กรดไหลย้อนกับคุณแม่ตั้งครรภ์...กินอย่างไรให้ถูกวิธี
กรุงเทพมหานคร- 1 ตุลาคม 2554 : คุณแม่ตั้งครรภ์หลายๆ ท่าน หรือครอบครัวอาจจะยังไม่เคยทราบว่า การตั้งครรภ์เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คุณแม่ต้องพบกับภาวะแสบร้อนกลางทรวงอก เรอ กลืนอาหารลำบาก ซึ่งอาการนี้คือตัวบ่งชี้ว่า คุณแม่เป็นโรคกรดไหลย้อนในขณะตั้งครรภ์ และโรคนี้ก็สามารถเกิดขึ้นได้กับทั้งคุณแม่ตั้งครรภ์ที่เคยเป็นแล้ว และยังไม่เคยเป็นมาก่อนกว่า 60% และเชื่ออีกหรือไม่ว่า...อาหารที่คุณแม่ตั้งครรภ์รับประทานในขณะที่อุ้มท้องลูกน้อยอยู่นั้น ก็เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงหนึ่งของโรคกรดไหลย้อนเช่นกัน โรงพยาบาลบำรุงราษฏร์ สุขุมวิท จึงได้ร่วมมือกับ บริษัท เรกคิทท์ เบนคีเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อรักษาโรคกรดไหลย้อน จัดกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ "กรดไหลย้อนกับคุณแม่ตั้งครรภ์..กินอย่างไรให้ถูกวิธี" เพื่อให้ความรู้ คำแนะนำแก่คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ และคนในครอบครัว ได้มีความรู้เพิ่มเติม สำหรับการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องรวมทั้งการเลือกรับประทานที่ถูกวิธี เพื่อช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับคุณแม่และคุณลูกด้วย
ในงานเสวนาดังกล่าว ได้รับเกียรติจากคุณแม่ท้อง และครอบครัว ที่ให้ความสำคัญกับปัญหาสุขภาพ, คุณมอส-ปฏิภาณ ปฐวีกานต์ (เคยเป็นกรดไหลย้อนจากการรับประทานอาหารไม่ตรงเวลาและมื้อดึก) และภรรยา คุณเกม- ดวงพร ปฐวีกานต์ ที่ในขณะนี้กำลังตั้งครรภ์ 3 เดือน, คุณลิฟท์-สุพจน์ จันทร์เจริญและลูกสาว น้องพราว ที่เคยเป็นโรคกรดไหลย้อน เมื่อตอนอายุ 2 เดือนและภรรยาก็เป็นโรคกรดไหลย้อนตอนที่ตั้งครรภ์ด้วย, คุณจ๊ะจ๋า-พริมรตา เดชอุดม ร่วมพูดคุยกับคุณหมอผู้เชี่ยวชาญ พญ. วิภากร เพิ่มพูล อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ สุขุมวิท, คุณแววตา เอกชาวนา นักโภชนาการ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ สุขุมวิท และ คุณนก-ชลิดา เถาว์ชาลี-ตันติพิภพ ร่วมสาธิตเมนูเพื่อบรรเทาอาการกรดไหลย้อนในคุณแม่ตั้งครรภ์ โดยได้รับเกียรติจากเภสัชกรหญิงผู้มากความสามารถ คุณโน๊ต-ณัฐกานต์ ประสพสายพรกุล รับหน้าที่พิธีกรดำเนินการพูดคุยในบรรยากาศที่เป็นกันเองด้วย ณ ห้อง Salon B ชั้น 3 โรงแรม JW Marriott สุขุวิท ซอย 3
พญ. วิภากร เพิ่มพูล อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ สุขุมวิท กล่าวว่า ‘สาเหตุสำคัญที่ทำให้คุณแม่ที่ตั้งครรภ์เป็นโรคกรดไหลย้อนได้ง่ายและบ่อยกว่าปกติ คือ การที่ช่องท้องของสตรีมีครรภ์โตขึ้นตลอดระยะเวลาที่ตั้งครรภ์ตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ส่งผลให้ความดันในช่องท้องเพิ่มขึ้นตลอดระยะครรภ์นำไปสู่การไหลย้อนของกรด, น้ำย่อยและน้ำดี โดยอาการแสบร้อนกลางอกจะเป็นอาการแสดงสำคัญของโรค นอกจากนี้ การเรอ กลืนลำบาก หรือมีน้ำรสขมและเปรี้ยวในปริมาณค่อนข้างมากในปาก ซึ่งมักเป็นในช่วงหลังอาหาร หรืออาจจะเกิดช่วงกลางคืน ยิ่งถ้างอตัว อาการก็จะรุนแรงมากยิ่งขึ้น แสดงว่าเจ้าโรคกรดไหลย้อนเป็นปัญหาตามมากวนใจ ดังนั้นคุณแม่ควรที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง เพื่อ บรรเทาอาการกรดไหลย้อนในระหว่างตั้งครรภ์ เช่น หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้โรคนี้รุนแรงมากขึ้น ตลอดจนการรับประทานอาหารมากเกินไป หรือรับประทานอาหารมื้อดึก ที่รับประทานเสร็จแล้วนอน นอกจากนี้ ยาแก้โรคหอบหืดบางชนิด และยาที่เกี่ยวกับโรคหัวใจบางชนิด ที่ทำให้การบีบตัวของกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างลดลง ถ้าเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วอาการไม่ดีขึ้นก็ควรจะรีบเข้าไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้การดูแลรักษาในขั้นต่อไป' คุณหมอกล่าวทิ้งท้าย
‘จากที่คุณหมอกล่าว จะเห็นว่าการเลือกทานอาหารเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงของคุณแม่ในการเกิดกรดไหลย้อน ซึ่งทำได้โดยหลีกเลี่ยงอาหารบางประเภท เช่น อาหารเผ็ดจัด อาหารมัน อาหารที่มีส่วนผสมของเปปเปอร์มินท์ ตลอดระยะครรภ์ เริ่มตั้งแต่ 3 เดือนแรก คุณแม่ตั้งครรภ์ควรทานแต่อาหารที่ไม่กระตุ้นการเกิดกรดไหลย้อน เช่น อาหารโปรตีนสูง ไขมันต่ำ หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์บางชนิดที่มีส่วนผสมของมะนาวและมะเขือเทศ อาหารที่คุณแม่ทานควรจะมีประโยชน์ต่อร่างกาย และมีกลิ่นรสที่ไม่กระตุ้นให้คลื่นไส้ง่าย เพื่อหลีกเลี่ยงอาการแพ้ท้อง อาการคลื่นไส้อาเจียน เหม็นกลิ่นอาหาร ช่วยในการขับถ่าย อาทิ กล้วย พรุนแห้ง โยเกิร์ต ที่มีโปรตีน คาร์โบไฮเดรท และแคลเซียมซึ่งจำเป็นต่อกระดูก และฟัน และที่สำคัญคือจุลินทรีย์เป็นมิตรต่อร่างกาย นอกจากนี้รสหวานธรรมชาติของผลไม้ช่วยให้แม่ท้องสดชื่นด้วย'
‘ในไตรมาส 2 ช่วง 3-6 เดือน เป็นช่วงที่คุณแม่จะมีความเสี่ยงในการมีอาการแสบร้อนกลางอกจากกรดไหลย้อนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เนื่องจากเป็นช่วงที่ทารกเริ่มมีการเจริญเติบโตภายในครรภ์ ส่งผลให้แรงดันภายในช่องท้องสูงขึ้น นอกจากนี้ คุณแม่ยังต้องการอาหารที่โปรตีนสูงกว่าในช่วงไตรมาสแรกเพื่อการเจริญเติบโตของเด็กในครรภ์ ดังนั้นอาหารที่รับประทานควรเป็นเมนูที่ไขมันต่ำ โปรตีนสูง จากไก่, ปลา และหากเป็นปลาแซลมอน ยังได้โอเมก้า 3 ร่วมด้วย และเมนูเหล่านี้ควรจะเป็นการต้มหรือย่างจะช่วยให้ได้สารอาหารมากกว่า แต่ก็ต้องไม่ลืมที่จะรับประทานให้ครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ โดยเฉพาะคาร์โบไฮเดรต ควรเปลี่ยนมากินคาร์โบไฮเดรตที่ไม่ผ่านการขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวมันปู ขนมปังโฮลสวีต เพื่อคุณค่าอาหารสูงสุดที่ร่างกายต้องการและช่วยลดความอยากกินจุบกินจิบได้ด้วย ส่วนกรดโฟลิก ไม่เข้มงวดมากเหมือนในช่วงแรก แต่ควรกินผักซึ่งให้ไฟเบอร์สูงเพื่อป้องกันท้องผูก
ในช่วง 7-9 เดือนหลัง ควรรับประทานอาหารจำพวกเนื้อไก่, ไข่ไก่ เพิ่มขึ้นแต่ยังคงต้องระมัดระวังในเรื่องอาหารที่กระตุ้นกรดไหลย้อนอยู่ เนื่องจากในช่วงนี้ท้องของคุณแม่จะมีขนาดใหญ่ที่สุดซึ่งมีโอกาสที่จะการแสบร้อนกลางอกได้บ่อย' คุณแววตา เอกชาวนา นักโภชนาการ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ สุขุมวิท กล่าวเสริม
ตอนท้ายของงานเสวนา คุณนก-ชลิดา เถาว์ชาลี ตันติพิภพ ผู้หญิงเก่ง มากความสามารถที่เรารู้จักเธอในหลายฐานะหลากบทบาท โดยเฉพาะการเป็นกูรูด้านความงามและสุขภาพ ให้เกียรติสาธิตเมนูอาหารสำหรับบรรเทาอาการกรดไหลย้อนในคุณแม่ตั้งครรภ์ ให้ชมในงานและให้ได้ลิ้มรสอร่อยและมีคุณค่าทางโภชนาการด้วย