โควิด-19 ทำไมเด็กถึงไม่ค่อยเป็นอะไร ไขคำตอบกัน

โควิด-19 ทำไมเด็กถึงไม่ค่อยเป็นอะไร ไขคำตอบกัน

โควิด-19 ทำไมเด็กถึงไม่ค่อยเป็นอะไร ไขคำตอบกัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในขณะที่ "ไวรัสโคโรนา 2019" หรือ "โควิด-19" ระบาดหนักมากไปทั่วโลก สงสัยกันไหมว่าทำไมเด็กๆ น้องๆ หนูๆ ถึงไม่ค่อยมีผลกระทบอะไรมากเหมือนกับผู้ใหญ่ หรือผู้สูงวัย มาไขข้อข้องใจจาก "อาจารย์วิปร" หรือ ศ.ดร.นพ.วิปร วิประกษิต "ศาสตราจารย์ทางกุมารเวชศาสตร์" ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ และ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านธาลัสซีเมีย ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จากเพจ "สื่อสุขภาพ by Dr. Vip" กัน

โดย นพ. วิปร ได้ให้ข้อมูลไว้ดังนี้

ทำไมน้องโคควิด-19 ถึงไม่ทำร้ายเด็ก (นางงามมากนะแก)

เกือบ 10 อาทิตย์แล้วนะครับ (สำหรับบางคนอาจจะ รู้สึกว่ามันนานเกือบ 10 เดือน) ที่เรามีเพื่อนร่วมโลกใบใหม่ชื่อ น้องโคควิด-19 ที่ระบาด กระจายไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยที่รักของเราด้วย

เรามักจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับความน่ากลัวของการติดเชื้อของไวรัสดังกล่าวในสื่อต่างๆ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความรุนแรงของโรคเป็นอย่างไรหาอ่านได้ในโพสก่อนหน้านี้ของผมนะครับ

สิ่งหนึ่งที่หลายคนสงสัยรวมทั้งผมด้วยในฐานะ ที่เป็น “พ่อคน” ว่าน้องโคควิด นั้น”รัก”เด็กแค่ไหน

1. ตามที่เล่าไปแล้วว่าน้องโค นั้นดูเหมือนจะมีผลกระทบน้อยมากกับเด็กๆ น้อง ๆ หนูๆ (อีหนูไม่เกี่ยวนะ) เด็กที่เป็น มีอาการก็มักจะไม่รุนแรงและคนไข้เด็กระดับเข้าไอซีอยู่นั้นก็เรียกได้ว่าแทบจะไม่มีเลย

2. จากข้อมูลการวิเคราะห์ล่าสุดของมหาวิทยาลัย จอห์นฮอปกินส์ และทีมนักวิจัยในประเทศจีนรวบรวมรายงานในคนไข้มากกว่า 72,000 ราย เชื่อหรือไม่ครับว่าผู้ป่วยที่เป็นเด็กนั้นมีไม่ถึงหนึ่งใน 10 และในจำนวนคนไข้ที่เสียชีวิตกว่า 1000 คนนั้น

ไม่มีเด็กคนไหนตายเลยซักคน...เย้ๆๆๆ

3. ทำไมเด็กมันถึงทนทานได้ขนาดนี้ เพราะเรามักจะคิดว่าเด็กๆ นั้นบอบบาง น่าทะนุถนอมและอ่อนแอกว่าผู้ใหญ่ ดังนั้นเวลาที่มีการติดเชื้อชนิดต่างๆคนไข้เด็กก็มักจะมีอาการที่รุนแรงมากกว่า เพราะภูมิต้านทานของร่างกายยังพัฒนาได้ไม่ดี

กลายเป็นว่าอีน้องโคควิด มาเล่น บท “นางงาม” รักเด็ก ไปซะอย่างนั้นแหละ

4. ผลการวิจัยจากเมืองเซิ้นเจิ้น (เชื่อถือได้นะไม่ใช่กระเป๋าหลุยส์...อิอิ) ที่ติดตามคนไข้จำนวนเกือบ 200 รายและบรรดาสังคญาติที่ได้สัมผัสโรคอย่างใกล้ชิดอีกมากกว่า 1000 คน พบว่าอัตราการติดเชื้อในเด็กที่อายุต่ำกว่า 9 ขวบ อยู่ที่ 7-8 % ซึ่งไม่แตกต่างกับผู้ใหญ่ครับ

เพราะฉะนั้นโอกาสในการติดเชื้อของเด็กกับผู้ใหญ่มีเท่ากันครับ

5. เพียงแต่เด็กพวกนี้ ทั้งที่มีประวัติสัมผัสโรคและต่อมาได้รับการตรวจยืนยันว่ามีการติดเชื้อ จำนวนมากไม่เคยมีอาการเลยแม้แต่น้อย...

โอ้แม่เจ้า!! อยากกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง

6. แล้วทำไมเด็กๆ ที่ติดเชื้อแล้วจึงมีอาการน้อยกว่า และไม่มีอัตราตายเลย ข้อมูลของน้อง COVID-19 ในปัจจุบันคงจะยังให้คำตอบนี้ตรงๆ ไม่ได้ครับเพราะเราไม่มีข้อมูลจากการศึกษาวิจัยเชื้อตัวนี้โดยตรง

7. เราจึงต้องอนุมานเอาจากข้อมูลของญาติผู้พี่คือ พี่ซาซ่า (SARs) ที่มีการระบาดในช่วงปี 2002- 2003 และมีอาการคล้ายๆ กัน ทำให้มีคนเสียชีวิตไป 774 ราย แต่เชื่อหรือไม่ครับว่าในคนที่เสียชีวิตนั้นไม่มีใครเลยที่มีอายุ”น้อยกว่า” 24 ปี
(อยากกลับไปอายุ 24 ปี อีกจัง...)

แปลว่าเด็กติดแล้ว ไม่ตายเลย (ดีใจแทนพ่อแม่ทุกท่านครับ)

8. หนึ่งในกลไกสำคัญที่ทำให้มีอัตราตายสูงในการติดเชื้อโคโรน่า คือการเกิด “ไฟไหม้ในปอด” (อันนี้เป็นศัพท์ที่ผม เรียก cytokine storm บัญญัติเอง นักเลงพอครับ...555) ก็เลยมีคนตั้งสมมุติฐานว่า การที่ระบบภูมิต้านทานของเด็กยังเจริญไม่ดี แทนที่จะเป็นผลร้าย กลับกลายเป็นผลดีที่ไม่ส่ง“ไฟ”มาเผาตัวเองแบบคนอายุเยอะกว่า

9. ข้อมูลในหนูทดลองยังพบว่า เมื่อหนูแก่ตัวลง ปอดของหนูแก่ๆ จะช้ำชอกมากขึ้นเพราะผ่านโลกมาเยอะ...ทั้งการติดเชื้อก่อนหน้า มีการอักเสบเกิดแล้วหายๆ ซ้ำๆ

ตลอดจนการเผชิญกับมลพิษ มลภาวะ ควันธูป ควันบุหรี่ ควันรถ ละอองเกสร และสิ่งกระตุ้นภูมิแพ้ต่างๆมาตลอดชีวิต

รวมทั้งไอ้ pm 2.5 ที่มันยังอยู่แต่ดูเหมือนคนจะลืมมันไปซะแล้ว...

ปอดแก่ช้ำๆก็เหมือนใจชํ้าๆ นะครับ เพราะมันโดนทำร้าย บาดเจ็บง่ายๆ จากการติดเชื้อและ ระบบภูมิต้านทานที่ต่อต้านตัวเอง...เศร้าจริงๆ ไหนเลยจะสู้ปอดของเด็กที่สดๆซิงๆได้ (pristine lung)

10. อย่างไรก็ตามในกรณีของเด็กที่มีปอดไวต่อการกระตุ้นเช่น เป็นโรคหอบหืด หรือเป็นเด็กที่คลอดก่อนกำหนดที่ปอดไม่สมบูรณ์ หนูๆ กลุ่มนี้ ก็อาจจะมีความไวมากกว่าต่อการติดเชื้อน้องโคควิด-19 ได้

คุณพ่อ คุณแม่ที่มีลูกเป็นโรคปอด หอบหืด เราเตือนคุณแล้ว อย่าเสี่ยงดีกว่าครับ...

11. สมมุติฐานสุดท้ายซึ่งจริงๆก็ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุนเชื่อว่า การที่เด็กเป็นหวัดบ่อย(ตามธรรมชาติของเด็ก) จากการติดเชื้อโคโรน่าตัวอื่นๆในตระกูลที่ไม่รุนแรง อาจจะส่งผลให้เด็กสร้างภูมิต้านทานที่จะช่วยให้หายจากน้องโควิด-19 ได้เร็วมากกว่าผู้ใหญ่ครับ

การที่น้องโคควิด-19 ไม่”ทำร้ายเด็ก”จนมีอาการที่รุนแรงอาจจะส่งผลลบอีกแง่ในเชิงการระบาดของโรค เพราะพอน้องๆ หนูๆ ไม่มีอาการ ก็ทำให้เด็กเป็นจำนวนมากที่อาจไม่ได้รับการวินิจฉัย และเด็กน้อยเหล่านี้จะกลายร่างเป็น”นางนกต่อฟันน้ำนม”ที่นำโรคไปติดยัง พี่ ป้า น้า อา ปู่ ย่า ตา ยาย ที่บ้านได้

ดังนั้นแนวทางในการหยุดเรียนเพื่อป้องกันการติดเชื้อในหมู่เด็ก (ซึ่งเด็กทุกคนชอบมากกกกกกก...... ก.ไก่ล้านตัว) จึงอาจจะไม่ได้แค่ป้องกันเด็กจากตัวไวรัสเท่านั้นนะครับ แต่จริงๆแล้วเป็นการป้องกันบรรดา ส.ว. (ที่ไม่ได้นั่งในสภานะ...555) หรือ “สูงวัย” ที่อยู่ที่บ้านมากกว่า

ด้วยเหตุนี้เมื่อวานผมถึงบอกภรรยาว่า จะต้องแจ้งให้น้องชายหยุดพาหลานไปเยี่ยมคุณปู่ คุณย่า ที่บ้าน ช่วงเสาร์-อาทิตย์ เป็นการชั่วคราว จนกว่าไวรัสมันจะสงบลง กลายเป็นเชื้อประจำถิ่นไป

ตอนนี้ก็เจอหน้ากันตาม LINE หรือ FaceTime แทนครับ

#รักห่างๆอย่างห่วงๆในช่วงนี้นะครับ
#เราจะผ่านมันไปด้วยกันนะ


>> ไวรัสโควิด-19 ระบาด ดูแลเด็กๆ อย่างไรในช่วงอยู่บ้านให้ปลอดภัยที่สุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook