รับมือกับริ้วรอยอย่างตรงจุด Facial Analysis and Design for Anti
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060
    //s.isanook.com/wo/0/ud/2/11708/c1.jpgรับมือกับริ้วรอยอย่างตรงจุด Facial Analysis and Design for Anti

    รับมือกับริ้วรอยอย่างตรงจุด Facial Analysis and Design for Anti

    2011-11-09T16:37:59+07:00
    แชร์เรื่องนี้

    เมื่อวันเวลาผ่านไปสภาพผิวหน้าย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามวัย เราคงอยากดูแลรักษาให้สภาพผิวและรูปหน้าแลดูสดใสงดงามดังเช่นช่วงวัยหนุ่มสาว จึงเกิดความพยายามที่หลากหลายเพื่อรักษาสภาพผิวและโครงสร้างของใบหน้าให้ดูดีอยู่เสมอ คลีนิกข์ขอนำเสนอแนวทางการดูแลปัญหาผิวหน้าอันเนื่องมาจากวัย จากนายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ รองผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง และหัวหน้ากลุ่มงานศัลยศาสตร์และเลเซอร์ผิวหนัง ผู้ให้ข้อมูล โดยการแบ่งใบหน้าออกเป็นส่วนๆ พร้อมวิเคราะห์ปัญหาที่พบตลอดจนการแก้ไขด้วยวิธีต่างๆ ที่เหมาะสม ใบหน้าของเราสามารถแบ่งได้เป็นสามส่วน ดังนี้ ใบหน้าส่วนบน เริ่มจากบริเวณไรผมจนถึงขนคิ้ว / ใบหน้าส่วนกลาง เริ่มจากบริเวณขนคิ้ว จนถึงปลายจมูก / ใบหน้าส่วนล่าง เริ่มจากปลายจมูกจนถึงปลายคาง โดยใบหน้าที่สวยสดงดงาม ควรมีความยาวของทั้งสามส่วนเท่า ๆ กัน และแต่ละส่วนจะมีองค์ประกอบที่แตกต่างกัน

     

    ใบหน้าส่วนบน
    ส่วนประกอบหลักของใบหน้าส่วนบน ได้แก่ หน้าผาก ปัญหาหลักของใบหน้าส่วนนี้ ได้แก่ ริ้วรอยที่เกิดเป็นเส้นขวางกลางหน้าผาก ซึ่งเกิดจากการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อบริเวณหน้าผาก มักจะเกิดขึ้นในขณะที่เราเลิกคิ้วหรือเหลือกตามองขึ้นบน เมื่อกล้ามเนื้อบริเวณนี้มีการหดตัว ทำให้ผิวหนังที่อยู่ส่วนบนเกิดเป็นริ้วรอยขึ้น เมื่อกล้ามเนื้อคลายตัวริ้วรอยหน้าผากก็จะหายไป เราเรียกริ้วรอยลักษณะนี้ว่า Expression line แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ริ้วรอยของผิวหนังบริเวณหน้าผากจะลึกเพิ่มมากขึ้น และในที่สุดแม้จะไม่มีการขยับของกล้ามเนื้อ ริ้วรอยนั้นยังปรากฏให้เห็น เรียกริ้วรอยนี้ว่า Static line ดังนั้นการรักษาปัญหานี้ให้ได้ผลดี จำเป็นต้องใช้ยา Botulinum toxin หรือชื่อที่คุ้นเคยว่า Botox® นั่นเอง ยาดังกล่าวเมื่อฉีดเข้าไปบริเวณกล้ามเนื้อ จะมีผลทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงขยับได้ลดลง จึงมีผลทำให้ริ้วรอยดีขึ้น อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องดูแลสภาพผิวในบริเวณนี้ด้วยเช่นกัน ด้วยการทาครีมบำรุงและครีมกันแดดอย่างสม่ำเสมอ


    ใบหน้าส่วนกลาง
    ส่วนประกอบหลักของใบหน้าส่วนนี้ ได้แก่ ดวงตา จมูก โหนกแก้มและร่องแก้ม ปัญหาที่พบบ่อยและวิธีแก้ไขของใบหน้าส่วนกลาง สามารถสรุปได้ดังนี้

    ปัญหาที่พบบ่อย

    ดวงตา : ริ้วรอยหางตา เกิดจากกล้ามเนื้อรอบกระบอกตา บริเวณด้านข้าง มีการหดรัดตัวเป็นประจำ แก้ไขโดย : ทาครีมบำรุงผิวรอบดวงตาอย่างสม่ำเสมอ หรือ ฉีด Botox® เพื่อให้กล้ามเนื้อดังกล่าวไม่หดรัดตัวมากเกินไป หนังตาบนหย่อน อาจเกิดจากความหย่อนคล้อยของหนังตาบน หรืออาจเกิดจากมีการสะสมของไขมันบริเวณหนังตาบน แก้ไขโดย : รักษาด้วยการใช้เลเซอร์, คลื่นวิทยุความถี่สูง (RF - Radiofrequency) หรือเครื่อง Focused Ultrasound เพื่อยกกระชับผิวหนังบริเวณหนังตาบน, ฉีด Botox® หรือ Filler เพื่อยกหนังตาบน, รักษาด้วยไหมยกกระชับผิวหน้า (Thread lift) และในกรณีที่อายุมาก ผิวหนังหย่อนคล้อยมากหรือมีการสะสมของไขมันบริเวณหนังตาบนจำนวนมาก อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการทำศัลยกรรมตกแต่งพร้อมทั้งกำจัดไขมันส่วนเกิน


    จมูก : สันจมูกแบน แก้ไขโดย : เสริมสันจมูกด้วยแท่งซิลิโคน หรือฉีด Filler เพื่อเติมสันจมูก ปลายจมูกเชิด แก้ไขโดย :ฉีด Filler เพื่อเสริมให้ปลายจมูกเป็นรูปหยดน้ำและเชิดน้อยลง ปลายจมูกงุ้ม แก้ไขโดย : ฉีด Botox® บริเวณส่วนล่างปลายจมูก เพื่อลดความตึงของกล้ามเนื้อในบริเวณนั้น มีผลทำให้ปลายจมูกเชิดขึ้น ปลายจมูกกว้าง แก้ไขโดย : ฉีด Botox® บริเวณปีกจมูกทั้งสองข้าง หรือ ผ่าตัดลดขนาดปีกจมูก


    ร่องแก้ม : ร่องแก้มลึก แก้ไขโดย : ฉีด Botox® เพื่อลดแรงตึงตัวของกล้ามเนื้อบริเวณร่องแก้ม, ฉีด Filler เพื่อเติมเต็มร่องแก้ม หรือยกกระชับผิวด้วยเลเซอร์ / RF/ Focused Ultrasound หรือไหมยกกระชับผิวหน้า และในกรณีที่ผิวหนังมีความหย่อนคล้อยมาก ควรรักษาด้วยการทำศัลยกรรมตกแต่ง

     

    ใบหน้าส่วนล่าง
    ส่วนประกอบหลักของใบหน้าส่วนนี้ได้แก่ ริมฝีปาก คาง แก้มส่วนล่างและกรามปัญหาที่พบบ่อยและวิธีแก้ไขของใบหน้าส่วนล่างสามารถสรุปได้ดังนี้

    ปัญหาที่พบบ่อย

    ริมฝีปาก : ริ้วรอยรอบๆ ริมฝีปาก แก้ไขโดย : ฉีด Botox® บริเวณเหนือริมฝีปาก เพื่อลดการขยับของกล้ามเนื้อรอบๆ ปาก หรือ รักษาด้วยเลเซอร์ปรับสภาพผิว (Resurfacing laser) เช่น Fraxel® ริมฝีปากมีขนาดเล็กและบาง แก้ไขโดย: เติมริมฝีปากให้อวบอิ่มขึ้นด้วย Filler

    แก้มส่วนล่าง : ปรับรูปหน้าให้เรียว แก้ไขโดย : ฉีด Botox® บริเวณกล้ามเนื้อกราม เพื่อทำให้กล้ามเนื้อมีขนาดเล็กลงปรับให้รูปหน้าเรียว, กระชับผิวบริเวณแก้มส่วนล่างด้วย เลเซอร์ / RF / Focused Ultrasound และ ในกรณีที่มีไขมันบริเวณแก้มจำนวนมาก ควรรักษาด้วยการดูดไขมันหรือสลายไขมันด้วยเลเซอร์ร่วมด้วย หรือ กรณีที่กระดูกกรามมีขนาดใหญ่ จำเป็นต้องรักษาด้วยการทำศัลยกรรมตกแต่ง แก้มส่วนล่างหย่อนคล้อย แก้ไขโดย: กระชับความตึงของผิวด้วยการฉีด Botox®, ฉีด Filler เพื่อยกกระชับผิว, ยกกระชับผิวด้วยเลเซอร์ / RF/ Focused Ultrasound หรือไหมยกกระชับผิวหน้า และกรณีที่มีความหย่อนคล้อยมาก ควรรักษาด้วยวิธีศัลยกรรมตกแต่ง

    "ฉะนั้นเมื่ออายุเพิ่มขึ้น สภาพผิวและโครงสร้างส่วนต่างๆ ของใบหน้าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงและมีปัญหาที่แตกต่างกัน การรักษาแก้ไขที่ให้ได้ผลดีมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องเข้าใจถึงสาเหตุของปัญหาดังกล่าว เพื่อจะได้เลือกวิธีการรักษาที่ถูกต้อง นอกจากนี้ควรต้องศึกษารายละเอียดของคนไข้ในแต่ละราย เพื่อให้ทราบถึงข้อห้าม ข้อจำกัดของการรักษาของคนไข้ จึงจะทำให้ได้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และมีผลข้างเคียงหรือผลแทรกซ้อนน้อยที่สุด


    ... ดังนั้นในการดูแลรักษาต้องดูที่ปัญหาของแต่ละคน แล้วเลือกรักษาแบบตรงจุดและพอเหมาะ และควรทำเมื่อมีความจำเป็น หรือทำเมื่อมีประโยชน์กับเรา เพื่อให้คุ้มค่าคุ้มเงิน " นายแพทย์จินดา กล่าวสรุป