รู้จัก "ท้องนอกมดลูก" ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นในช่วงตั้งครรภ์

รู้จัก "ท้องนอกมดลูก" ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นในช่วงตั้งครรภ์

รู้จัก "ท้องนอกมดลูก" ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นในช่วงตั้งครรภ์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หนึ่งในความกังวลของผู้หญิงทุกคนที่กำลังอยู่ในช่วงตั้งครรภ์ก็คือการมีภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เกิดขึ้น โดยเฉพาะการท้องนอกมดลูก เพราะนอกจากจะเป็นอาการที่ไม่สามารถรับรู้ได้ด้วยตัวเองแล้ว อาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการท้องนอกมดลูกยังไม่มีความแตกต่างไปจากอาการที่แสดงออกเหมือนคนท้องทั่วไปอีกด้วย วันนี้เราจึงขอนำเนื้อหาที่น่าสนใจเกี่ยวกับอาการท้องนอกมดลูกมาแชร์ให้คุณแม่ทุกคนได้ทำความเข้าใจกันค่ะ

ท้องนอกมดลูก คืออะไร

ท้องนอกมดลูก คือ การที่ไข่ได้รับการปฏิสนธิ แต่ไม่มีการเคลื่อนลงมาฝังตัวที่มดลูก จึงเกิดการค้างอยู่ที่บริเวณท่อนำไข่ ซึ่งคุณแม่ตั้งครรภ์จะเริ่มสังเกตอาการต่างๆ ได้เมื่ออายุครรภ์ประมาณ 8 สัปดาห์ โดยอาการที่แสดงออกจะมีอาการปวดท้องเฉียบพลัน วิงเวียนศีรษะ ความดันต่ำ และมีเลือดออกที่อวัยวะเพศ นอกจากนี้การท้องนอกมดลูกถือเป็นสิ่งที่มีผลกระทบต่อจิตใจของคุณแม่อย่างมาก เพราะคุณแม่จำเป็นต้องเอาเด็กออก ซึ่งคุณแม่จำเป็นที่จะต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวและจิตใจในการสูญเสียครั้งนี้มากเลยทีเดียว แต่ทั้งนี้อาการท้องนอกมดลูกพบได้ไม่บ่อยนัก แต่ก็ถือเป็นอาการที่อันตรายมากๆ เนื่องจากไข่จะยังคงติดอยู่ที่รังไข่หรืออวัยวะภายในช่องท้องส่วนล่างนั่นเอง หากตัวอ่อนยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ก็อาจจะทำให้อวัยวะเกิดการฉีกขาด และทำให้มีเลือดออกเป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งสร้างความเจ็บปวดให้กับคุณแม่จนไม่สามารถอธิบายได้เลย

อาการท้องนอกมดลูก

โดยปกติแล้วอาการท้องนอกมดลูกที่เป็นอาการหลักๆ ก็คือ ประจำเดือนขาด ปวดท้องน้อย และมีเลือดออกทางช่องคลอด แต่ทั้งนี้ยังมีอาการอื่นๆ อีกมากมายซึ่งคุณแม่ตั้งครรภ์สามารถสังเกตได้ดังนี้

1.มีอาการปวดบริเวณอุ้งเชิงกราน

2.มีเลือดไหลออกจากช่องคลอดในปริมาณมาก

3.มีอาการปวดไหล่ ปวดคอ และปวดบริเวณทวารหนัก

4.มีอาการหน้ามืดจะเป็นลม

5.เกิดภาวะช็อค

6.ประจำเดือนขาด

7.เจ็บหน้าอก

8.มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ

ผู้ที่มีความเสี่ยงเผชิญกับการท้องนอกมดลูก

สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงกับการท้องนอกมดลูกแบ่งได้ดังนี้

1.เคยมีประวัติท้องนอกมดลูกมาก่อน

2.ตั้งครรภ์ในช่วงที่มีอายุมากแล้ว

3.ติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน

4.เคยผ่านการผ่าตัดในอุ้งเชิงกราน

5.กินยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสโตรเจน

6.ใส่ห่วงอนามัย

7.ใช้เทคโนโลยีช่วยในการตั้งครรภ์

8.รังไข่และท่อนำไข่มีความผิดปกติ


วิธีการรักษาอาการท้องนอกมดลูก

สำหรับวิธีการรักษาอาการท้องนอกมดลูกนั้น สามารถรักษาได้โดยที่ไม่ต้องอาศัยการผ่าตัด แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและอายุครรภ์ของคุณแม่ตั้งครรภ์แต่ละคนด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีวิธีการรักษาอาการท้องนอกมดลูกอื่นๆ ดังนี้

1.ใช้ยารักษาอาการต่างๆ ให้เหมาะสมตามอาการของผู้ป่วย

2.ใช้วิธีการผ่าตัด ซึ่งแพทย์จะทำการผ่าตัดผ่านกล้อง

3.รักษาภาวะแทรกซ้อน

จะเห็นได้ว่าการท้องนอกมดลูกคือหนึ่งในปัญหาสุขภาพที่ไม่สามารถป้องกันได้ 100% แต่ทั้งนี้ผู้หญิงทุกคนที่กำลังเตรียมตัวในการตั้งครรภ์ก็สามารถลดความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่ออวัยวะในช่องท้องและระบบสืบพันธุ์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย การงดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ หรือหมั่นสังเกตอาการต่างๆ ที่เป็นสัญญาณสำคัญ รวมทั้งวางแผนการดูแลครรภ์ให้ดีนั่นเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook