3 วัตถุเจือปนอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง เสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพ

3 วัตถุเจือปนอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง เสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพ

3 วัตถุเจือปนอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง เสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มีผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปหลากหลายชนิดที่มีรสชาติอร่อยและช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้คนในปัจจุบัน แต่ก็มีการใช้วัตถุเจือปนอาหารมากกว่า 1,500 ชนิด ในผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารญี่ปุ่นได้ออกมาเตือนให้ระวังการรับประทานอาหารที่ประกอบไปด้วยวัตถุเจือปนอาหารที่ใช้กันมากเป็นอันดับต้นๆ ในญี่ปุ่น เนื่องจากหากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อร่างกายในระดับเซลล์ได้ มารู้กันว่าจำเป็นต้องใช้วัตถุเจือปนอาหารหรือไม่ และวัตถุเจือปนอาหารอะไรบ้างที่ควรหลีกเลี่ยงกัน

จำเป็นต้องใช้วัตถุเจือปนในอาหารหรือไม่

วัตถุเจือปนเป็นส่วนประกอบในอาหารที่สำคัญเพื่อการถนอมอาหารให้เก็บไว้ได้นานและปลอดภัยจากการปนเปื้อนด้วยเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ อีกทั้งยังทำให้ผลิตภัณฑ์ดูดีน่าดื่มกิน และช่วยลดต้นทุนการผลิต ปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารในญี่ปุ่นใช้วัตถุเจือปนอาหารมากกว่า  1500 ชนิด เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์อาหารและอาหารแปรรูปมากมาย แน่นอนว่าการหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารแปรรูปเป็นสิ่งที่ดี แต่ในชีวิตจริง คนบางคนไม่เก่งด้านทำอาหาร บางคนต้องทำอาหารสามมื้อ บางคนทำงานยุ่งมากจนไม่มีเวลา และบางคนต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ดูแลลูก เป็นต้น พวกเขาจำเป็นต้องใช้อาหารแปรรูปเป็นตัวช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน แทนการหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารแปรรูปจนอาจสร้างความเครียดให้แก่ตนเอง ก็เปลี่ยนมาเป็นทางสายกลางเลือกรับประทานอาหารแปรรูปแบบปลอดภัยโดยดูที่บรรจุภัณฑ์ก่อนการซื้อ

วัตถุเจือปนอาหาร 3 ชนิด ที่รับประทานเป็นประจำแล้วจะส่งผลเสียต่อร่างกายในระดับเซลล์

  1. น้ำตาลเทียม
    มีการใช้น้ำตาลเทียมได้แก่ แซคคาริน (Saccharin) แอสปาร์เทม (Aspartame) อะซีซัลเฟม เค (Acesulfame K) ซูคราโลส (Sucralose) เป็นต้น เป็นสารให้ความหวานในผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม เช่น น้ำผลไม้ และขนมหวาน น้ำตาลเทียมหวานเป็น 200 เท่าของน้ำตาลทั่วไป ซึ่งเป็นการลดต้นทุนการผลิตได้ดี อย่างไรก็ดี น้ำตาลชนิดนี้จะส่งผลเสียต่อร่างกาย โดยจะไปรบกวนการสื่อสารและการทำงานร่วมกันของแบคทีเรียชนิดดีในลำไส้ นอกจากนี้ เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วสมองซึ่งรับรู้ความหวานของน้ำตาลเทียมจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างอินซูลินซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดออกมา อย่างไรก็ดี ปริมาณน้ำตาลไม่ได้เข้าสู่กระแสเลือดจริง ทำให้น้ำตาลในกระแสเลือดต่ำและเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ และในระยะยาวอาจไปทำลายระบบการควบคุมของระดับน้ำตาลในเลือดให้ผิดปกติไป
  2. สารประกอบฟอสเฟต
    สารประกอบฟอสเฟตเป็นวัตถุเจือปนที่ใช้กันมากในผลิตภัณฑ์เนื้อแปรรูป เช่น แฮมและไส้กรอก อีกทั้งยังใช้เป็นอิมัลซิไฟเออร์ สารปรับ pH และสารปรับความเป็นกรด เป็นต้น ในผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ มีสารประกอบฟอสเฟตหลายชนิดที่ใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป แต่สารประกอบฟอสเฟตที่ควรระมัดระวังไม่รับประทานบ่อยคือ กรดไฟโรฟอสโฟริก (Pyrophosphoric acid) กรดโพลีฟอสโฟริก (Polyphosphoric acid) และกรดเมตาฟอสโฟริก (Metaphosphoric acid) ซึ่งมีคุณสมบัติในการจับแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายและขับออกทางอุจจาระ แม้ว่าการรับประทานอาหารแปรรูปในปริมาณมากจะไม่ทำให้ร่างกายรับสารประกอบฟอสเฟตสูงเกินจากปริมาณที่กำหนด แต่ก็ควรระวังการขับแร่ธาตุที่จำเป็นออกจากร่างกาย ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพได้
  3. น้ำตาลฟรุกโตส
    น้ำตาลฟรุกโตสเป็นน้ำตาลที่มีความหวานมากกว่ากลูโคสถึงสองเท่า มีราคาถูก ไม่ตกผลึก และไม่ก่อให้เกิดการเพิ่มของระดับน้ำตาลในเลือดอย่างรวดเร็ว มีการใช้น้ำตาลชนิดนี้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เครื่องดื่มบำรุงกำลัง น้ำอัดลม ผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้ ขนมและของว่างต่างๆ แกงกะหรี่สำเร็จรูป และซอสมะเขือเทศ เป็นต้น จากการศึกษาในหนูพบว่าน้ำตาลฟรุกโตสจะถูกเปลี่ยนเป็นสารที่จำเป็นสำหรับการเจริญของเซลล์มะเร็งโดยเฉพาะเซลล์มะเร็งในลำไส้ใหญ่ อีกทั้งยังมีงานวิจัยว่าการรับประทานน้ำตาลฟรุกโตสในปริมาณที่มากเกินไปยังก่อให้เกิดโรคมะเร็งตับอ่อน ปอด และเม็ดเลือดได้ด้วย นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดการสะสมของไตรกลีเซอไรด์ในเลือดซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอ้วนและโรคหลอดเลือดหัวใจด้วย
    ผลไม้มีน้ำตาลฟรุกโตสสูง แต่ผลไม้มีวิตามิน แร่ธาตุ และเส้นใยอาหาร ซึ่งร่างกายจะเผาผลาญน้ำตาลชนิดนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าน้ำตาลฟรุกโตสซึ่งเป็นส่วนประกอบในเครื่องดื่มหรือขนมหวาน ดังนั้นหากอยากรับประทานอะไรที่หวานๆ ผลไม้เป็นของว่างที่ดีต่อสุขภาพมากกว่าผลิตภัณฑ์อาหารหรือเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลฟรุกโตส

วัตถุเจือปนอาจไม่มีปัญหาต่อสุขภาพสำหรับคนที่มีสุขภาพแข็งแรงถ้าไม่รับประทานในปริมาณที่มากจนเกินไป อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ที่มีความผิดปกติหรือมีโรคประจำตัว และอยากให้ตนเองมีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้น ก็ควรดูส่วนประกอบของวัตถุเจือปนอาหารในบรรจุภัณฑ์ก่อนการเลือกซื้อ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook