"มะเร็งต่อมน้ำเหลือง"ภัยใกล้ตัว...รู้เร็วรักษาได้ !

"มะเร็งต่อมน้ำเหลือง"ภัยใกล้ตัว...รู้เร็วรักษาได้ !

"มะเร็งต่อมน้ำเหลือง"ภัยใกล้ตัว...รู้เร็วรักษาได้ !
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองภัยใกล้ตัว...รู้เร็วรักษาได้
คอลัมน์ รู้ทันโรคมะเร็ง

โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) เป็นโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุด หนึ่งใน 10 อันดับแรกของทั้งประชากรชาวไทยและทั่วโลก อีกทั้งยังเป็นโรคมะเร็งที่พบได้มากที่สุดในกลุ่มของโรคมะเร็งทางโลหิตวิทยาทั้งหมด และจากข้อมูลของ 11 สถาบันทางการแพทย์หลักของประเทศไทยพบว่าในช่วงปี พ.ศ. 2550 - 2552 มีผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองรายใหม่ถึงปีละประมาณ 700 ราย สอดคล้องกับข้อมูลล่าสุดของประเทศสหรัฐอเมริกาที่พบว่าใน พ.ศ.2557 มีผู้ป่วยรายใหม่ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองถึง 80,000 คน (ซึ่งคิดเป็น 5% ของผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมดที่ได้รับการวินิจฉัยใหม่ในปีนั้น)

โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ถือเป็นมะเร็งที่มีการพยากรณ์โรคดีที่สุดชนิดหนึ่ง โดยมีการตอบสนองต่อการรักษาและอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปีอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างสูงถึงประมาณ 50% ของผู้ป่วยทั้งหมด แต่จากข้อมูลของประเทศสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ.2557 ก็ยังพบว่าในมีผู้ป่วยที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองถึงปีละ 20,000 คน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแนวทางการรักษาและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนี้ ยังต้องการวิทยาการใหม่ๆ เพื่อพัฒนาการรักษาและช่วยเหลือให้ผู้ป่วยมีอัตรารอดชีวิตที่ดียิ่งขึ้นต่อไป

โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง(Lymphoma)สามารถแบ่งออกเป็น2ชนิดหลักคือ Hodgkin และ Non-Hodgkin lymphoma (HL and NHL) ผู้ป่วยส่วนมากถึง 90% เป็นชนิด NHL กลุ่มโรค NHL ยังสามารถแบ่งย่อยลงไปได้อีก 2 ประเภทใหญ่คือ B-cell และT/NK-cell lymphomaโดยทั้ง 2 กลุ่มนี้มีแนวทางการรักษาพื้นฐานที่คล้ายคลึงกัน แต่อัตราการตอบสนองของผู้ป่วยกลุ่ม B-cell จะได้ผลดีกว่า T/NK-cell NHLอย่างชัดเจน (อัตราการสงบของโรคหลังการรักษาเท่ากับ 67%และ 37%ส่วนอัตราการสงบของโรคที่ 5 ปีเท่ากับ 45%และ 22%ตามลำดับ

นอกจากนี้ ยังมีการค้นพบยาที่สามารถออกฤทธิ์จำเพาะต่อผิวเซลล์มะเร็งสำหรับกลุ่มโรค B-cell NHL ส่งผลให้ผลตอบสนองต่อการรักษาของผู้ป่วยในกลุ่มนี้ดีขึ้นเรื่อยๆ ในทางตรงกันข้าม เรายังไม่สามารถผลิตยาที่ออกฤทธิ์จำเพาะและเหมาะสมที่จะนำมาใช้สำหรับกลุ่มโรค T/NK-cell NHL และอีกสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลให้การวิจัยเพื่อพัฒนาแนวทางการรักษาผู้ป่วยในกลุ่มนี้มีไม่มาก

เนื่องจากอุบัติการเกิดโรคของ T/NK-cell NHLยังพบในสัดส่วนที่น้อยกว่า B-cell NHLมาก โดยจะพบในประเทศแถบเอเชียมากกว่าในยุโรปและอเมริกาถึงเกือบเท่าตัว (20-30%และ 10-20%ตามลำดับ) อย่างไรก็ตาม สถาบันการแพทย์หลักของประเทศไทย รวมทั้งโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ก็ได้พยายามรวบรวมข้อมูลและทำการวิจัยเพื่อพัฒนาแนวทางการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองประเภทนี้ ซึ่งพบเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างมากในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย ให้ได้ผลการรักษาที่ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การประเมินระยะของโรคและการติดตามการรักษาด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ถือเป็นกระบวนการที่สำคัญประการหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมและพอเพียงในปริมาณที่ไม่มากหรือน้อยเกินไป ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอัตราการสงบของโลกได้มากและนานที่สุด โดยได้รับการรักษาและผลข้างเคียงจากการรักษาที่น้อยที่สุด การประเมินระยะของโรคสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่ใช้ทั่วไปในปัจจุบันนี้คือ Computed tomography (CT) ซึ่งเป็นการตรวจที่แสดงโครงสร้างทางกายภาพ รวมถึงตำแหน่งและขนาดของรอยโรคภายในร่างกายซึ่งอาจไม่สามารถประเมินได้ด้วยการตรวจร่างกายทั่วไป

แต่เนื่องจากปัจจุบันนี้มีวิวัฒนาการทางเทคโนโลยี ที่ช่วยประเมินสภาวะความผิดปกติของเซลล์ในระดับเมตาบอลิสม เรียกว่าPositron Emission Tomography (PET)โดยหลักการว่าเซลล์มะเร็งซึ่งมีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง จะมีอัตราการใช้พลังงานมากกว่าเซลล์ร่างกายปกติ และเมื่อเราฉีดน้ำตาลสังเคราะห์เข้าไปในเส้นเลือดของผู้ป่วย เครื่อง PET จะสามารถตรวจจับการเรืองแสงของสารรังสีที่ติดอยู่กับโมเลกุลของน้ำตาลสังเคราะห์ที่ฉีดเข้าไป โดยการทำ PET/CT เครื่องจะนำภาพการเรืองแสงของ PET มารวมกับภาพทางกายภายของ CT ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถบอกได้ว่าก้อนต่อมน้ำเหลืองนั้นๆ ภายในร่างกายของผู้ป่วย มีอัตราการแบ่งตัวของเซลล์มากน้อยเพียงใด

นอกจากนี้ การประเมินภายหลัง จากผู้ป่วยได้รับการรักษา ยังสามารถบอกอัตราการตอบสนองต่อการรักษาของก้อนมะเร็งได้อย่างชัดเจนมากขึ้น และครอบคลุมทั่วทั้งร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้าในผู้ป่วยทุกราย ต่างจากการทำ CT scan โดยทั่วไปซึ่งแพทย์ต้องเป็นผู้ระบุว่า ผู้ป่วยราย นั้นๆ จำเป็นต้องได้รับการประเมินในส่วนใดของร่างกาย (โดยทั่วไปจะประเมินในช่องอกและช่องท้องเป็นหลัก ซึ่งอาจรวมถึงช่วงคอถ้ามีรอยโรคในบริเวณดังกล่าวร่วมด้วย) รวมถึงผู้ป่วยที่มีต่อมน้ำเหลืองเริ่มต้นขนาดใหญ่ เครื่อง PET/CT จะสามารถบอกได้ว่าก้อนที่เหลืออยู่ภายหลังการรักษานั้น เป็นเพียงแค่พังผืด หรือยังมีเซลล์มะเร็งที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาและยังต้องการการรักษาอื่นๆเพิ่มเติมต่อไป โดยปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยจะได้รับจากการทำ PET/CT นั้น น้อยกว่าหรือเท่ากับการทำ CT ทั่วไป ทั้งนี้ เนื่องจาก PET/CT scan ยังเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีราคาสูงกว่า CT scan ค่อนข้างมาก

สำหรับผู้ที่สนใจ ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เชิญร่วมฟัง Healthy Talks "มะเร็งต่อมน้ำเหลือง รู้เร็ว รักษาได้" โดย ทีมแพทย์ รพ.จุฬาภรณ์ ในวันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน 2558 เวลา 12.00 - 12.50 น. ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook