ว โกรว์ธฮอร์โมนสังเคราะห์จึงอาจไม่ใช่ "น้ำพุแห่งความอ่อนเยาว์" ที่ทุกคนควรหันไปพึ่งพา โดยปราศจากการแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook