รีวิว MG5 ซับคอมแพ็คซีดานเครื่องแรง ช่วงล่างแน่นหนึบ พกฟังก์ชั่นล้ำเกินคาด

รีวิว MG5 ซับคอมแพ็คซีดานเครื่องแรง ช่วงล่างแน่นหนึบ พกฟังก์ชั่นล้ำเกินคาด

รีวิว MG5 ซับคอมแพ็คซีดานเครื่องแรง ช่วงล่างแน่นหนึบ พกฟังก์ชั่นล้ำเกินคาด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     รถยนต์นั่งขนาดซับคอมแพ็คถือเป็นตลาดใหญ่ในบ้านเรา ด้วยระดับราคาที่สามารถเอื้อมถึงได้ง่าย ตัวเลือกในตลาดมีค่อนข้างเยอะ ดีไซน์สวยงามเอาใจคนรุ่นใหม่ รวมถึงอ็อพชั่นภายในที่อัดแน่นมาให้เทียบเท่ารถยนต์รุ่นใหญ่ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้แบรนด์น้องใหม่ในบ้านเราอย่าง ‘MG’ จึงหันมาชิงส่วนแบ่งการตลาดก้อนนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งก็ทำได้ดีซะด้วยสิ!


     เป็นโอกาสอันดีที่ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้เชื้อเชิญทีมงาน Sanook! Auto เข้าร่วมทดสอบรถซับคอมแพ็ค MG5 ใหม่ล่าสุดไกลถึง จ.ภูเก็ต บนเส้นทางทดสอบที่หลากหลายกว่า 250 กิโลเมตร ช่วยให้เราได้เห็นความดีงามของ MG5 คันนี้ได้เป็นอย่างดี

     ในบ้านเราทำตลาด MG5 แบ่งออกเป็นทั้งหมด 4 รุ่นย่อย มาพร้อมเครื่องยนต์ขนาด 1.5 ลิตร โดยแบ่งออกเป็นรุ่นเทอร์โบจำนวน 2 รุ่น และรุ่นไม่มีเทอร์โบอีก 2 รุ่น ได้แก่

  • MG5 1.5 ลิตร รุ่น D
  • MG5 1.5 ลิตร รุ่น X Sunroof
  • MG5 TURBO 1.5 ลิตร รุ่น D
  • MG5 TURBO 1.5 ลิตร รุ่น X Sunroof

     ซึ่งการตกแต่งและอ็อพชั่นภายในของรุ่น D จะแทบเหมือนกันทั้งหมด ต่างกันตรงที่มีเทอร์โบและไม่มีเทอร์โบ เช่นเดียวกับรุ่น X Sunroof จะต่างก็เพียงรายละเอียดปลีกย่อยนิดเดียวเท่านั้น

 

     MG5 ถูกออกแบบภายในคอนเซ็พท์ Brit Dynamic ที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของ MG โดยรวมเอาความโดดเด่นด้านดีไซน์, สมรรถนะ และความปลอดภัยเข้าไว้ด้วยกัน มาพร้อมดีไซน์คล้ายรถสปอร์ตคูเป้ 2 ประตู ด้วยแนวหลังคาที่ลาดเทไปทางด้านหลัง น่าจะถูกใจผู้ที่ชื่นชอบความสปอร์ตอยู่เหมือนกัน

 

     ในรุ่นท็อปสุดซึ่งก็คือ TURBO 1.5L X Sunroof ติดตั้งไฟหน้าแบบโปรเจคเตอร์ฮาโลเจน พร้อม Daytime Running Light ติดตั้งแยกลงมาบริเวณกันชน กระโปรงหน้าออกแบบให้มีรูปทรง V-Shape ลากยาวมาถึงบริเวณโลโก้เอ็มจีบริเวณกระจังหน้า

     ไล่มาทางด้านข้างจะพบกับกระจกมองข้างพร้อมไฟเลี้ยว สามารถปรับ-พับได้ด้วยไฟฟ้า ดีไซน์ด้านข้างออกแบบให้มีกระจกโอเปร่าบริเวณประตูด้านหลัง พร้อมตกแต่งด้วยแถบโครเมียม ทำให้ตัวรถดูยาว และมีราคาขึ้นไม่น้อยเลยทีเดียว

 

     ขณะที่ไฟท้ายออกแบบให้ลากยาวเชื่อมกันทั้งสองข้าง พร้อมไฟตัดหมอกหลังเป็นอุปกรณ์มาตรฐานทุกรุ่น กันชนตกแต่งด้วยสีดำเพิ่มความสปอร์ต พร้อมแถบสะท้อนแสงบริเวณปลายทั้งสองข้าง ไฟเบรกดวงที่ 3 ติดตั้งไว้บริเวณกระจกหลัง

     MG5 มาพร้อมล้ออัลลอยขนาด 16 นิ้ว พร้อมยางขนาด 205/55 R16 ยกเว้นรุ่น 1.5 ลิตร D ไม่มีเทอร์โบเพียงรุ่นเดียว ที่ติดตั้งล้อขนาด 15 นิ้ว พร้อมยาง 195/65 R15 มาให้

 

     เข้ามานั่งภายในห้องโดยสารของ MG5 ก็สัมผัสได้ถึงความกว้างขวางเมื่อเทียบกับรถในระดับเดียวกัน โดยเอ็มจีเคลมไว้ว่ารถคันนี้ อยู่ในระดับ บี กึ่ง ซี-เซ็กเม้นต์ ด้วยความกว้างที่เทียบได้กับรถซี-เซ็กเม้นต์ในตลาดบางรุ่นด้วยซ้ำไป นี่จึงเป็นจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของ MG5 คันนี้

 

     ห้องโดยสารภายในถูกตกแต่งด้วยสีดำหรือเบจตามแต่สีตัวถังภายนอก โดยรุ่น X Sunroof ทั้งรุ่นเทอร์โบและไม่มีเทอร์โบ มาพร้อมเบาะนั่งหุ้มด้วยหนังแท้สลับกับหนังสังเคราะห์ ฝั่งคนขับสามารถปรับระดับได้ 6 ทิศทางด้วยมือ เบาะนั่งฝั่งผู้โดยสารปรับได้ 4 ทิศทาง รวมถึงมีระบบดันหลัง (Lumbar Support) มาให้

     พวงมาลัยมัลติฟังก์ชั่นหุ้มด้วยวัสดุหนังในรุ่น X Sunroof สามารถปรับระดับสูง-ต่ำได้ ปุ่มควบคุมเครื่องเสียงติดตั้งไว้ทางซ้ายมือของพวงมาลัย

 

     ขยับมาทางคอนโซลกลางจะพบกับเครื่องเสียงหน้าจอสัมผัสขนาด 7 นิ้ว รองรับแผ่น MP3 ได้ ติดตั้งระบบนำทางมาให้ทุกรุ่นย่อย รองรับการเชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือผ่าน Bluetooth รวมถึงช่องต่อ USB และ AUX โดยใต้หน้าจอเป็นปุ่มปรับระดับเสียงและช็อตคัตสำหรับเมนูที่ใช้งานบ่อย ช่วยให้ใช้งานขณะขับขี่ได้สะดวกขึ้น เพราะไม่ถึงพึ่งระบบสัมผัสไปเสียทั้งหมด

     จุดเด่นของ MG5 อีกอย่างอยู่ที่ระบบ inkaNet ซึ่งเป็นระบบสื่อสารระหว่างตัวรถและแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนของเจ้าของรถ ช่วยให้สามารถตรวจสอบข้อมูลตัวรถได้ทุกที่ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลกก็ตามผ่านทางมือถือ โดยระบบ inkaNet ของ MG5 สามารถตรวจสอบได้ทั้งความผิดปกติของตัวรถ ซึ่งจะมีการแจ้งไปยังมือถือที่ลงทะเบียนเอาไว้ทันทีหากมีการเคลื่อนที่หรือสตาร์ทรถใดๆ

 

     รวมถึงยังสามารถโยนข้อมูลการนำทางระบบ Google Map ไปยังตัวรถได้ ช่วยให้สามารถวางแผนการเดินทางล่วงหน้าตั้งแต่บนสมาร์ทโฟน ไม่ต้องไปลากๆจิ้มๆบนหน้าจอในรถให้เมื่อยตุ้ม นอกจากนั้น ยังมีระบบ Electronic Fence ช่วยกำหนดรัศมีการใช้งานของรถได้ตั้งแต่ 500 เมตร ถึง 10 กิโลเมตร หากรถเคลื่อนที่ไปไกลกว่าที่กำหนดไว้ก็จะมีการแจ้งเตือนผ่านทาง SMS ทันที ทีนี้หากคุณผู้ชายจะหนีคุณภรรยาเที่ยวอาจจะต้องเซ็ทระบบกันให้ดี ไม่งั้นยุ่งแน่นอน ฮาๆ

     นอกนั้นเป็นฟังก์ชั่นเล็กๆน้อยๆ เช่น ระบบแจ้งอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง โดยสามารถเก็บข้อมูลเป็นรายสัปดาห์และรายเดือนเพื่อไปวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายได้ และระบบเลขาฯส่วนตัว เป็นต้น

     ซึ่งการใช้งานระบบ inkaNet ก็ง่ายมาก เพียงแค่โหลดแอพพลิเคชั่นตัวนี้มาไว้บนสมาร์ทโฟนทั้งแอนดรอยด์ และ iOS จากนั้นก็เชื่อมต่อเข้ากับตัวรถผ่านทางสัญญาณอินเตอร์เน็ตของทั้งตัวรถและมือถือ โดยค่าบริการอินเตอร์เน็ตบนตัวรถนั้น เอ็มจีจะดูแลค่าใช้จ่ายให้เป็นเวลา 5 ปีเต็ม เรียกว่าใช้กันไปจนลืม แต่หากพ้น 5 ปีไปแล้ว ก็เสียค่าบริการตามปกติ ซึ่งป้วนเปี้ยนอยู่แถวหลักร้อยบาทต่อเดือน เช่นเดียวกับอินเตอร์เน็ตบนมือถือนั่นเอง

 

     แผงควบคุมระบบปรับอากาศถูกออกแบบอย่างเรียบหรู ให้ความเย็นรวดเร็วทันใจ สู้กับอากาศร้อนๆของบ้านเราได้สบาย ขณะที่ช่องเสียบ USB และ AUX ถูกติดตั้งไว้ข้างๆกับช่องจ่ายไฟ 12 โวลต์ บริเวณด้านล่างของแผงคอนโซล ขณะที่คอนโซลกลางยังมีช่องวางแก้วน้ำ และสิ่งของสารพัดสิ่งมาให้ รวมถึงกล่องเก็บของที่สามารถใช้เป็นที่วางแขนได้ นอกจากนั้นยังมีช่องจ่ายไฟ 12 โวลต์ให้อีกหนึ่งตำแหน่งสำหรับผู้โดยสารด้านหลังด้วย

 

     จุดเด่นอีกอย่างของ MG5 ก็คือพื้นที่ภายในห้องโดยสารด้านหลัง ที่เรียกว่ากว้างขวางเลยทีเดียวหากเทียบกับค่าตัว สามารถนั่ง 3 คนได้สบายๆ พนักพิงหลังออกแบบให้เอนไปด้านหลังพอสมควร ไม่ตั้งชั้นจนน่าเกลียด แต่น่าเสียดายที่พนักพิงศีรษะมีให้เพียง 2 ตำแหน่งและไม่สามารถปรับระดับความสูงให้เข้ากับสรีระได้ แต่เท่าที่ลองสัมผัสก็ถือว่านั่งสบายใช้ได้ และให้ความรู้สึกโปร่งโล่งพอสมควร หากใช้เป็นรถครอบครัวก็ถือว่าสอบผ่านในเรื่องของพื้นที่ภายใน

     แน่นอนว่ารุ่นย่อย X Sunroof ก็จะต้องมีหลังคาซันรูฟแบบเปิด-ปิดด้วยไฟฟ้ามาให้ สามารถปรับยกตัวแผ่นกระจกขึ้นได้สำหรับระบายอากาศ โดยแผงควบคุมจะอยู่บริเวณเหนือศรีษะจุดเดียวกับไฟส่องสว่างภายในห้องโดยสาร

 

     ขุมพลังของ MG5 มีให้เลือก 2 แบบด้วยกัน โดยทั้งคู่เป็นเครื่องยนต์เบนซินขนาด 1.5 ลิตร ต่างกันที่มีเทอร์โบและไม่มีเทอร์โบ เริ่มจากเครื่องยนต์เทอร์โบ TCI-TECH ที่ให้กำลังสูงสุด 129 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 210 นิวตัน-เมตร ที่มาตั้งแต่ 2,000 รอบต่อนาที ไปจนถึง 4,400 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด พร้อมโหมด Sport และ Manual

     ขณะที่รุ่นไม่มีเทอร์โบจะให้กำลังสูงสุด 106 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 135 นิวตัน-เมตร ที่ 4,500 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด พร้อมโหมด Sport และ Manual เช่นกัน

 

     ช่วงล่างด้านหน้าเป็นแบบอิสระแมคเฟอร์สันสตรัทพร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังแบบทอร์ชั่นบีม H-Type ขณะที่ระบบเบรกเป็นแบบดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อทุกรุ่นย่อย โดยด้านหน้าจะมีช่องระบายความร้อนมาให้

     ระบบความปลอดภัยถือเป็นอีกไฮไลท์ของ MG5 เช่นกัน เพราะถือว่าจัดเต็มไม่แพ้คู่แข่ง ทั้งถุงลมนิรภัยคู่หน้า, ระบบเบรก ABS/EBD, ระบบเสริมแรงเบรก EBA, ระบบควบคุมการทรงตัว SCS, ระบบป้องกันการลื่นไถลเมื่อลดเกียร์ต่ำฉับพลัน MSR, ระบบควบคุมการเบรกขณะเข้าโค้ง CBC, ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี TCS, ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HAS, ระบบเตือนความดันลมยาง ITPMS รวมถึงกล้องมองหลังและเซ็นเซอร์ถอยหลังมาให้ ซึ่งทั้งหมดนี้มีให้ในทุกรุ่นย่อย

 

     ทริปทดสอบครั้งนี้ เราขับจากภูเก็ตไปยังจ.สุราษฎร์ธานี รวมเป็นระยะทางทั้งสิ้นกว่า 250 กิโลเมตร รวมถึงมีช่วงทดสอบอัตราสิ้นเปลืองด้วย จะเป็นอย่างไรไปดูกันครับ

     การทดสอบครั้งนี้ เราได้รับมอบหมายให้ทดสอบรุ่น 1.5L X Sunroof แบบไม่มีเทอร์โบ ซึ่งอย่างที่บอกไปแต่แรกว่าอ็อพชั่นและการตกแต่งแทบจะเหมือนกับรุ่น X Sunroof ที่มีเทอร์โบทุกอย่าง หลักๆก็ต่างกันที่เครื่องยนต์เท่านั้นเอง

     เริ่มเดินทางออกจากจุดสตาร์ท เราก็สัมผัสได้ถึงอัตราเร่งของรุ่น 1.5 ลิตร ตัวไม่มีเทอร์โบ ที่มาแบบสุภาพเสียหน่อย ไม่ได้ดึงจนหวือหวา แต่ก็เพียงพอกับการใช้งานทั่วไป ขณะที่ระบบเกียร์แม้ว่าจะเป็นแบบ 4 สปีด แต่ก็เซ็ทอัตราทดมาให้รองรับการใช้งานทั้งในเมืองและนอกเมือง คือ แม้ตีนต้นจะไม่ถึงกับจัดจ้าน แต่ช่วงความเร็วนอกเมืองระดับ 100-120 กม./ชม. ก็ขับขี่ได้อย่างสบายๆ ไม่ต้องเค้นรอบเครื่องยนต์กันมากมาย

 

     ช่วงล่างของ MG5 ถูกเซ็ทมาค่อนข้างหนึบ ทำให้บุคลิกออกไปในแนวสปอร์ตมากกว่า ซึ่งก็น่าจะเหมาะสำหรับผู้ที่ชอบใช้ความเร็วอยู่แล้ว แต่แม้ว่าจะเซ็ทมาหนึบหนับ แต่จังหวะขับผ่านผิวถนนขรุขระ ก็ไม่ตึงตังจนน่ารำคาญแต่อย่างใด ตัวสปริงยังสามารถดูดซับแรงสะเทือนได้ประมาณนึง ซึ่งก็ถือว่าเหมาะสมกับการใช้งานในชีวิตประจำวันดี

     แต่จุดเด่นที่สัมผัสได้จากช่วงล่างของ MG5 คือจังหวะเข้าโค้งที่ทำได้เนียน และเหนือกว่าคู่แข่งหลายเจ้าในตลาด อาการตัวรถขณะใช้ความเร็วสูงถือว่าจัดการได้ดี ไม่ร่อน หรือโคลงให้หวาดเสียวเลย นับเป็นช่วงล่างที่ไว้ใจได้ตามมาตรฐานยุโรป

 

     นอกจากนั้น ทางเอ็มจียังจัดให้มีทดสอบอัตราสิ้นเปลืองกันด้วย โดยใช้เส้นทางตรงไม่มีสี่แยกไฟจราจร เป็นระยะทางราว 103 กิโลเมตร โดยเราสลับไปขับรุ่นเครื่องยนต์เทอร์โบ 1.5 ลิตร

     การทดสอบครั้งนี้เรามีการเปิด-ปิดเครื่องปรับอากาศเป็นระยะ พร้มใช้ความเร็วขึ้นลงอยู่ที่ ประมาณ 80-110 กม./ชม. สลับกันไป ปรากฏว่าตัวเลขออกมาอยู่ที่ 5.3 ลิตร ต่อ 100 กิโลเมตร หรือกลับเป็นตัวเลขง่ายๆ ก็คือ 18.8 กม./ลิตร ซึ่งถือว่าน่าประทับใจมาก ขณะที่ค่าเฉลี่ยของรุ่นเทอร์โบทั้งหมดที่ร่วมทดสอบจะอยู่ที่ 17.23 กม./ลิตร ก็ยังถือว่าประหยัดอยู่ดี

     ขณะที่รุ่นไม่มีเทอร์โบนั้น มีค่าเฉลี่ยอัตราสิ้นเปลืองที่น่าประทับใจยิ่งกว่า เพราะคันที่ดีที่สุดทำตัวเลขได้อยู่ที่ 19.23 กม./ลิตรเลยทีเดียว

     น่าเสียดายที่การทดสอบครั้งนี้ ผู้เขียนไม่ได้ทดสอบสมรรถนะของรุ่นเครื่องยนต์เทอร์โบกันมากนัก ซึ่งทีมงานจะพยายามนำรถมาทำรีวิวแยกต่างหากเพื่อให้คุณผู้อ่านได้รับทราบกันต่อไปครับ



     สรุป MG5 1.5L X Sunroof (ไม่มีเทอร์โบ) มีจุดเด่นหลายอย่างที่ทำให้กลายเป็นซับคอมแพ็คที่น่าซื้อรุ่นหนึ่ง ทั้งอ็อพชั่นภายใน ความกว้างขวางภายในห้องโดยสารเทียบเท่าซี-เซ็กเมนท์บางรุ่นได้ เหมาะกับใช้งานทั้งขับคนเดียวและใช้กันในครอบครัว รูปลักษณ์ภายนอกสวยงามลงตัว สมรรถนะเครื่องยนต์ใช้ได้ แต่ไม่ถือกับโดดเด่น จะโดดเด่นคงเป็นช่วงล่างที่เซ็ตมาอย่างแน่นหนึบ เหมาะสมกับรถไซส์เล็ก ช่วยให้เป็นรถที่ขับสนุกคันหนึ่งในตลาด



     ราคาจำหน่าย MG5

  • 1.5 D – 649,000 บาท
  • 1.5 X Sunroof – 699,000 บาท *รุ่นที่ใช้ทดสอบ
  • 1.5 TURBO D – 719,000 บาท
  • 1.5 TURBO X Sunroof – 759,000 บาท

 

     ขอขอบคุณผู้บริหารและฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ทุกท่าน ที่ให้เกียรติเชิญเข้าร่วมทดสอบในครั้งนี้ และคอยอำนวยความสะดวกให้เป็นอย่างดี

 

 

 

อัลบั้มภาพ 51 ภาพ

อัลบั้มภาพ 51 ภาพ ของ รีวิว MG5 ซับคอมแพ็คซีดานเครื่องแรง ช่วงล่างแน่นหนึบ พกฟังก์ชั่นล้ำเกินคาด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook