ผู้สูงอายุต้องการให้ลูกหลานมาเยี่ยมมากกว่าให้เงินทอง-ของใช้

ผู้สูงอายุต้องการให้ลูกหลานมาเยี่ยมมากกว่าให้เงินทอง-ของใช้

ผู้สูงอายุต้องการให้ลูกหลานมาเยี่ยมมากกว่าให้เงินทอง-ของใช้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

นิด้าโพลชี้คนไทยเกินครึ่งดูแลผู้สูงอายุบุพการีโดยการให้เงินใช้ประจำ ขณะที่ผู้สูงอายุกลับต้องการให้บุตรหลานเยี่ยมเยียนพูดคุยแทนการให้สิ่งของเงินทอง ส่วนคะแนนความสุขในครอบครัวคนไทยโดยรวมเท่ากับ 8.3 คะแนนเต็ม 10

ศูนย์สำรวจความคิดเห็นของประชาชน นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยผลสำรวจ เรื่อง "ผู้สูงอายุและความห่วงใยดูแล" ช่วงเวลาสำรวจระหว่างวันที่ 27-29 มีนาคม 2553 จากประชาชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ จำนวน 1,180 คน พบว่า ในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ร้อยละ 49.5 มีการพบปะสังสรรค์และทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว 5 ครั้ง/ปี รองลงมาร้อยละ 25 จำนวน 3-5 ครั้ง/ปี ร้อยละ 22.4 จำนวน 1-2 ครั้ง/ปี ที่เหลืออีกร้อยละ 3 ไม่เคยมีการพบปะสังสรรค์และทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัวเลย ในด้านการเอาใจใส่และการดูแลผู้สูงอายุ (พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย) ร้อยละ 51.2 ดูแลผู้สูงอายุในครัวเรือน โดยการดูแลและให้เงินใช้เป็นประจำ ร้อยละ 14.6 ดูแลและให้เงินบ้างเป็นครั้งคราว ร้อยละ 11.7 ดูแลห่วงใยบ้างแต่ไม่เคยให้เงิน และมีอีกร้อยละ 9.6 ที่ไม่เคยดูแล เพราะอยู่ไกลกัน หรือเพราะยุ่งกับการทำมาหากินเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวของตนเอง

สำหรับผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 40.4 ได้รับการดูแลและให้เงินใช้จากบุตรหลานเป็นประจำ มีร้อยละ 8.0 ที่บุตรหลานต้องแยกไปมีครอบครัวหรือไปทำงานต่างถิ่น และมีเพียงร้อยละ 0.6 ที่ระบุว่า ไม่มีบุตรหลาน หรือบุตรหลานเสียชีวิตหมดแล้ว ซึ่งสิ่งที่ผู้สูงอายุต้องการได้รับจากลูกหลานไม่ใช่เงินทองหรือสิ่งของ พบว่า ร้อยละ 51.9 ต้องการให้ลูกหลานมาพูดคุยหรือมาเยี่ยมเยียน และดูแลปรนนิบัติเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย มีเพียงร้อยละ 7.3 ที่ระบุว่าต้องการเงินไว้ใช้

ส่วนการใช้เงินจากโครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของรัฐบาล ผู้สูงอายุ ร้อยละ 65.3 ที่ได้รับเงินจากโครงการ แล้ว ส่วนใหญ่ร้อยละ 41.6 ใช้เงินสำหรับซื้อข้าวของเครื่องใช้/ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และร้อยละ 13.5 เก็บออมเงินที่ได้ไว้

เมื่อถามถึงภาพลักษณ์ผู้สูงอายุในสายตาของเยาวชนในสายตาของเยาวชน (อายุน้อยกว่า 25 ปี) เห็นว่า ผู้สูงอายุเป็นเสาหลัก เป็นที่ยึดเหนี่ยว เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร ให้กำลังใจกับครอบครัว (ร้อยละ 44.5) ให้ความอบอุ่นแก่บุตรหลาน (ร้อยละ 29.2) และประสบการณ์ของผู้สูงอายุ (ปู่-ย่า-ตา-ยาย) เป็นที่พึ่ง ช่วยแก้ปัญหาครอบครัวได้ (ร้อยละ 12.6) ที่เหลืออีกร้อยละ 13.7 เห็นภาพลักษณ์ของผู้สูงอายุในด้านลบ เช่น ขี้งอน ใจน้อย เอาแต่ใจ จู้จี้ขี้บ่น สุขภาพอ่อนแอ ไม่แข็งแรง มีความคิดไม่ทันสมัย

นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้สถาบันครอบครัวเข้มแข็ง อันดับ 1 ร้อยละ 52.2 คือ ความรักและความเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน รองลงมาคือ ความเข้าใจกัน ความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เกื้อกูลกัน การให้กำลังใจและสนับสนุนกันและกัน ในด้านความสุขครอบครัวของคนไทย จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ประชาชนให้คะแนนความสุขของครอบครัวของแต่ละคน โดยมีคะแนนเฉลี่ยของความสุขของครอบครัวโดยรวมทั่วประเทศเท่ากับ 8.3 คะแนน โดยมากกว่าร้อยละ 90 ให้คะแนนความสุขของครอบครัวตั้งแต่ 7 คะแนนขึ้นไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook