ปัญหาเด็กหนีออกจากบ้าน เมื่อครอบครัวไม่ใช่เซฟโซน

ปัญหาเด็กหนีออกจากบ้าน เมื่อครอบครัวไม่ใช่เซฟโซน

ปัญหาเด็กหนีออกจากบ้าน เมื่อครอบครัวไม่ใช่เซฟโซน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรณี #น้องโยโย่ นั้นเรียกได้ว่าเป็นกรณีที่สื่อและสังคมควรให้ความสนใจอย่างยิ่งในประเด็นการตัดสินใจของเด็กในวัย 14 ปีที่หนีออกจากบ้านไปพร้อมกับบุคคลแปลกหน้าที่ไม่ใช่ญาติ โดยมองให้ลึกลงไปถึงปัญหาในบ้านที่เด็กได้เขียนระบายเอาไว้ในจดหมาย และวิธีการที่เด็กตัดสินใจปิดการติดต่อทางโซเชียลมีเดียทุกทาง เพื่อไม่ให้ผู้ปกครองตามตัว และกรณีของน้องโยโย่ คงไม่ใช่เคสสุดท้ายที่จะเกิดขึ้น เมื่อองค์ประกอบในครอบครัวของไทยปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนไป และความกดดันของผู้ปกครองที่ส่งผลกระทบต่อเด็กมากขึ้นเรื่อยๆ

ในปี 2560 มูลนิธิกระจกเงา มีรายงานระบุว่า จำนวนเด็กที่หนีออกจากบ้านด้วยความสมัครใจของเด็กนั้น มีจำนวนสูงขึ้นและเป็นเด็กที่มีอายุเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 11-15 ปี เป็นเด็กผู้หญิงมากกว่าเด็กชายถึง 3 เท่า โดยมีสาเหตุมาจากความรุนแรงในครอบครัว และถูกชักชวนไปอยู่กับแฟน รวมทั้งถูกโน้มน้าวจากคนรู้จักในโลกออนไลน์ นอกจากนี้ มูลนิธิกระจกเงา ยังได้ให้ข้อมูลไว้ด้วยว่า ควรทำอย่างไร ถ้าลูกสาวหรือลูกชายของคุณหนีออกจากบ้าน

1. ดูว่าเด็กเก็บเสื้อผ้าข้าวของไปหรือไม่ ถ้าเด็กเสื้อผ้าข้าวของสำคัญไป แสดงว่า เด็กมีการเตรียมตัว หากข้าวของสำคัญไม่ได้เอาไปเลย อาจไปโดยไม่ได้เตรียมตัว ซึ่งอาจเกิดเหตุร้ายกับเด็ก

2. พิจารณาดูว่า ในรอบหนึ่งเดือน ก่อนเด็กหายไป มีเรื่องทะเลาะกับคนในครอบครัวหรือไม่ เช่น การลงโทษเฆี่ยนตีเด็ก การห้ามเด็กคบกับแฟน การห้ามหรือยึดโทรศัพท์ของเด็ก เป็นต้น

3. เพื่อนสนิทของเด็ก อาจเป็นผู้ให้ข้อมูลได้ดีที่สุด แต่แน่นอนว่า เด็กย่อมเข้าข้างกัน ทางที่ดีที่สุด คือ ให้อาจารย์ประจำชั้น เป็นผู้สอบถามข้อมูลให้ ดังนั้น พ่อแม่ต้องมีเบอร์ครูประจำชั้น และทราบว่า ใครเป็นเพื่อนสนิทของลูกบ้าง

4. ยังไม่ปรากฏว่า มีเด็กหญิงหนีออกจากบ้านไปอยู่คนเดียวตามลำพัง เด็กที่หนีออกจากบ้าน ถ้าเด็กไม่มีแฟน เด็กจะไปอยู่กับเพื่อน ถ้าเด็กมีแฟน เด็กจะไปอยู่กับแฟน ทั้งนี้ แฟนที่เด็กจะไปอยู่ด้วย อาจเคยเจอกันมาก่อน หรือคุยกันแต่ทางอินเทอร์เน็ทหรือโทรศัพท์เท่านั้น เด็กก็กล้าที่จะไปหาและอาศัยอยู่กับเขาแล้ว

5. พฤติกรรมก่อนการหายตัวไปของเด็กจะเป็นตัวบ่งชี้สำคัญ เช่น เด็กติดการคุยโทรศัพท์มาก มีซิมการ์ดหลายเบอร์ หรือเล่นแชทมากผิดปกติ โดยเฉพาะตอนกลางคืน นั่นหมายถึง เด็กอาจหายตัวไปกับคนที่เด็กคุยด้วย

6. เด็กหายไปเพราะติดต่อกับใครทางช่องทางไหน ให้ตามหาจากสิ่งนั้น เช่น เด็กโทรศัพท์ ให้ตามจากข้อมูลการใช้โทรศัพท์ของเด็ก, เด็กใช้การคุยผ่านอินเทอร์เน็ท ให้ตามจากคอมพิวเตอร์ของเด็ก

7. การสืบค้นข้อมูลจากทางโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ท ผู้ปกครองขอรับแนะนำได้ที่ มูลนิธิกระจกเงา โทร 080-7752673 หรือ www.facebook.com/thaimissing เพราะมันมีวิธีการของมันอยู่

8. เด็กที่หนีออกจากบ้านมีแนวโน้มกลับมาได้เอง หากว่า พ่อแม่เพื่อนที่อาศัยอยู่ด้วยเริ่มกดดันให้กลับบ้าน หรือแฟนที่ไปอยู่ด้วยทำร้าย หรือไม่ดีอย่างที่เด็กจินตนาการไว้

9. เด็กที่หนีออกจากบ้านบางคนจะไม่ยอมกลับบ้านเลย หรือหากตามกลับมาได้ก็จะมีแนวโน้มหนีออกจากบ้านอีกรอบ หากเหตุผลในการหนีไป คือ ความรุนแรงในครอบครัว

10. ถ้าเกือบทุกข้อที่กล่าวมา แม้ลูกคุณยังไม่หายออกจากบ้าน แต่คุณไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับตัวลูกพฤติกรรมของลูก สภาพแวดล้อมที่ลูกกำลังประสบพบเจอ แสดงว่าคุณมีความเสี่ยงที่ลูกคุณจะหายออกจากบ้านแล้ว

นอกจากนี้แล้ว หากพบว่า เด็กหนีออกจากบ้านโดยมีการเตรียมการไว้แล้ว ควรจะแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจให้สืบหาเบาะแส เพราะด้วยกระบวนการสืบสวนของตำรวจจะช่วยให้เจอเด็กได้มากกว่าการใช้โซเชียลมีเดีย ซึ่งการส่งต่อภาพและข้อความของเด็ก ในกรณีที่เด็กหนีออกจากบ้านนั้น จะส่งผลกระทบต่อเด็กโดยตรง เมื่อพบตัวเด็กแล้วจะอาจทำให้เด็กไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้

ทั้งหมดนี้คือ แนวทางและการป้องกันจากมูลนิธิกระจกเงา แต่หนทางที่ดีที่สุดในการป้องกัน คือ คนในครอบครัวเองต้องคอยสังเกตความรู้สึกและความเปลี่ยนแปลงของเด็กในบ้าน การดุด่าว่ากล่าว หรือการลงโทษด้วยความรุนแรงนั้นไม่ควรเกิดขึ้นบ่อยนัก เหนืออื่นใดความเชื่อใจ และความรักและให้กำลังใจจะเป็นเครื่องมือชั้นดีในการเยียวยาปัญหาที่แสนจะเปราะบาง นอกจากนี้ หากผู้ปกครองทำความเข้าใจกับเด็กโดยไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง คุณก็สามารถป้องกันปัญหาเด็กหนีออกจากบ้านได้มากกว่าห้าสิบเปอร์เซนต์แล้ว

เรียบเรียงข้อมูลจาก มูลนิธิกระจกเงา

>>พ่อน้องโยโย่ เปิดใจรับเข้มงวดลูก แม่ลั่นเอาผิด “รณชิต” หลงไว้ใจแต่พาหนี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook