เอกสารฝรั่งบันทึก “ขนบ” สาวกรุงศรีฯ ที่ “การะเกด” ต้องเรียนรู้

เอกสารฝรั่งบันทึก “ขนบ” สาวกรุงศรีฯ ที่ “การะเกด” ต้องเรียนรู้

เอกสารฝรั่งบันทึก “ขนบ” สาวกรุงศรีฯ ที่ “การะเกด” ต้องเรียนรู้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ละครพีเรียดบ้านเรา มีสองอย่างคือ ทำมาแล้วโดนด่า กับทำมาแล้วฮิต ที่โดนด่าส่วนมากก็มาจากความไม่สมเหตุสมผล ดัดแปลงจนเป็นละครมโนล้วน ส่วนที่โดนชมแฟนๆ มักให้ค่ากับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ละเลย จะมีที่ชมเพราะ "ตลก" ก็จะมีเรื่อง "บุพเพสันนิวาส" ที่กำลังดังนี่แหละ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน คุยต่อยอดจากละครเป็นความรู้ต่างๆ ตั้งแต่ "ออเจ้า" คืออะไร? "เวจ" เป็นแบบไหน? ฯลฯ

สัปดาห์นี้ละครดำเนินเรื่องไปได้ระดับนึง ที่น่าสนใจสำหรับฉันคือ การที่บรรดาผู้ชายในเรื่องมักตำหนิติเตียนพฤติกรรมของสาวๆ ตั้งแต่คุณหมื่นที่ว่ากล่าว การะเกด เรื่องการโบกไม้โบกมือให้คนโน้นคนนี้ ไปจนถึง "มารี" หรือแม่มะลิ ที่โดนพ่อว่าหลังทำกิริยาตาเชื่อมเมื่อพบกับหมื่นสุนทรเทวา ชวนให้ค้นว่าจริงๆ แล้ว "จริตและกิริยาน่าชม" ของสาวกรุงศรีฯ ยุคสมเด็จพระนารายณ์ฯ เขาเป็นอย่างไรกันบ้าง

 

ปล่อยตัวล่อนจ้อนแต่ขี้อาย
บันทึกของ "ลา ลูแบร์" บอกว่า นอกจากผ้านุ่งแล้ว ผู้หญิงก็ปล่อยตัวล่อนจ้อน เพราะไม่ได้สวมเสื้อชั้นในมัสลินเหมือนอย่างผู้ชาย มีแต่หญิงที่มีฐานะเท่านั้นที่ใช้สไบห่ม แต่อย่างไรก็ตาม ถึงจะเปลือยแต่ก็ใช่จะไม่มีความเขินอาย อย่างที่ทูตฝรั่งเศสบันทึกว่า

"...หญิงในประเทศนี้กลับเป็นชนชาติที่มีความตะขิดตะขวงใจเป็นอย่างยิ่งในโลก ที่จะเผยส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายซึ่งธรรมเนียมกำหนดให้ปิดบังไว้ ออกให้ใครๆ เห็น พวกผู้หญิงซึ่งนั่งขดอยู่ในเรือเมื่อวันที่เอกอัครราชทูตพิเศษของสมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสแห่เจ้าพระนคร ยังรีบผินหลังให้ขบวนแห่เสีย ส่วนคนที่อยากเห็นเต็มแก่ก็เพียงแต่เหลียวมองข้ามไหล่มาดูเท่านั้น"

 
ไม่สนทนากับชายหนุ่ม
ลาร์ ลูแบร์ อยู่ในกรุงศรีฯ นานพอจะเตร็ดเตร่ไปดูชีวิตผู้คนในพระนคร เขาบันทึกว่า ประเพณีในสยามไม่อนุญาติให้หญิงสาวไปพูดคุยกับชายหนุ่ม ถ้าแม่จับได้ว่าลูกสาวแอบไปพูดจาวิสาสะละก็ จะโดนลงโทษรัวๆ

อ่านถึงตรงนี้อาจมองว่าการโบกไม้โบกมือทักทายผู้ชายพายเรือของการะเกดดูเป็นเรื่องน่าละอายจริงๆ แต่ความคิดคุณจะเปลี่ยนไปถ้าอ่านบันทึกของลา ลูแบร์ต่อ เพราะเขาเล่าว่าถึงจะไม่เจรจาพาที "แต่พวกลูกสาวก็มักจะลักลอบหลบหนีตามผู้ชายไปจนได้เมื่อสบโอกาส และข้อนี้มิใช่สิ่งสุดวิสัยที่จะหลบหนีออกไปได้ในตอนพลบค่ำ"

สรุปคือไม่คุยก็ได้ แต่หนีไปเลย...

ไม่มีสาย ฝ.ในกรุงศรีฯ

หญิงสยามบ้างมีครอบครัวตั้งแต่วัย 12 ปี ทั้งนี้เป็นอำนาจสิทธิ์ขาดของบิดามารดา และพวกเธอหย่าร้างมีสามีใหม่ได้เสมอ แต่ฝรั่งมังค่าไม่ใช่ตัวเลือกของพวกเธอ หรือแม้แต่จะอ้าปากเจรจาด้วยก็เป็นเรื่องยาก

"...หญิงสาวชาวสยามก็ทะนงตนมากพอที่จะไม่ยอมทอดเนื้อทอดตัวให้แก่คนต่างประเทศโดยง่าย หรืออย่างน้อยก็ไม่เจรจาวิสาสะด้วย หญิงชาวพะโค (มอญ) ที่อยู่ในสยามประเทศ ซึ่งตนเองก็เป็นคนต่างประเทศอยู่แล้ว ยังติดต่อกับคนต่างประเทศด้วยกันมากกว่า..."

ภาพการวิวาทะภาษาฝรั่งเศสระหว่างการะเกดกับฟอลคอน หลุยส์ สก็อต จึงอาจเป็นภาพที่แปลกประหลาดในกรุงศรีฯ ยุคสมเด็จพระนารายณ์ฯ

 
นกน้อยในกรงทองเป็นของหวาน
เราจะเห็นฉากหนึ่งของละคร คือตอนที่การะเกด แอบให้บ่าวพายเรือพาไปเที่ยววัดชัยวัฒนาราม ดูน่าสนุก แต่การออกจากบ้านไปเที่ยวเล่นในหมู่สาวๆ กรุงศรีฯ ก็มีเรื่องน่าสนใจเหมือนกัน

เรื่องนี้ต้องเล่าย้อนไปอีกว่า ในสมัยสมเด็จพระรายณ์ฯ ชายชาวสยามยังต้องเข้าเดือนออกเดือน หรือการถูกเกณฑ์ไปทำงานราชการ จะขุดท่อ ขุดคลอง ทำกำแพงเมืองอะไรก็แล้วแต่ ดังนั้นแล้วการทำงานหาเลี้ยงครอบครัวจึงเป็นหน้าที่ของผู้หญิงเต็มๆ การจะออกไปไหนมาไหนของผู้หญิงราษฎรทั่วไปจึงทำได้ เพราะมีปากท้องเป็นแรงขับ อย่างที่ลา ลูแบร์ บอกว่า

"...ผู้ชายส่วนมากก็ไม่รู้ที่จะทำงานอะไรให้เป็นล่ำเป็นสัน...ด้วยพระเจ้าแผ่นดินได้ทรงใช้ให้พวกนี้ทำงานหลายอย่างต่างๆ กันแล้วแต่พระราชประสงค์...พวกภรรยานั้นไปไถนา ไปขายของหรือซื้อของที่ในเมือง..."

แต่ถ้าเป็นผู้หญิงอีกระดับ เช่น ภรรยาขุนน้ำขุนนางแล้วละก็ การออกไปไหนมาไหนโดยอิสระดูเป็นเรื่องต้องห้าม แต่กลับกันพวกเธอกลับเห็นเป็นเกียรติอีกด้วย โดย "สุจิตต์ วงษ์เทศ" เขียนไว้ในหนังสือ "อยุธยายศยิ่งฟ้า" ว่า การถูกกวดขันไม่ให้ไปไหนมาไหนโดยเสรีสร้างความรู้สึกเป็น "ผู้ดี" ถ้าถูกปล่อยปละก็จะพลอยคิดว่าถูกดูหมิ่นเสียด้วยซ้ำ

"ความรู้สึกอย่างนี้มีมาตั้งแต่การอบรมเลี้ยงดูตอนยังเด็กและวัยรุ่น กล่าวคือเด็กหญิงชาวบ้านต้องช่วยเหลือตนเองและช่วยแม่ทำงานทุกอย่าง แต่ลูกสาวขุนนางไม่ต้องทำการงานใดๆ..."

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook