หมูหวาน-หมูแผ่น ตรวจพบไนเตรท-ไนไตรท์ แต่ไม่ระบุในฉลาก

หมูหวาน-หมูแผ่น ตรวจพบไนเตรท-ไนไตรท์ แต่ไม่ระบุในฉลาก

หมูหวาน-หมูแผ่น ตรวจพบไนเตรท-ไนไตรท์ แต่ไม่ระบุในฉลาก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แถลงข่าวผลการทดสอบหาสารไนเตรท และไนไตรท์ในอาหารประเภทหมูแผ่น หมูหวาน หมูสวรรค์ เนื้อเค็ม ผลปรากฏว่าทั้ง 14 ตัวอย่าง พบสารไนเตรท และ/หรือไนไตรท์ทั้งหมด แต่ไม่พบว่ามีชื่อของสารทั้งสองตัวนี้อยู่ในฉลากผลิตภัณฑ์ ทั้งๆ ที่ทาง อย. ระบุว่า ไม่มีการกำหนดปริมาณการใช้ไนเตรท-ไนไตรท์ในอาหารกลุ่มนี้ แต่หาดจะใช้ จำเป็นต้องมาขออนุญาตทาง อย. เฉพาะราย และต้องระบุว่ามีสารดังกล่าวบนฉลากอาหารด้วย

โดยปริมาณสารไนเตรท และไนไตรท์ที่พบในอาหารประเภทหมูแผ่น หมูหวาน หมูสวรรค์ เนื้อเค็มทั้ง 14 ยี่ห้อ มีตั้งแต่ต่ำสุดที่ 15.94 มก./กก (ไนเตรท) ไปจนถึง 2,033.16 มก./กก. (ไนเตรท) ส่วนไนไตรท์ มีทั้งไม่พบสารเลย และพบสูงสุดที่ 55.68 มก./กก.

แม้ว่า อย. จะไม่มีกำหนดเรื่องการใช้ไนเตรทและไนไตรท์ในผลิตภัณฑ์อาหารกลุ่มหมูแผ่นกรอบ หมูหวาน และเนื้อเค็ม แต่จากการสอบถามกับนักวิชาการของ อย.การใช้ต้องขออนุญาตเป็นการเฉพาะราย และเมื่อมีการใช้ต้องแจ้งข้อมูลบนฉลากทุกครั้ง หากใช้โดยไม่มีการขออนุญาต มีความผิดตามมาตรา 6(5) ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อาหาร พ.ศ. 2522 หลักเกณฑ์เงื่อนไขและวิธีการใช้วัตถุเจือปนอาหาร บทลงโทษมาตรา 47 ระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท

นอกจากนี้ยังพบอีกว่าใน 11 ตัวอย่างที่ต้องมีเลขสารบอาหารมีเพียง 7 ตัวอย่างที่มีเลขสารบบของ อย. โดยสามารถตรวจสอบความถูกต้องว่าเป็นเลข อย.จริง เพียง 5 ตัวอย่าง อีก 2 ตัวอย่างเป็นเลขสารบบอาหารของต่างจังหวัด ไม่สามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ของ อย. และอีก 5 ตัวอย่าง ฉลากไม่ระบุวัน เดือน ปีที่ผลิตและหมดอายุ

นางสาวมลฤดี โพธิ์อินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “การรับประทานอาหารที่มีการใช้ไนเตรทและไนไตรท์ อาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับ ไต กระเพาะปัสสาวะ กระเพาะอาหาร ลำไส้ ตับอ่อน และทางเดินหายใจได้ กรณีผู้ที่มีอาการแพ้อาจส่งผลต่อระบบหายใจ ทำให้หัวใจเต้นเร็ว หมดสติหรือเสียชีวิตได้”

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการบริหารนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า ได้มีการเสนอให้สถาบันวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีด้านอาหาร หรือสถาบันที่เกี่ยวข้องช่วยสนับสนุน หรือพัฒนาเทคโนโลยีว่าจะทำอย่างไรอาหารจึงจะอร่อยและปราศจากวัตถุเจือปนอาหารได้ พร้อมขอเสนอไปยัง อย. ดังนี้

1. ดำเนินการกับผู้ผลิตอาหาร ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ใช้วัตถุเจือปนอาหารโดยไม่มีการขออนุญาต มีความผิดตามมาตรา 6(5) ของ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 หลักเกณฑ์เงื่อนไขและวิธีการใช้วัตถุเจือปนอาหาร บทลงโทษมาตรา 47 ระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท

2. บังคับการใช้ฉลากตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ. 2557 เรื่องการแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ โดยให้แสดงว่าใช้สารกันบูด ชนิดไนเตรท รวมทั้งเลขมาตรฐานสากล เป็นต้น

3. ยกระดับมาตรฐานอาหารภายในประเทศให้มีคุณภาพเทียบเท่ามาตรฐานโคเด็กซ์

 

ดังนั้นประชาชนควรระมัดระวังในการซื้ออาหารประเภทนี้รับประทาน อาจจะรับประทานแต่ในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่มากจนเกินไป ไม่บ่อยจนเกินไป และเลือกรับประทานให้หลากหลายยี่ห้อ ไม่ทานยี่ห้อเดิมติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็จะช่วยหลีกเลี่ยงการบริโภคสารไนเตรท และไนไตรท์โดยไม่จำเป็นได้

 

ขอบคุณข้อมูลจาก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ภาพประกอบจาก
istockphoto

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook