วิธีเก็บรักษา “อวัยวะขาด” เพื่อคงสภาพเดิม-ให้แพทย์ต่อคืนให้

วิธีเก็บรักษา “อวัยวะขาด” เพื่อคงสภาพเดิม-ให้แพทย์ต่อคืนให้

วิธีเก็บรักษา “อวัยวะขาด” เพื่อคงสภาพเดิม-ให้แพทย์ต่อคืนให้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วิวัฒนาการสมัยนี้ไม่เหมือนสมัยก่อน ที่หากมีอวัยวะขาดแล้วจะขาดเลย ไม่สามารถปลูกถ่ายเซลล์ให้กลับมาใช้งานต่อได้ แต่การจะต่ออวัยวะที่ขาดกลับเข้าไปใช้งานได้เหมือนเดิมก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อย่างที่คิดเช่นกัน ยังมีปัจจัยหลายอย่างที่เป็นตัวกำหนดว่า การผ่าตัดต่ออวัยวะต่างๆ จะสำเร็จได้ด้วยดีหรือไม่

 

การผ่าตัดต่ออวัยวะ

นายแพทย์ วิชิต ศิริทัตธำรง แพทย์ประจำสาขาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ (กระดูก และข้อ) กลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์ อธิบายว่า การผ่าตัดต่ออวัยวะ หมายถึง การผ่าตัดเชื่อมต่ออวัยวะอย่าง แขน ขา มือ นิ้ว และอวัยวะเพศ หลังจากที่อวัยวะเหล่านั้นถูกทำให้ขาดออกจากกัน หรือขาดออกจากกันเพียงบางส่วน โดยแพทย์จะทำการเชื่อมต่อเส้นเลือด หรือสร้างเส้นเลือดขึ้นมาใหม่ เพื่อให้เลือดไหลไปเลี้ยงเนื้อเยื่อส่วนที่อยู่ปลายอวัยวะที่ต่อนั้นให้ยังทำงานเป็นปกติดังเดิมได้

 

อวัยวะที่สามารถผ่าตัดต่ออวัยวะคืนกลับที่เดิมได้

ได้แก่ นิ้วมือ นิ้วเท้า นิ้วเดียว หรือหลายนิ้ว ฝ่ามือ ทั้งมือ แขน ต้นแขน และขา

 

วิธีช่วยเหลือผู้ป่วยอวัยวะขาด

  1. ใช้ผ้าสะอาด หรือผ้าก๊อซกดปิดแผลให้แน่น เพื่อห้ามเลือด เพราะเมื่ออวัยวะขาด เลือดมักจะออกเป็นจำนวนมาก ควรรีบห้ามเลือดก่อนที่ผู้ป่วยจะมีอาการช็อกจากการขาดเลือด

  2. สังเกตว่ายังมีบางส่วนของอวัยวะติดอยู่กับร่างกายของผู้ป่วยหรือเปล่า ถ้ายังไม่ขาดออกจากร่างกายทั้งหมด ควรพยุงให้อวัยวะนั้นอยู่ในลักษณะเดิม ไม่ดึงรั้งไปมาทำให้เนื้อเยื่อบริเวณอวัยวะเหล่านั้นเสียหายมากไปกว่าเดิม

  3. ระหว่างที่ผู้ป่วยกำลังได้รับการห้ามเลือด ควรรีบติดต่อโรงพยาบาล สอบถามให้แน่ใจว่ามีแพทย์ที่ช่วยผ่าตัดต่ออวัยวะประจำอยู่ที่โรงพยาบาลหรือไม่ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องย้ายโรงพยาบาลไปมา

  4. เก็บรักษาอวัยวะที่ขาดดังกล่าวเอาไว้อย่างถูกวิธี

 

 

วิธีเก็บรักษาอวัยวะที่ขาด เพื่อนำส่งแพทย์ผ่าตัดต่ออวัยวะ

นำอวัยวะที่ขาดใส่ถุงพลาสติกที่สะอาด รัดปากถุงให้แน่น อย่าให้ของเหลวเข้าไปข้างในถุงได้ จากนั้นนำไปแช่ในกล่อง หรือถุงที่บรรจุน้ำแข็งใส่น้ำ โดยให้อวัยวะทุกส่วนแช่อยู่ในน้ำเย็นทั้งหมด อุณหภูมิที่เหมาะสมในการแช่อวัยวะ คือ 4 องศาเซลเซียส

ไม่ควรแช่อวัยวะในน้ำเย็นโดยตรงโดยไม่ใส่ในถุงพลาสติก เพราะอาจทำให้เซลล์เปื่อยยุ่ย ใช้งานไม่ได้ เสี่ยงติดเชื้อ และแช่ในน้ำแข็งที่ไม่ใส่น้ำ เพราะการสัมผัสกับน้ำแข็งโดยตรงอาจทำให้เซลล์เนื้อเยื่อต่างๆ ตายได้

 

แช่อวัยวะในถุงน้ำใส่น้ำแข็งได้นานเท่าไร?

อวัยวะใหญ่ๆ อย่าง ขา แขน มือ จะสามารถทนการขาดเลือดในถุงลอยในน้ำใส่น้ำแข็งอุณหภูมิ 4 องศาได้นานถึง 6-8 ชั่วโมง ส่วนอวัยวะเล็กๆ อย่างนิ้ว สามารถทนการขาดเลือดได้นานถึง 24 ชั่วโมง ก่อนแพทย์จะนำมาผ่าตัด

 

แช่อวัยวะมาแล้ว ต่ออวัยวะได้แน่นอนหรือไม่?

แม้ว่าการเลือกที่จะเก็บรักษาอวัยวะที่ขาดเอาไว้ให้แพทย์นำมาผ่าตัดต่อจะเป็นเรื่องที่ดีที่ควรทำ แต่ก็ไม่แน่เสมอไปว่าแพทย์จะสามารถผ่าตัดต่ออวัยวะให้กลับมาใช้งานได้ดีเหมือนเดิมได้ เพราะต้องขึ้นอยู่กับสภาพของอวัยวะที่ขาดด้วยว่ามีเนื้อเยื่อ เส้นเลือด เส้นเอ็น กล้ามเนื้อต่างๆ มีความเสียหายมากน้อยแค่ไหน (เช่น กรณีของแขนที่ถูกเครื่องบดหมูทำให้เสียหาย หากเสียหายมากเกินไปก็ยากที่จะทำการผ่าตัด) การเก็บรักษาอวัยวะทำได้ถูกวิธีหรือไม่ ความสะอาดของอวัยวะก่อนทำมาผ่าตัด (เช่น อวัยวะตกลงไปในน้ำคลำหลังจากประสบอุบัติเหตุ) เป็นต้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook