"หมอนรองกระดูกคอกดทับเส้นประสาท" โรคฮิตของคนทำงาน

"หมอนรองกระดูกคอกดทับเส้นประสาท" โรคฮิตของคนทำงาน

"หมอนรองกระดูกคอกดทับเส้นประสาท" โรคฮิตของคนทำงาน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สัญญาณเตือนของ โรคหมอนรองกระดูกคอเสื่อมกดทับเส้นประสาท หรือ ไขสันหลัง หนุ่มสาววัยทำงานทั้งหลาย มีอาการเหล่านี้หรือไม่ ปวดกระดูกคอ ปวดบ่า ปวดไหล่ ร้าวลงไปที่แขน รวมถึงมีอาการชาและอ่อนแรง บางรายเป็นมากถึงขั้นยกแขนไม่ขึ้นเดินลำบาก พึงระวังไว้ เพราะอาการเหล่านี้นั้นสำคัญ

สาเหตุและอาการของโรคหมอนรองกระดูกคอกดทับเส้นประสาท

อาจเกิดขึ้นได้ทั้งในภาวะที่เกิดจากอุบัติเหตุหรือภาวะที่ไม่เกิดอุบัติเหตุ ในส่วนที่เกิดจากอุบัติเหตุก็ตรงไปตรงมา มีการบาดเจ็บและทำให้หมอนรองกระดูกบริเวณต้นคอมีการเคลื่อนหรือกดทับไม่ว่าจะเป็นไขสันหลังหรือเส้นประสาท สำหรับกลุ่มที่ไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุที่พบได้บ่อยๆ คือกลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยงเรื่องของการใช้คอ ใช้กล้ามเนื้อแผ่นหลังที่ผิดลักษณะ เช่น การนั่งเล่นไอแพดนานๆ โดยเฉพาะในกลุ่มคนทำงานที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ กลุ่มนี้มักมีปัญหาเรื่องปวดคอ บ่า ไหล่ และจะมีอาการปวดแปล๊บเหมือนไฟช็อตลงไปที่แขน มีอาการชา บางรายอาจอ่อนแรง ทำให้เสียความสามารถในการทำงาน

แนวทางการรักษาโรคหมอนรองกระดูกคอกดทับเส้นประสาท

การรักษา ในปัจจุบันมีเครื่องมือที่ทันสมัยและช่วยให้แพทย์สามารถวิเคราะห์ วินิจฉัยได้ง่ายและชัดเจนมากขึ้น การรักษาแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม

กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มที่อาการไม่รุนแรงมากนัก สามารถรักษาได้โดยไม่ต้องผ่าตัด โดยการทานยา และทำกายภาพบำบัด

กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่ทานยาแล้วไม่ดีขึ้นทำอย่างไรก็ไม่หาย กลุ่มนี้จะมีนวัตกรรมการรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัดที่เข้ามาช่วยในการรักษา เช่น การรักษาโดยผ่านคลื่นความร้อน หรือการฉีดยาเข้าไปเหนือเส้นประสาทที่บริเวณคอ

การรักษาโดยใช้คลื่นวิทยุความถี่สูง (Nucleoplasty)

หลักการของการรักษาวิธี Nucleoplasty หรือการใช้คลื่นวิทยุความถี่สูงเข้าไปที่หมอนรองกระดูกมีอยู่ 3 หลักการ

  1. ลดแรงดันของหมอนรองกระดูกสันหลัง
  2. เข้าไปสลายเส้นประสาทที่งอกเข้ามาตรงแกนกลางของกระดูกสันหลังซึ่งเป็นเส้นประสาทที่จะทำให้เกิดอาการปวด  ปกติจะมีเส้นประสาทอยู่รอบๆหมอนรองกระดูกสันหลัง  แต่อยู่ที่ขอบจะไม่งอกเข้ามาข้างใน คลื่นวิทยุความถี่สูงจะเข้าไปตัดหรือเข้าไปสลาย ทำลายเส้นประสาทที่งอกเข้ามาในแกนกลางของหมอนรองกระดูกสันหลัง
  3. เข้าไปปรับโมเลกุล ปรับโครงสร้างของหมอนรองกระดูกสันหลังทำให้การผลิตสารที่สื่อความเจ็บปวดออกมาน้อยลง เป็นวิธีในการรักษา

ใครที่เหมาะในการรักษาโดยวิธี Nucleoplasty

คือ ผู้ป่วยที่เป็นหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมแล้วก็มีการเคลื่อนออกมาแต่ไม่มาก (Herniated Nucleus Pulposus : HNP) แต่คนไข้มีอาการปวดมากรักษาด้วยยา ด้วยกายภาพบำบัด การปรับกิจวัตรประจำวันแล้วยังไม่หาย  มาตรวจด้วย MRI เพื่อดูหมอนรองกระดูกที่ยื่นออกมา หรือว่าหินปูนที่อยู่ตามขอบบน ขอบล่างของหมอนรองกระดูกสันหลัง ก็ไม่ได้กดทับเส้นประสาทอย่างมีนัยสำคัญ  แต่มีอาการปวดมาก คนไข้กลุ่มนี้ก็จะได้ประโยชน์ทางการรักษาโดยใช้คลื่นวิทยุความถี่

ข้อดีของวิธี Nucleoplasty

  • ไม่ต้องใช้ยาดมสลบ
  • เกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่าการผ่าตัด
  • ลดระยะการนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล
  • การฟื้นตัวหลังผ่าตัดรวดเร็ว สามารถกลับบ้านได้ทันที หรือนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเพียง 1 คืน
  • อาการที่เจ็บปวดจะบรรเทาไปอย่างรวดเร็วภายใน 2 สัปดาห์ ในผู้ป่วยส่วนใหญ่

กลุ่มที่ 3  เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ในการรักษาด้วยการผ่าตัด คือ

  • มีอาการเป็นมานานมากกว่า 6 สัปดาห์ และเป็นถี่มากขึ้น ความรุนแรงของการปวดมากขึ้น
  • ไม่ตอบสนองต่อการรักษาโดยวิธีอื่น หรือคนไข้ต้องทนทุกข์ทรมาน อาการปวดนั้นเรื้อรัง
  • มีอาการอ่อนแรงของข้อต่อ เช่น ข้อมือ ข้อศอก หัวไหล่
  • เป็นกลุ่มอาการกดทับไขสันหลังคือ คนไข้จะเสียความสามารถในการใช้มือ และเสียความสามารถในการทรงตัว
  • ภาวะการติดเชื้อหรือเนื้องอก

วิธีดูแลด้วยตัวเองง่ายๆ ให้ห่างไกลโรคหมอนรองกระดูกคอกดทับเส้นประสาท

หากไม่อยากทนทุกข์ทรมานจากภาวะหมอนรองกระดูกคอเสื่อมกดทับเส้นประสาทหรืออาการปวดเกร็งกล้ามเนื้อที่อยู่บริเวณรอบๆ คอ บ่า และไหล่ ต้องคอยเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า นั่ง 1 ชั่วโมง แล้วลุกยืน 1 นาที ไทม์สเตรชชิ่ง (Time Stretching) ยืดและเหยียดกล้ามเนื้อ ตามคำแนะนำของแพทย์ ถ้าจำเป็นต้องนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ ควรหันหน้าให้ตรงกับจอ โต๊ะทำงานจะต้องมีที่พักข้อมือ เรียกว่า แฮนด์เลส (Hand rest) และจอมอนิเตอร์จะต้องอยู่ระดับสายตา การนั่งต้องนั่งให้เต็มก้นและมีพนักพิง ถ้าทำได้แบบนี้จะสามารถทำให้ท่านห่างไกลจากภาวะปวดคอ บ่า ไหล่ Office Syndrome หรือที่รุนแรงกว่านั้นก็คือ หมอนรองกระดูกคอหรือกระดูกคอเคลื่อนไปกดทับเส้นประสาทได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook