สิทธิตามกฎหมายที่คู่รัก "เกย์-เลสเบี้ยน" เข้าไม่ถึง!!

สิทธิตามกฎหมายที่คู่รัก "เกย์-เลสเบี้ยน" เข้าไม่ถึง!!

สิทธิตามกฎหมายที่คู่รัก "เกย์-เลสเบี้ยน" เข้าไม่ถึง!!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รอบตัวเรามีคู่รักที่ใช้ชีวิตร่วมกันเป็นครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นคู่รักหญิงชาย คู่รักหญิงหญิง คู่รักชายชาย ฯลฯ ความแตกต่างอยู่ที่คู่รักหญิงชายมีทางเลือกว่าจะใช้ชีวิตแบบจดทะเบียนสมรส หรือไม่จดทะเบียนสมรส ขณะที่คนรักเพศเดียวกันยังไม่มีโอกาสเลือก ซึ่งส่งผลให้คนรักเพศเดียวกันขาดสิทธิหลายอย่างที่พึงมีในฐานะคนครอบครัวเดียวกันเวลานี้ เป็นช่วงของการขับเคลื่อน "ร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ...." ที่คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เสนอต่อสังคม เพื่อเปิดโอกาสให้คนรักเพศเดียวกันที่ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้ตามกฎหมายเดิม สามารถจดทะเบียนเป็นคู่ชีวิต อันนำไปสู่สิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย แต่เรื่องนี้อาจสร้างคำถามขึ้นในใจหลายคนว่า คู่รักจำนวนไม่น้อยพึงใจใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันโดยไม่ต้องจดทะเบียนสมรส แล้วมีความจำเป็นเพียงใดที่จะต้องมีกฎหมายกำหนดเกี่ยวกับเรื่องการจดทะเบียน

ยกตัวอย่างความสัมพันธ์ทางกฎหมายเรื่องใดบ้าง ที่คู่ชีวิตทุกเพศควรมีสิทธิในฐานะคนรักที่ตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกัน แต่คู่ชีวิตเพศเดียวกันกลับไม่สามารถทำได้ เพราะมีกฎหมาย กฎระเบียบ หรือกติกาใดๆ ขวางทางอยู่ อันเป็นทำให้ต้องเรียกร้องหาการจดทะเบียนเพื่อแสดงตน

ด้านกฎหมาย ประกอบด้วย สิทธิในเรื่องการจัดการทรัพย์สินร่วมกัน เช่น การลดหย่อนภาษี สำหรับผู้ที่มีรายได้และต้องเสียภาษี หากมีคู่สมรสแล้ว กฎหมายถือเป็นเหตุให้ลดหย่อนภาษีได้, สินสมรส คู่สมรสที่ได้ทรัพย์สินมาหลังจากจดทะเบียนสมรสกันแล้วจากการทำมาหากิน เรียกว่า สินสมรส แต่คู่ที่ไม่ได้จดทะเบียนไม่สามารถอ้างเรื่องสินสมรสเรียกให้แบ่งครึ่งได้ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการรับมรดก การเป็นผู้อนุบาล หรือ ผู้พิทักษ์ รวมถึงการทำสัญญาประกันชีวิต ค้ำประกัน กู้เงินร่วมกัน ฯลฯ


สิทธิในการรักษาพยาบาลและการได้รับสวัสดิการ เช่น ค่ารักษาพยาบาล ราชการและเอกชนบางแห่งมีสวัสดิการรักษาพยาบาลให้คู่สมรส รวมถึงสิทธิประโยชน์ของประกันสังคม ก็สามารถเบิกให้คู่สมรสของตัวเองได้ แต่คู่ชีวิตที่ไม่ได้จดทะเบียนไม่สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลให้อีกฝ่ายหนึ่งได้เลย อีกทั้ง สิทธิในการรับรู้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการรักษา แพทย์ย่อมต้องปรึกษาหารือให้ญาติสนิทร่วมตัดสินใจ แต่หากเป็นคู่ชีวิตที่ไม่ได้จดทะเบียนแพทย์อาจจะมองว่าเป็นเพื่อนและไม่ให้ข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย หรือคู่ชีวิตที่ไม่ได้จดทะเบียนอาจไม่สามารถขอทราบข้อมูลในรายละเอียดของอาการผู้ป่วยจากสถานพยาบาลได้

นอกจากนี้ ยังมีสิทธิในกรณีคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งตาย สิทธิในการจัดการศพ คู่สมรสตามกฎหมายย่อมมีสิทธิในการจัดการศพ แต่ซึ่งคู่ชีวิตที่ไม่ได้จดทะเบียน มีฐานะเป็นแค่ "เพื่อน" จึงไม่มีสิทธินี้ คงต้องให้ญาติที่อาจสนิทน้อยกว่าเป็นผู้จัดการแทน, สิทธิในการดำเนินคดีอาญา รวมถึงสิทธิเป็นผู้เสียหายไปแจ้งความแทน ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดว่า กรณีผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถมาแจ้งความเองได้ ให้คู่สมรสแจ้งความแทนได้ แต่คู่ชีวิตที่ไม่ได้จดทะเบียนย่อมไม่สามารถไปแจ้งความให้ตำรวจดำเนินคดีกับคนที่มาทำร้ายคู่ของตนได้ หากคนตายไม่มีญาติสนิทอื่นก็จะไม่มีใครมีอำนาจแจ้งความแทนเลย กรณีนี้ยังรวมถึงการแจ้งความว่าคนหายไปครบ 48 ชั่วโมงด้วย

สิทธิ์อื่นๆ โดยเฉพาะสิทธิในการได้สัญชาติ และการเข้าเมือง ถ้าคนต่างชาติจดทะเบียนสมรสกับคนไทย สามารถขอแปลงสัญชาติเป็นสัญชาติไทยได้ และสามารถขออยู่ในประเทศไทยกับคู่ของตนได้ เหตุที่กฎหมายอนุญาตเพราะมองเห็นความสำคัญของสถาบันครอบครัวและการอยู่ร่วมกัน แต่คู่ชีวิตที่ไม่ได้จดทะเบียนไม่อาจได้สิทธิแปลงสัญชาติและสิทธิอยู่ในประเทศไทย

ดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นว่า "คนรักเพศเดียวกัน" ยังไม่มีโอกาสเลือก ซึ่งมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

นี่ยังไม่นับรวมด้านสังคม อย่างเช่น การสร้างการยอมรับจากสังคมได้ หรือแม้กระทั่ง การไม่อาจจดทะเบียนสมรสหรือจดทะเบียนคู่ชีวิตซ้อนกันได้ คู่ชีวิตที่จดทะเบียนแล้วจะไม่สามารถจดทะเบียนกับคนอื่นได้อีกไม่ว่าเป็นเพศใด ซึ่งสามารถช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการหลอกลวงไปอยู่กินกับคนอื่นทั้งที่ตัวเองมีคู่อยู่แล้วได้

ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงตัวอย่างของสิทธิประโยชน์ต่างๆ ทั้งทางกฎหมายและทางสังคมที่คู่สมรสตามกฎหมายย่อมได้รับ แต่คนเพศเดียวกันที่ใช้ชีวิตคู่ร่วมกันไม่สามารถเข้าถึงสิทธิที่พึงมี ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันอีนมาจากความแตกต่างทางเพศ ซึ่งทำให้คู่ชีวิตเพศเดียวกันไม่มีสถานะใดๆ และไม่ได้รับความเป็นธรรมตามกฎหมาย ร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต จึงเป็นกฎหมายที่มุ่งแก้ปัญหาข้อบกพร่องในกฎหมายเดิมที่กระทบต่อสิทธิของคนกล่าหนึ่ง ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการประชาพิจารณ์และรับฟังความคิดเห็น

สิ่งสำคัญหนึ่งที่น่าจะเห็นได้จากร่างนี้ คือ การทำลายอุปสรรคที่กฎหมายเดิมๆ ขัดขวางวัฒนธรรมของสังคมที่ออกแบบมาให้คนที่เป็นคู่ชีวิตกันต้องช่วยเหลือดูแลแบ่งปันทุกข์สุขซึ่งกันและกัน ถ้ายังไม่มีกฎหมายใดมารับรองสถานะ ให้คู่ชีวิตเพศเดียวกันทำกิจการต่างๆ ได้เช่นเดียวกับคู่ชีวิตเพศตรงข้าม ก็เท่ากับกฎหมายที่มีอยู่นั้นขัดแย้งกันเอง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงสิทธิและเป็นอุปสรรคต่อการแสดงออกซึ่งความเอื้ออารีที่คู่ชีวิตจำนวนมากพึงจะมีให้กัน

ข้อมูลจาก http://ilaw.or.th/node/1841

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook