พ่อแม่ควรรู้! เทคนิคสร้างความไว้วางใจแก่ลูก

พ่อแม่ควรรู้! เทคนิคสร้างความไว้วางใจแก่ลูก

พ่อแม่ควรรู้! เทคนิคสร้างความไว้วางใจแก่ลูก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ความไม่ลงรอยกันระหว่างพ่อแม่ลูก เป็นปัญหาใหญ่ที่หลายๆ บ้านเผชิญ ความสัมพันธ์ระหว่างกันที่ไม่ค่อยจะสู้ดี ทำให้พูดคุยกันดีๆ ได้ไม่เกิน 5 นาที บรรยากาศก็เริ่มเปลี่ยน อารมณ์เริ่มคุ บางทีกินข้าวอยู่ก็ถึงขั้นลุกหนีจากโต๊ะกินข้าวไปดื้อๆ ทั้งที่ยังกินไม่อิ่ม จนทำให้บ้านเป็นสถานที่ที่ไม่น่าอยู่และไม่ใช่ที่ปลอดภัยสำหรับใครหลาย ๆ คน

จริงๆ แล้วไม่มีใครที่อยากจะเป็นคนไม่ดีจากจิตใต้สำนึก แต่ทุกอย่างมันมาจากการเลี้ยงดูและสภาพแวดล้อมที่พวกเขาเติบโตมา สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่พ่อแม่สามารถกำหนดได้ แต่ละเลยและไม่ให้ความสำคัญมากกว่า การอยู่ร่วมชายคาเดียวกันจึงเป็นเรื่องที่ทรมาน บั่นทอนจิตใจกันไปมา และทำลายความเชื่อใจกันลงไปอย่างช้าๆ

ฉะนั้น หากจะเริ่มต้นสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ มันก็ควรจะเริ่มจากคนเป็นพ่อเป็นแม่ก่อน พ่อแม่เป็นคนที่กำหนดบรรยากาศในบ้านและความสัมพันธ์ได้ แน่นอนว่ามันต้องเริ่มกำหนดมาตั้งแต่ที่คิดจะเป็นพ่อเป็นแม่คน การเป็นพ่อเป็นแม่นั้นไม่ง่าย การเลี้ยงดูลูกก็ไม่ง่ายเช่นกัน

ถึงบางคนจะไม่ได้ตั้งใจมีลูก แต่ในเมื่อมีเขาแล้วก็ควรปฏิบัติต่อเขาให้เหมือนที่มนุษย์คนหนึ่งสมควรได้รับ ไม่ใช่วางอำนาจว่าตัวเองเป็นพ่อแม่แล้วจะทำอะไรก็ได้โดยไม่ผิด ต้องระวังว่าลูกก็มีจิตใจ เราไม่ชอบให้ใครทำอะไรกับเรา คนอื่นก็ไม่ชอบเหมือนกัน ที่สำคัญ พ่อแม่ก็เคยเป็นเด็กมาก่อน น่าจะรู้ดีว่าการปฏิบัติอย่างไรที่ทำร้ายจิตใจลูก

Tonkit360 มีคำแนะนำเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการสร้างความไว้วางใจแก่ลูกที่พ่อแม่ควรรู้ เพื่อให้บรรยากาศในบ้านน่าอยู่ และความสัมพันธ์ไม่ย่ำแย่จนกลายเป็น “บ้านแตก” ไปก่อนมาฝาก


ฟังให้มากกว่าพูด ฟังให้จบก่อนเสมอ
ปัญหาโลกแตกของความสัมพันธ์พ่อแม่ลูก ที่ทำให้พวกเขาไม่อยากที่จะคุยหรือปรึกษาปัญหากับพ่อแม่ คือการที่พ่อแม่ตั้งแง่กับลูกก่อนที่จะได้อ้าปากพูด ขัดใจนิดก็สวนขัดจังหวะขึ้นมา ฟังยังไม่จบก็ตัดสินแล้ว ไม่ก็จับผิดไป เทศนาไป พ่อแม่บางคนฟังแบบผ่าน ๆ ตัดรอน ไม่สนใจ ทั้งที่ลูกมาคุยด้วยก็ควรตั้งใจฟังแบบจริงจัง ฟังด้วยใจที่เป็นกลาง ไม่อคติ อย่าเพิ่งด่า โตแล้วพูดกันดี ๆ ก็ได้ ฟังจบค่อยแนะนำแล้วให้เขาคิดต่อว่าจะทำอย่างไร ถ้าเขาคิดเองเขาจะรู้สึกดีมากกว่าถูกสั่งให้ทำ แรงต่อต้านจะน้อยลง อย่าทำให้ลูกรู้สึกว่าไม่น่าเลย และเป็นครั้งสุดท้ายที่เขาจะยอมคุยด้วย


เคารพและให้เกียรติความคิด ความรู้สึก ความเห็นทุกอย่างอย่างของลูก
ไม่มีใครในโลกนี้ชอบการถูกหักหน้า ประจานความลับ หรือถูกเอาไปเปรียบเทียบกับคนอื่นหรอก ยิ่งกับคนที่เป็นพ่อแม่ด้วยแล้ว ลูกจะรู้สึกว่าตัวเองถูกหักหลัง ถ้ามองข้ามสถานะพ่อแม่ลูกหรือวัย ก็ให้มองว่าลูกก็เป็นมนุษย์ที่ต้องการคนรับฟัง เคารพและให้เกียรติสิ่งที่เขาทำ อันที่จริงลึก ๆ แล้วลูกทุกคนคิด (หรือหวัง) ว่าพ่อแม่คือคนที่เขาเชื่อใจได้และไว้ใจมากที่สุด ธรรมชาติของวัยรุ่นมักเลือกที่จะปรึกษาเพื่อน ถ้าเขายอมลดอีโก้มาปรึกษาพ่อแม่ แปลว่ามันเป็นเรื่องสำคัญ จึงไม่ใช่ความคิดที่ดีที่จะทำให้เขาหมดศรัทธา หมดความเชื่อใจ หรือหมดความหวังในตัวพ่อแม่


จริงใจ เชื่อใจ และไว้ใจ
ไม่ได้หมายความว่าให้ออกโรงแก้ตัวว่าลูกฉันเป็นคนดี ถ้าผิดก็ว่าไปตามผิด แต่ก่อนที่จะตัดสินว่าผิดหรือถูกก็ให้ย้อนกลับไปว่าเราฟังเขาพูดมากพอหรือยัง พยายามเชื่อใจเขาให้ถึงที่สุด (แต่ไม่ใช่หลับหูหลับตาเชื่อ) จากนั้นค่อย ๆ ตะล่อมให้เขาพิสูจน์ถ้าไม่ได้ผิดจริง แต่ถ้าผิดก็ต้องถูกลงโทษ พ่อแม่ช่วยลูกหนีความผิดไม่ได้ ทว่าเป็นกำลังใจและให้อภัยเขาได้ หรือไม่ว่าเขาจะทำอะไรก็ให้ไว้ใจก่อนว่าเขาสามารถทำได้ ดูห่าง ๆ อย่างห่วง ๆ เพียงเท่านี้เขาก็จะรู้สึกว่าพ่อแม่เป็นคนที่เชื่อใจและพึ่งพาได้เสมอ ความสัมพันธ์มันก็จะไม่แย่อย่างที่คิด


เหตุผลต้องมาก่อนอารมณ์
ด้วยวัยที่ห่างกัน สภาพแวดล้อมที่เติบโตมาต่างกัน บางเรื่องที่ลูกนำมาพูดคุยอาจจะฟังแล้วไม่เข้าท่า ทำเอาอารมณ์พุ่งปรี๊ด ไมเกรนขึ้น แต่อย่างที่กล่าวไปตั้งแต่ต้น คือ การฟังให้จบ เพื่อที่จะได้เข้าใจลูกว่าเขาคิดอะไรอยู่ เราช่วยชี้แนะอะไรได้บ้าง ระหว่างนั้นก็ต้องอดทนให้ถึงที่สุด การเป็นพ่อเป็นแม่คน เป็นผู้ใหญ่กว่า ก็ต้องพยายามควบคุมอารมณ์ตัวเองให้ได้ แล้วงัดเหตุผลมาพูดคุยกันเสมอ เลิกใช้นิ้วชี้หน้าเวลาที่ไม่พอใจ เพราะจะยิ่งทำให้เขาต่อต้านและอยากเอาชนะ สุดท้ายการสนทนาก็จะจบลงก่อนที่มันควรจะจบ หรือจบด้วยการตะคอก ตวาด โต้เถียงกัน


ชวนพูดคุยให้มากขึ้นเท่าที่ทำได้
หรือก็คือการสร้างความสนิทสนมเชื่อใจนั่นเอง มีพ่อแม่จำนวนไม่น้อยที่ใกล้ชิดกับลูกจนสามารถพูดคุยกันได้เหมือนเป็นเพื่อน ทั้งนี้ทั้งนั้นลูกก็ไม่ได้ก้าวร้าวหรือล้ำเส้นแต่อย่างใด เพราะทุกอย่างมันอยู่ที่วิธีการปฏิบัติของพ่อแม่ วิธีเลี้ยงดู และการปลูกฝังมาตั้งแต่เขายังเด็กทั้งสิ้น ถ้าความสัมพันธ์ของพ่อแม่กับลูกดีมาตั้งแต่ลูกยังเด็ก สนิทกัน ลูกกล้าที่พูด กล้าที่จะคุย เท่านี้ก็มีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว แต่ถ้าก่อนหน้านี้ความสัมพันธ์ออกจะลุ่ม ๆ ดอน ๆ เวลาคุยมันก็จะยากหน่อย ก็อื่นคือลูกจะระแวง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย เพียงแต่ต้องใช้เวลาและความจริงใจ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook