โรคประหลาดคล้ายเอดส์....แต่ไม่ใช่เอดส์
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060
    //s.isanook.com/he/0/ud/0/3729/notaids.jpgโรคประหลาดคล้ายเอดส์....แต่ไม่ใช่เอดส์

    โรคประหลาดคล้ายเอดส์....แต่ไม่ใช่เอดส์

    2016-06-07T19:18:00+07:00
    แชร์เรื่องนี้

    ศ.พญ. ยุพิน ศุพุทธมงคล
    ภาควิชาอายุรศาสตร์
    Faculty of Medicine Siriraj Hospital
    คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

     

    ปี 2555  มีข่าวทำให้ผู้คนตื่นตระหนกกับโรคประหลาดที่มีอาการคล้ายเอดส์ และยังหาสาเหตุไม่พบ  เพื่อให้เข้าใจถึงโรคดังกล่าว เรามีความรู้มาฝากค่ะ

    โรคประหลาดคล้ายเอดส์ ที่ยังไม่มีชื่อเรียกนี้  เป็นโรคที่ไม่ได้ติดเชื้อเอชไอวี  พบมานับ 10 ปี   เกิดจากภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ทำให้มีอาการป่วยจากโรคติดเชื้อฉวยโอกาสชนิดต่างๆ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียกลุ่มมัยโคแบคทีเรีย การติดเชื้อราที่อาการรุนแรง เป็นต้น ผู้ป่วยจะมาด้วยอาการไข้เรื้อรัง ต่อมน้ำเหลืองอักเสบหลายแห่ง ร่วมกับปอดอักเสบ ฝีตามอวัยวะต่างๆ รวมทั้งผิวหนังอักเสบเป็นหนอง  

    โรคดังกล่าว ไม่ใช่โรคติดต่อ พบไม่บ่อย และไม่รู้สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะภูมิคุ้มกันผิดปกติเหมือนอย่างโรคเอดส์ที่รู้ว่าเกิดจากการติดเชื้อไวรัสภูมิคุ้มกันบกพร่อง และไม่ได้เกิดจากรับการรักษาด้วยยากดภูมิคุ้มกันต่าง ๆ  โรคนี้พบมากในชาวเอเชียรวมทั้งคนไทย  มักเกิดในผู้ใหญ่อายุเฉลี่ย 40-50 ปี

    การรักษาผู้ป่วยในปัจจุบัน เป็นการรักษาโรคติดเชื้อฉวยโอกาสด้วยยาต้านจุลชีพ ผู้ป่วยอาจมีการดำเนินโรคแตกต่างกัน การรักษาขณะนี้ ทำให้โรคติดเชื้อฉวยโอกาสสงบแต่อาจมีการกำเริบหรือพบการติดเชื้อฉวยโอกาสอื่นๆเป็นครั้งคราว

    ขณะนี้คณะผู้วิจัยซึ่งเป็นแพทย์โรคติดเชื้อจากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทยได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล รวมถึงคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับคณะผู้วิจัยจากสถาบันสุขภาพอเมริกา ได้ทำการวิจัยพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีการสร้างสารแอนติบอดีต่อสารอินเตอร์เฟอรอนแกมม่า ทำให้ภูมิคุ้มกันซึ่งใช้ป้องกันการติดเชื้อฉวยโอกาสต่างๆ ดังกล่าวผิดปกติ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการป่วยจากการติดเชื้อฉวยโอกาสเหล่านั้น ซึ่งขั้นต่อไปคณะผู้วิจัยกำลังวางวิจัยเพื่อให้รู้สาเหตุการก่อโรค เพื่อจะได้วางแผนการรักษาโรคนี้ให้หายขาด

    ดังนั้นหากมีอาการดังกล่าวข้างต้น ควรมารับการตรวจตามขั้นตอนจากแพทย์โรคติดเชื้อ  เพราะการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องแม้ไม่หายขาด แต่ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ

     

    ขอบคุณเนื้อหาจาก www.si.mahidol.ac.th คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล