เผยวิธีขอเลข อย. ให้ผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ปลอดภัยมากแค่ไหน?

เผยวิธีขอเลข อย. ให้ผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ปลอดภัยมากแค่ไหน?

เผยวิธีขอเลข อย. ให้ผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ปลอดภัยมากแค่ไหน?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เป็นประเด็นร้อนในสังคมอีกครั้ง เมื่อพบผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดที่เข้าข่ายกระบวนการผลิตไม่ได้มาตรฐาน แถมยังลักลอบผลิตโดยไม่ได้รับอนุญาตอีกด้วย (อ่านเพิ่มเติม >> ทลายแก๊งเครื่องสำอาง-อาหารเสริม “เมจิกสกิน” เงินหมุนเวียนกว่า 100 ล้าน) ทั้งนี้ผู้บริโภคอย่างเราก็ได้รับคำเตือนว่า ก่อนซื้อผลิตภัณฑ์ใดๆ ใหเช็กให้ดีว่ามีเลขทะเบียน อย. หรือไม่ เพื่อเป็นการยืนยันความปลอดภัยว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ ได้ถูกรับรองความปลอดภัยโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยา ขอกระทรวงสาธารณสุขแล้ว แต่อีกเรื่องที่ยังทำให้หลายคนหนักใจ คือ เลขทะเบียน อย. นี้ มีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน ขั้นตอนในการขอเลขทะเบียน อย. ให้กับผลิตภัณฑ์หนึ่งๆ มีความละเอียดมากพอที่จะการันตีความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ได้หรือไม่

ดังนั้น เรามาดูวิธีการขอเลขทะเบียน อย. ให้กับผลิตภัณฑ์ของเราคร่าวๆ กันดีกว่า

 

วิธีขอเลข อย. ให้สินค้า

  1. เตรียมข้อมูลของผลิตภัณฑ์โดยละเอียด

ก่อนจะเริ่มขั้นตอนในการขอยื่นคำร้องเพื่อขอเลขทะเบียน อย. ผู้ประกอบการต้องเตรียมข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการยื่นคำร้องล่วงหน้า เช่น ชนิดของผลิตภัณฑ์ที่จะยื่นขอเลข อย. มีสูตรส่วนผสมอะไรบ้าง ผ่านกระบวนการผลิตอย่างไร บรรจุในภาชนะบรรจุแบบไหน มีฉลากแบบไหน มีชื่ออาหารว่าอะไร ระยะเวลาเก็บรักษา ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย เป็นต้น

 

  1. เตรียมเปิดเผยสถานที่ประกอบการ

ผู้ประกอบการต้องเตรียมเปิดเผยสถานที่ในการประกอบการ สถานที่ผลิตสินค้า โกดังเก็บของ ทุกอย่างจะต้องถูกต้องตามหลักมาตรฐาน GMP  สําหรับอาหารที่นําเข้า ผู้นําเข้าต้องมีหนังสือหรือใบรับรองสถานที่ผลิตอาหารสําหรับการนําเข้าอาหารที่อย่างน้อยเทียบเท่า GMP กฎหมาย และเป็นไปตามประกาศสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยาประกอบการพิจารณา

**GMP คือ ข้อกำหนดพื้นฐานที่จำเป็นในการผลิตและควบคุม เพื่อให้ผู้ผลิตปฏิบัติตามและทำให้สามารถผลิตอาหารได้อย่างปลอดภัย ครอบคลุมถึงหลัก 6 ข้อ ได้แก่

1) สุขลักษณะของสถานที่ตั้ง และอาคารผลิต ไม่มีขยะ น้ำเน่าเสีย หรือสารพิษ สารเคมีที่มีอันตราย

2) เครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ ที่ใช้ในการผลิต ต้องสะอาด และง่ายต่อการทำความสะอาด

3) การควบคุมกระบวนการผลิตต้องได้มาตรฐาน รวมไปถึงควบคุมคุณภาพของน้ำ ฉลาก และบรรจุภัณฑ์

4) การสุขาภิบาล ต้องกำจัดขยะอย่างถูกวิธี ไม่มีสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค บรรจุผลิตภัณฑ์ในห้องที่ปิดมิดชิด

5) การบำรุงรักษาและการทำความสะอาด โดยต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพความสะอาดด้วยน้ำยาเฉพาะ

6) บุคลากร ต้องสวมชุด และอุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสม เช่น หมวกคลุมผม ถุงมือ ที่ปิดปาก จมูก

สามารถศึกษารายละเอียดได้จากระเบียบการและเอกสารทีต้องใช้ประกอบการยื่นขออนุญาตสถานที่ผลิตอาหารได้ที่นี่

 

  1. สำรวจคุณภาพผลิตภัณฑ์อาหาร และยา

ผลิตภัณฑนั้นๆ ต้องมีคุณภาพตามมาตรฐานด้านคุณภาพ และความปลอดภัยที่ อย.กำหนด เช่น ไม่เป็นสินค้าต้องห้ามในการผลิต หรือนำเข้า (เช่น อาหารที่มีความเสี่ยงต่อโรควัวบ้า ปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี บรรจุในหีบห่อที่ไม่ใช่ภาชนะบรรจุอาหาร) ไม่เป็นสินค้าที่ตรวจพบสารตกค้างอันตราย หรือส่วนผสมต้องห้าม เช่น เมลามีน ซัยยานูริก สารปรอท ไฮโดรควิโนน สเตียรอยด์ เรทิโนอิก เป็นต้น

** ผลิตภัณฑ์ที่มีความคาบเกี่ยวว่าจะเป็นอาหาร หรือยา มีข้อพิจารณาดังนี้

1) มีส่วนประกอบที่มีชื่ออยู่ใน พรบ. ยา ที่เป็นได้ทั้งยา และอาหาร

2) มีข้อบ่งใช้เป็นอาหาร

3) ปริมาณการใช้ไม่มากพอที่จะมีฤทธิ์ในการป้องกัน หรือบำบัดรักษาโรค

4) ข้อความฉลาก และโฆษณาอาหารที่ผสมสมุนไพรที่ไม่จัดเป็นยานั้น ต้องไม่มีการแสดงสรรพคุณเป็นยา

 

  1. ลงรายละเอียดในฉลากผลิตภัณฑ์

ผลิตภัณฑ์นั้นๆ ต้องมีข้อมูลของผลิตภัณฑ์ที่สำคัญครบถ้วน มีทั้งชื่อผลิตภัณฑ์ที่จดทะเบียนไว้ ฉลากโภชนาการ แสดงฉลากอาหารที่ได้จากเทคนิคการดัดแปลงพันธุกรรม หรือพันธุวิศวกรรม แสดงว่ามีส่วนผสมของว่านหางจระเข้ ใบแปะก๊วย รายละเอียดส่วนผสม และแสดงเลขทะเบียนอาหาร พร้อมทั้งเลขสารบบอาหาร เป็นต้น

ส่วนใหญ่มักพบว่ามีการทำฉลากอาหารไม่ถูกต้อง ฉลากอาหารมีส่วนสำคัญเพื่อที่จะใช้ในการโฆษณา เรื่องของการกล่าวอ้างสรรพคุณ และประโยชน์ ซึ่งจะต้องมีผลวิเคราะห์รับรองสารอาหารที่กล่าวอ้างถึงบนฉลากอาหาร

รายละเอียดฉลาดผลิตภัณฑ์ คลิกที่นี่

 

  1. ขอจดเลขสารบบอาหาร หรือเลข อย.

การจดเลขสารบนอาหาร หรือ เลข อย. จะมีการแบ่งชนิดตามกลุ่มอาหาร เช่น อาหารทารก วัตถุเจือปนอาหาร จะต้องมีข้อมูลซึ่งขึ้นอยู่กับความเสี่ยงผลกระทบของผู้บริโภคต่ออาหารนั้นๆ จะมีการแบ่งแบบฟอร์ม รวมทั้งระยะเวลาในการพิจารณาข้อมูลประกอบจะมีความแตกต่างกัน โดยการยื่นขอที่ใช้ระยะเวลานานที่สุดคือ กลุ่มอาหารทารก ที่มีระยะเวลาอยู่ที่ประมาณ 1 ปี สำหรับการยื่นขอเลข อย. ในประเภทอาหารธรรมดามีการจดแจ้ง อาหารพร้อมรับประทาน มีระยะเวลาดำเนินการรวดเร็วที่สุดเพียง 1 วันเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม อย.ได้มีการปรับปรุงวิธีการดำเนินการเพื่อขออนุญาตผ่านทางระบบออนไลน์ เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ที่ติดต่อขอยื่นจดเลข อย. โดยผู้ประกอบการสามารถหาข้อมูลและวิธีการจดแจ้ง การดำเนินการยื่นขอ ผ่านทางเว็บไซต์ www.fda.moph.go.th

วิธียื่นขอเลข อย. ผ่าน e-Submission คลิกที่นี่

 aoryornumber

ที่มา : สำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

 

หมายเหตุ : ผลิตภัณฑ์ที่ไม่จำเป็นต้องมีเลข อย. ได้แก่ อาหารไม่แปรรูป หรือเป็นการแปรรูปแบบง่ายๆ ในชุมชน

 

เช็กลิสต์ สำหรับผู้ประกอบการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ และสถานประกอบการของตัวเอง ก่อนให้เจ้าหน้าที่ อยง เข้าตรวจ คลิกที่นี่

 

เมื่อผู้ผลิตได้เลข อย. และทำการพิมพ์แสดงเลข อย. เอาไว้บนฉลากผลิตภัณฑ์แล้ว ผู้บริโภคสามารถนำเลข อย. ไปตรวจในระบบได้ว่าเป็นเลข อย. ที่ถูกต้องหรือไม่

อ่านต่อ >> เช็ก อย. ออนไลน์ ทำได้ไม่ยาก ตรวจสอบสักนิดเพื่อคุณภาพและปลอดภัย

 

จะเห็นได้ว่ากระบวนการในการขอเลข อย. ไม่ง่ายแต่ก็ไม่ยาก ขึ้นอยู่กับผลิตภัณฑ์ และกำลังการผลิตใหญ่แค่ไหน และผู้ผลิตมีการศึกษารายละเอียดก่อนขอเลข อย. มากแค่ไหน หากผลิตภัณฑ์เหล่านั้นผ่านการตรวจตามทุกขั้นตอนตามที่กล่าวมาแล้วจริง ก็น่าจะพิสูจน์ได้ว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ มีความปลอดภัย และน่าเชื่อถือมากพอที่จะสามารถใช้ได้อย่างไร้กังวล ที่เหลือน่าจะเป็นเรื่องของผลลัพท์ และความพึงพอใจหลังการทาน หรือใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นเองมากกว่า ว่าจะเป็นไปอย่างที่โฆษณาหรือไม่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook