โรคหลายบุคลิก หลายคนในร่างเดียว มีจริงหรือ?

โรคหลายบุคลิก หลายคนในร่างเดียว มีจริงหรือ?

โรคหลายบุคลิก หลายคนในร่างเดียว มีจริงหรือ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มีภาพยนตร์และซีรีส์หลายเรื่องที่นำเอาลักษณะของผู้ป่วยโรคนี้มาทำเป็นโครงเรื่อง แต่ล่าสุดมีภาพยนตร์ที่นำเอาเรื่องจริงของผู้ป่วยที่มี 23 บุคลิกในร่างเดียวมาให้เราได้ชมกัน จนหลายคนเกิดความสงสัยที่ว่า โรคแบบนี้มีอยู่จริงหรือ? แล้วเกิดขึ้นได้อย่างไร? Sanook Health จะพาไปทำความรู้จักโรคนี้กันค่ะ

 

โรคหลายบุคลิก คืออะไร?

โรคหลายบุคลิก หรือ Dissociative Identity Disorder (DID) หรือชื่อเก่าคือ Multiple Personality Disorder (MPD) เป็นโรคจิตประเภทหนึ่งที่ตัวผู้ป่วยมีบุคลิกอื่นๆ มากกว่า 2 บุคลิกขึ้นไป ผลัดเปลี่ยนกันออกมาใช้ชีวิต และแสดงพฤติกรรมที่แตกต่างไปจากบุคลิกเดิมออกมา

จริงๆ แล้ว ชื่อโรคภาษาไทยที่ถูกต้องที่สุด จะเป็น "โรคหลายอัตลักษณ์"

 

โรคหลายบุคลิก มีสาเหตุมาจากอะไร?

สาเหตุของโรคหลายบุคลิกอาจเกิดจากสภาวะทางจิตใจของผู้ป่วยที่ถูกกระทบกระเทือนอย่างหนักตั้งแต่สมัยวัยเด็ก โดยผ่านการกระทำอันรุนแรงทั้งทางกาย และทางจิตใจ เช่น อาจเคยโดนทารุณกรรม กระทำชำเราจากผู้ที่เลี้ยงดูมาตั้งแต่จำความได้ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการทางจิตที่เต็มไปด้วยความเศร้า ความกลัว หวาดระแวง ความหดหู่ทางจิตใจ การปรับเปลี่ยนทางอารมณ์ต่างๆ จนทำให้จิตใต้สำนึกสร้างบุคลิกอื่นๆ ขึ้นมาเพื่อแสดงออกในสิ่งที่บุคลิกหลัก หรือบุคลิกเดิมไม่สามารถทำได้ โดยบุคลิกต่างๆ ที่สร้างขึ้นมาอาจเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของผู้ป่วย

 

บุคลิกต่างๆ ของผู้ป่วยโรคหลายบุคลิก

ตัวอย่างบุคลิกต่างๆ ที่ผู้ป่วยบางคนอาจสร้างขึ้นมา เช่น บุคลิกของคนก้าวร้าวที่จะออกมาเมื่อบุคลิกหลักถูกรังแก บุคลิกของความอ่อนโยนเมื่อผู้ป่วยอยู่ช่วงที่มีความสุข บุคลิกของเด็กซน เมื่อผู้ป่วยนึกถึงความทรงจำในวัยเด็ก หรือบุคลิกของคนที่อยากฆ่าตัวตาย เมื่อผู้ป่วยอยู่ในช่วงเวลาที่เศร้า ผิดหวัง และหดหู่ เป็นต้น

ทั้งนี้ ส่วนใหญ่แล้ว บุคลิกเดิม หรือบุคลิกหลัก (ตัวผู้ป่วยเอง) จะจำอะไรไม่ได้เมื่อบุคลิกอื่นๆ ออกมาใช้ชีวิตแทน นอกจากนี้บุคลิกใดบุคลิกหนึ่งอาจจะจำเรื่องราวบางสิ่งที่เกิดขึ้นกับอีกบุคลิกหนึ่งได้บ้าง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด และแต่ละบุคลิกจะไม่สามารถสื่อสารหรือพูดคุยกันเองได้

นอกจากนี้ แต่ละบุคลิกจะมาพร้อมกับอายุ ชื่อ และน้ำเสียง และพฤติกรรมที่แตกต่างกันออกไป อาจเป็นเด็กชายอายุ 9 ขวบ แม่บ้านอายุ 45 ปี ผู้หญิงวัยรุ่นพูดภาษาต่างประเทศอายุ 23 ปี วัยรุ่นชายสุขุมอายุ 15 ปี หรืออาจจะเป็นเพศที่สามที่ก้าวร้าวหยาบกระด้างวัย 29 ปีก็ได้ โดยแต่ละคนจะมีเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตแตกต่างกันไป โดยเป็นการสร้างเพิ่มเติมจากความทรงจำในช่วงเวลาต่างๆ ในชีวิตผู้ป่วยแต่ละคน

 DID2


โรคหลายบุคลิก กับผลกระทบในชีวิต

หากฟังดูแล้วน่าสนุกกับการที่มีหลายบุคลิกอยู่ในตัวเรา ให้คนที่ก้าวร้าวออกมาช่วยเรายามขับขัน หรือให้คนที่พูดภาษาต่างประเทศได้มาช่วยเราเมื่อเราไปต่างประเทศ แต่แท้ที่จริงแล้วบุคลิกมากมายในตัวเราไม่ได้ควบคุมกันได้ง่ายขนาดนั้น

นอกจากบุคลิกหลักอาจไม่สามารถควบคุมบุคลิกอื่นๆ ในตัวได้แล้ว หากปล่อยให้หลายๆ บุคลิกแสดงความพฤติกรรมออกมาอย่างตามใจชอบ อาจทำให้บุคลิกอื่นมาครอบงำแทนที่บุคลิกหลัก หรืออาจทำอะไรผิดที่เกินเลยไปโดยไม่ตั้งใจ อย่างที่ต่างประเทศมีเหตุที่ผู้ป่วยโรคหลายบุคลิกก่อคดีฆาตกรรมต่างๆ โดยที่ตัวผู้ป่วยเองจำอะไรไม่ได้เลย หรือมีเพื่อน และคนรู้จักเข้ามาทักทาย โดยที่ตัวผู้ป่วยจำไม่ได้ว่าเคยรู้จักกันมาก่อน เป็นต้น

 

โรคหลายบุคลิก มีทางรักษาหรือไม่?

โรคหลายบุคลิกเป็นโรคทางจิตเรื้อรังที่อาจเป็นๆ หายๆ กำเริบและหยุดเป็นพักๆ ขึ้นอยู่กับสภาวะจิตใจของผู้ป่วยในช่วงเวลานั้นๆ โรคหลายบุคลิกต้องใช้เวลาในการรักษาเป็นเวลานาน อาจไม่ถึงขั้นลบล้างเอาบุคลิกทั้งหมดออกไปได้จนหมด หากแต่ผู้ป่วยอาจมีโอกาสได้เรียนรู้วิธีการควบคุม หรืออยู่กับบุคลิกอื่นๆ ได้อย่างปลอดภัย และเป็นสุข ไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมมากนัก

ผู้ป่วยจะมีอาการจะทุเลาขึ้นเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป เมื่อเข้ารับการรักษาโดยวิธีจิตบำบัด หรือสะกดจิตจากจิตแพทย์โดยตรง โดยให้ผู้ป่วยได้ระบายเรื่องราว  และความรู้สึกในอดีตที่เคยทำให้ตนเองเจ็บปวด แต่ไม่กล้าเปิดเผยให้ใครได้ทราบออกมา เพราะเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนทางจิตใจอย่างรุนแรงเหล่านี้ เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดการเบี่ยงเบนพฤติกรรมจนกลายเป็นการสร้างบุคลิกขึ้นมาใหม่ เพื่อทดแทนบุคลิกเดิมของตนเองขึ้นมานั่นเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook