เคล็ดลับลดเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) แค่ปรับวิถีชีวิต

เคล็ดลับลดเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) แค่ปรับวิถีชีวิต

เคล็ดลับลดเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) แค่ปรับวิถีชีวิต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ด้วยพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนเราในยุคปัจจุบันเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงไม่ว่าจะด้วยเหตุปัจจัยใดก็ตาม อย่างเช่น การนอนดึก พักผ่อนน้อย กินอาหารจานด่วน กินอาหารรสจัด กินอาหารที่มีไขมันสูง กินอาหารปิ้งย่างถี่เกินไป การไม่ออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ความเครียด เป็นต้น ทั้งที่เราก็รู้กันดีว่าพฤติกรรมสุขภาพเช่นนี้เป็นโทษต่อร่างกาย โดยเฉพาะการก่อให้เกิดโรค NCDs ขึ้นได้

ภายใต้วิถีชีวิตจากสังคมแบบบริโภคนิยม (Consumerism) กระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization) และความเป็นเมือง (Urbanization) ทำให้เงื่อนไขทางเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยงทางสุขภาพส่งผลต่อความเจ็บป่วย วิถีชีวิต และค่านิยมในการบริโภคที่เปลี่ยนไป ทำให้ผู้บริโภคเลือกความสะดวกสบาย ความทันสมัย และภาพลักษณ์ของรสนิยมมากกว่าการให้คุณค่ากับสุขภาพ

กลุ่มโรค NCDs คืออะไร?

โรคกลุ่ม NCDs (non-communicable diseases) หรือก็คือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งโรคเหล่านี้เป็นโรคที่ไม่ได้ติดต่อกันระหว่างบุคคล ไม่สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คน แต่โรคเหล่านี้เกิดขึ้นจากนิสัยและพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตของแต่ละบุคคล พูดง่ายๆ ก็คือ โรคในกลุ่ม NCDs นี้ เราเป็นคนสร้างขึ้นมาเอง และพาตัวเองมาเจ็บป่วยเอง

ลักษณะการเกิดโรคจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ค่อยๆ สะสมอาการไปเรื่อยๆ นานวันเข้าก็ก่อให้เกิดโรคโดยไม่รู้ตัว ผู้ป่วยบางรายไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าตนเองป่วย ยิ่งหากขาดการตรวจสุขภาพประจำปีแล้วด้วยล่ะก็ กว่าจะรู้ตัวอาจรักษาได้ยากหรือรักษาไม่หายได้ จึงจัดโรค NCDs นี้เป็นกลุ่มโรคเรื้อรัง

อย่างไรก็ตาม ความน่ากลัวของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังนี้ มาจากการที่เราละเลยพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพ ฉะนั้น เมื่อมีอาการป่วยของโรคใดโรคหนึ่ง ก็สามารถทำให้มีโรคต่าง ๆ ตามมาได้ด้วยเช่นกัน จนกลายเป็นคนที่มีโรครุมเร้าได้

พฤติกรรมเสี่ยงโรคกลุ่ม NCDs

พฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคกลุ่ม NCDs ล้วนเกิดขึ้นจากตัวของเราเอง ได้แก่

  • การรับประทานอาหาร เช่น อาหารหวานจัด เค็มจัด มันจัด อาหารจานด่วน อาหารปิ้งย่าง ไม่กินผักและผลไม้บ้าง ดื่มน้ำน้อย
  • ขาดการออกกำลังกาย
  • การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • การสูบบุหรี่
  • พักผ่อนน้อย นอนดึก
  • ความเครียด

โรค NCDs มีโรคอะไรบ้าง?

ตัวอย่างของโรคกลุ่ม NCDs มีดังนี้

  • โรคระบบหัวใจ
  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • โรคเบาหวาน
  • โรคมะเร็ง
  • โรคระบบทางเดินหายใจ
  • โรคไตเรื้อรัง
  • โรคอ้วนลงพุง
  • โรคสมองเสื่อม
  • โรคตับแข็ง

สถานการณ์โรค NCDs

โรค NCDs หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นปัญหาสุขภาพที่กำลังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในทุกภูมิภาคของโลก และในระดับประเทศเองก็เป็นปัญหาสาธารณสุขที่ทำให้งานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่ท้าทายมากขึ้นไม่ต่างกัน

ข้อมูลองค์การอนามัยโลก เล็งเห็นว่ากลุ่มโรค NCDs นี้เป็นปัญหาใหญ่ที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ สถิติการเสียชีวิตของประชากรโลกในปี พ.ศ. 2552 มีถึง 63 เปอร์เซ็นต์ ที่เสียชีวิตด้วยโรคในกลุ่มนี้ และที่สำคัญกว่านั้น พบว่ากว่า 80 เปอร์เซ็นต์เป็นประชากรของประเทศกำลังพัฒนา และส่วนใหญ่เป็นคนวัยทำงาน

ส่วนสถิติที่น่าสนใจสำหรับประเทศไทยนั้น พบว่าโรคในกลุ่ม NCDs เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของประชากรไทย สถิติปีพ.ศ. 2552 มีรายงานตัวเลขประชากรที่เสียชีวิตจากกลุ่มโรค NCDs มากกว่า 300,000 คน โดยคิดเป็น 73 เปอร์เซ็นต์ของการเสียชีวิตของประชากรไทยทั้งหมดในปี 2552 นั่นหมายความว่าประชากรไทยเสียชีวิตจากโรคในกลุ่ม NCDs นี้เกินครึ่งไปมากจากสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด นอกจากนี้สถิติดังกล่าวยังแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตด้วยกลุ่มโรคนี้สูงมากกว่าค่าเฉลี่ยของคนทั้งโลก และก็มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย

ใช้ชีวิตประจำวันให้ห่างไกลจากโรค NCDs ได้อย่างไร?

แม้ว่าสถิติการป่วยและเสียชีวิตจากกลุ่มโรค NCDs จะสูงมาก แต่โรคในกลุ่มนี้สามารถป้องกันได้ เพราะในเมื่อโรคกลุ่ม NCDs นี้เกิดขึ้นจากพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่รักสุขภาพของตัวบุคคล การลดความเสี่ยงการเกิดโรค หรือพยายามใช้ชีวิตประจำวันให้ห่างไกลจากโรคนั้น จึงต้องมุ่งเน้นที่การปรับพฤติกรรมส่วนตัวเป็นหลัก ควรลด ละ เลิก ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ส่งผลให้ร่างกายทำงานผิดปกติ จนเกิดเป็นโรคได้ เช่น

  • ปรับพฤติกรรมการกิน ลดการกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย พวกอาหารจานด่วน อาหารรสจัด อาหารที่มีไขมันสูง อาหารปิ้งย่าง อันที่จริงสามารถกินได้ เพียงแต่ลดความถี่ลง เป็นนาน ๆ ครั้ง ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ
  • ละ เลิก การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ เนื่องจากเป็นปัจจัยอันดับต้นๆ ที่ทำให้ผู้ที่ดื่มหรือสูบมีโอกาสเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคต่าง ๆ มากกว่าคนที่ไม่มีพฤติกรรมนี้
  • ปรับพฤติกรรมการพักผ่อน เลิกนิสัยนอนดึก พักผ่อนน้อย นอนไม่เป็นเวลา
  • ควบคุมความเครียด
  • ขยับเขยื้อนร่างกายให้มากขึ้น หลีกเลี่ยงการนั่งทำงานนานๆ โดยที่ไม่ขยับร่างกายมาเปลี่ยนอิริยาบถเลย
  • หมั่นตรวจสุขภาพประจำปีอย่างน้อยคือปีละ 1 ครั้ง

ซึ่งถ้าหากเราสามารถลดหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่เสี่ยงเหล่านี้ได้ ก็จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงในการป่วยเป็นโรคในกลุ่ม NCDs ได้มากถึง 80 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook