หมอเบาหวานตอบเอง "พ่อแม่เป็นเบาหวาน" ลูกจะรอดจากการเป็นเบาหวานได้หรือไม่

"เบาหวาน"... เพียงแค่ได้ยินชื่อ โรคเรื้อรังนี้ก็สร้างความกังวลใจให้กับใครหลายคน เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถจัดการกับระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างเหมาะสม นำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่ซับซ้อนและอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาว ไม่มีใครปรารถนาที่จะเผชิญกับโรคนี้ และความกังวลใจยิ่งทวีคูณเมื่อบุคคลอันเป็นที่รักอย่างคุณพ่อ คุณแม่ ต้องเผชิญกับเบาหวาน คำถามที่มักผุดขึ้นในใจคือ "เมื่อท่านเป็น แล้วเราจะหลีกเลี่ยงชะตากรรมเดียวกันได้หรือไม่?" หรือ "การมีประวัติครอบครัวเป็นเบาหวาน หมายความว่าเราจะต้องเป็นเบาหวานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยใช่หรือไม่?"
นายแพทย์เอกลักษณ์ วโนทยาโรจน์ ผู้อำนวยการศูนย์เบาหวาน ไทรอยด์ และต่อมไร้ท่อเทพธารินทร์ มีคำอธิบายในเรื่องนี้ดังนี้
"จริงๆ แล้วในส่วนของกรรมพันธุ์มันคือส่วนที่แก้ไม่ได้ ผมมักจะอธิบายว่า เวลาที่เรามีกรรมพันธุ์เป็นเบาหวาน ก็เหมือนเรามีถนนที่มีปลายทางเดินไปสู่เบาหวาน เพราะเราได้กรรมพันธุ์ชุดเดียวกันกับพ่อแม่เรา เพียงแต่ว่าถนนเส้นที่นำไปสู่ปลายทางเบาหวานนี้ ตัวเราเองเป็นคนกำหนดก้าวเดิน พฤติกรรมของเรามีส่วนมาก ถ้าเรารู้ว่าเรามีความเสี่ยง เราก็ปรับในส่วนพฤติกรรมที่เราทำได้
ผมมักจะบอกว่าใครที่รู้ทั้งรู้ว่ามีคนในบ้านเป็นเบาหวานแล้วยังไม่ดูแลตัวเอง ถนนเส้นนี้จะทำให้เราถึงปลายทางเร็วมาก เหมือนเราขึ้นทางด่วน เพราะคนพวกนี้เหมือนมี 2 กรรมครบเลยมันก็จะเป็นเร็วหน่อย
แต่ถ้าตรงข้ามต่อให้เราอยู่บนถนนเบาหวาน แต่ถ้าเราตั้งใจดูแลตัวเอง ออกกำลังกาย เลือกทานอาหาร คุมน้ำหนักตัว ถนนเส้นนี้เราไม่เดินก็ได้ เราจะเดินย้อนกลับก็ได้ ดังนั้นไม่จำเป็นว่าคนที่มีพ่อแม่เป็นเบาหวานจะต้องจบด้วยการเป็นเบาหวานเสมอไป สุดท้ายแล้วก้าวเดินเราเป็นคนกำหนดเอง
อย่างไรก็ตามโรคเบาหวานมีปัจจัยทำให้เกิดโรคกว้างมาก พฤติกรรมเป็นตัวหลัก แต่จริงๆ มีปัจจัยร่วมอีกมากมาย ที่จะทำให้คนๆ นึงกลายเป็นเบาหวานได้ บางคนปรับพฤติกรรมเต็มที่แล้วก็เป็นเบาหวาน บางคนไม่ได้ทำอะไรผิดเลยแต่เป็นโรคบางโรค หรือได้ยาบางอย่างที่ไปกระตุ้นให้เกิดน้ำตาลและกลายเป็นเบาหวานขึ้นมาก็มี ดังนั้นปัจจัยกว้างมาก ปัจจุบันเราจึงมองเป็นภาพใหญ่มากกว่า เราลดความเสี่ยงได้ แต่เราไม่ได้มีตัวเลขให้"