"เจ้าฟ้าหญิงสิริวัณณวรีฯ" ทรงถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการพัฒนาผ้าไทยจากสีย้อมธรรมชาติเพื่อความยั่งยืน

"เจ้าฟ้าหญิงสิริวัณณวรีฯ" ทรงถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการพัฒนาผ้าไทยจากสีย้อมธรรมชาติเพื่อความยั่งยืน

"เจ้าฟ้าหญิงสิริวัณณวรีฯ" ทรงถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการพัฒนาผ้าไทยจากสีย้อมธรรมชาติเพื่อความยั่งยืน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงตั้งพระทัยแน่วแน่ที่จะอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมผ้าทอในแต่ละท้องถิ่น พร้อมพัฒนาต่อยอดจากภูมิปัญญาดั้งเดิมให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้น ด้วยองค์ความรู้ใหม่ซึ่งบรรจุอยู่ในหนังสือแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย หรือ  THAI TEXTILES TREND BOOK Spring/Summer 2022 เล่มแรกที่ทรงมีพระราชดำริให้จัดทำขึ้น โดยทรงรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการบริหาร ทรงค้นคว้าองค์ความรู้ และควบคุมการผลิตทุกขั้นตอนด้วยพระองค์เอง ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ต่อเนื่องมาถึงเล่มที่ 2 THAI TEXTILES TREND BOOK Autumn/Winter 2022-2023 ในการนี้ได้เสด็จไปทรงเปิดงาน “THAI TEXTILES TREND BOOK Autumn/Winter 2022-2023 และงานเสวนาวิชาการ” ซึ่งจัดโดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการ  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาภาพลักษณ์ผ้าไทยสู่สากล ประจำปี 2564 พร้อมทอดพระเนตรนิทรรศการ และทรงเป็นประธานในงานเสวนาวิชาการ ที่ศูนย์การค้าไอคอนสยาม กรุงเทพมหานคร เมื่อวันก่อน


และเพื่อเป็นการแบ่งปันองค์ความรู้ดังกล่าวให้แก่นักศึกษา ผู้ประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมสิ่งทอ แฟชั่น และงานดีไซน์ ในระดับภูมิภาค ได้ใช้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผ้าไทย จึงมีการจัดงานเสวนาวิชาการหนังสือแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย เล่มที่ 2 Thai Textiles Trend Book Autunm/Winter 2022-2023 ณ จังหวัดมหาสารคาม



โอกาสนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปทรงเป็นประธานงานเสวนาวิชาการ “การส่งเสริมและพัฒนาภาพลักษณ์ผ้าไทยสู่สากล” พร้อมทอดพระเนตรนิทรรศการแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย โดย 12 แบรนด์ไทยดีไซเนอร์ชั้นนำ รวมถึงการจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทย ผลิตภัณฑ์จากโครงการศิลปาชีพ และงานหัตถกรรมชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมี สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม สมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมพัฒนาชุมชน เกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีในพระบรมราชินูปถัมภ์ฯ/นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ผศ.ดร.ศศิธร จันทมฤก ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน รศ.ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ข้าราชการ และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เฝ้าฯ รับเสด็จ เมื่อวันเสาร์ที่ 29 มกราคม 2565 เวลา 12.00 น. ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม



สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระราชดำรัสในงานเสวนาวิชาการ หัวข้อ “การส่งเสริมและพัฒนาภาพลักษณ์ผ้าไทยสู่สากล” เกี่ยวกับเทรนด์บุ๊กเล่มที่ 2 ที่นำเสนอกลุ่มโทนสีใน 6 ทิศทางหลัก ซึ่งใช้เป็นแนวทางในการผลิตและพัฒนาผ้าไทยในตลาดยุคปัจจุบัน มีใจความสำคัญโดยสรุปว่า เทรนด์บุ๊กเล่มแรกประสบความสำเร็จมากในแง่ของผลตอบรับ อุตสาหกรรมสิ่งทอเกิดความกระปรี้กระเปร่าในการผลิต เกิดกระแสและพลังงานที่ดีในการออกแบบ ถือเป็นการเริ่มต้นพัฒนา ทั้งเรื่องสีและองค์ความรู้ใหม่ๆ รู้สึกปลาบปลื้มที่เรามีหนังสือวิชาการด้านแฟชั่นอย่างจริงจังเสียที ในการนำไปใช้ทำการเรียนการสอน หรือใช้ประกอบอาชีพ หนังสือเล่มนี้สีสวย ครบรส และจะไม่น่าเบื่ออีกต่อไป 



“เล่มแรกได้แนะนำเรื่องลวดลายผ้าเป็นหลัก สำหรับเล่มที่ 2 คอลเลกชั่น Autumn / Winter 2022-2023 หรือเสื้อผ้าสำหรับฤดูหนาวนี้ เน้นนำเสนอเกี่ยวกับโทนสีและใช้วัสดุย้อมสีจากธรรมชาติ ลดการใช้สีเคมี ดีต่อคนและสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกว่า “Circular Colours”  ซึ่งกำลังเป็นแทนด์โลก พอเรานำมาใช้จะเรียกว่า “Circular Thai”  ด้วยวัสดุย้อมสีทีมีในท้องถิ่น โดยเฉพาะ “คราม” ซึ่งเป็นสีย้อมเย็นที่ทั่วโลกมีการใช้อย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น อเมริกา อินเดีย เพียงแต่เฉดสีอาจแตกต่างกันไปตามสภาพอากาศหรือภูมิประเทศ สำหรับบ้านเราครามถือเป็นราชาแห่งการย้อม ( King of Dye) และเป็นหัวใจของสีย้อมเลยก็ว่าได้เมื่อนำไปผสมผสานกับวัสดุย้อมธรรมชาติต่างๆ เช่น ผสมกับ ครั่ง, เข, ดาวเรือง, ประดู่, เปลือกมะพร้าว, แก่นขนุน ก็จะได้เฉดสีที่หลากหลาย จำแนกเป็นกลุ่มโทนสี 6 ทิศทาง ไม่ว่าจะเป็น ม่วงแดง น้ำเงินเข้ม เขียว น้ำตาล เหลือง และ เทา แล้วกำหนดเป็นสูตรเบอร์สีที่ตรงกับสากล ใช้ทดแทนสีเคมีได้ ซึ่งรวบรวมไว้อย่างพร้อมสรรพในเล่มนี้”



นอกจากนี้ ภายในเล่มยังแนะนำ 6 เทคนิคพื้นฐานการผลิตผ้าไทย ได้แก่ ยกดอก ขิด จก ปัก มัดหมี่ ด้น เกาะหรือล้วงและ แพตช์เวิร์ก ซึ่งปีนี้ได้เน้น 2 เทคนิคสำคัญคือ แพตช์เวิร์กและการด้น เหมาะกับการผลิตเสื้อผ้าคอลเลกชั่นฤดูหนาว อย่างแพตช์เวิร์กหรือการนำชิ้นผ้าหลากสีมาเย็บต่อเข้าด้วยกันจะพบในภาคเหนือ โดยเฉพาะชาวเขาเผ่าต่างๆ ที่นิยมทำกันมาก ส่วนการด้นมือพบได้ในหลายภูมิภาค นำมาใช้ในการผลิตผ้าห่มบุนวมหรือชุดกีฬา เป็นต้น



“อุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่นเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน เทรนด์บุ๊กเล่มนี้จะสอนเรื่องการลดใช้ทรัพยากร หรือใช้แล้วต้องปลูกทดแทน ใช้วัสดุที่คุ้นเคยอย่างคุ้มค่าที่สุด เพื่อลดการเกิดของเสีย ซึ่งภูมิปัญญาไทยเรื่องการย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติจากวัสดุที่มาจากธรรมชาติช่วยแก้ปัญหาได้ แต่ต้องทำอย่างจริงจัง หวังว่าจะเป็นหนังสือที่อ่านแล้วเพลิดเพลินและเป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรมสิ่งทอ แฟชั่น และดีไซน์ ก่อนจะมีเทรนด์บุ๊กเล่มต่อๆ ไป”


ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีรับสั่งเป็นนิจว่า อยากให้มีการจัดงานยังภูมิภาคเริ่มจากจังหวัดมหาสารคาม พร้อมกับทรงเน้นย้ำว่าคำศัพท์แฟชั่นต้องพูดบ่อยๆ เพื่อให้นักศึกษาที่ทำงานด้านนี้หรือผู้ประกอบการได้เข้าใจ ซึมซับ และคุ้นเคยให้มากที่สุด และทั้งหมดสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากเทรนด์บุ๊กเล่มนี้


สำหรับกิจกรรมสัญจรที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามในครั้งนี้ คณะที่ปรึกษาในการจัดทำเทรนด์บุ๊กตั้งแต่เล่มแรกจนมาถึงเล่มที่ 2 ไม่ว่าจะเป็น กุลวิทย์ เลาสุขศรี,  ธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ และ วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ต่างมุ่งมั่นตั้งใจทำงานเพื่อให้ออกมาอย่างดีที่สุด ซึ่งเบื้องต้นการโรดโชว์ไปยังภูมิภาคที่จังหวัดมหาสารคามมีการวางแผนดำเนินการคู่ขนานกับการจัดงานที่กรุงเทพมหานคร แต่ด้วยปัญหาและอุปสรรคจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงมีการเลื่อนจัดงานเรื่อยมา


ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดหนังสือแบบ e-book ได้ทาง http://www.culture.go.th หรือที่ link http://book.culture.go.th/ttt2022/mobile/index.html#p=1 หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม โทร. 02-247-0013 ต่อ 4305 และ 4319 - 4321 ในวันและเวลาราชการ

อัลบั้มภาพ 24 ภาพ

อัลบั้มภาพ 24 ภาพ ของ "เจ้าฟ้าหญิงสิริวัณณวรีฯ" ทรงถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการพัฒนาผ้าไทยจากสีย้อมธรรมชาติเพื่อความยั่งยืน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook