ทำความเข้าใจผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ หรือคนสองบุคลิก ให้ชัดเจนขึ้น

ทำความเข้าใจผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ หรือคนสองบุคลิก ให้ชัดเจนขึ้น

ทำความเข้าใจผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ หรือคนสองบุคลิก ให้ชัดเจนขึ้น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ระยะหนึ่งแล้วที่คนไทยเริ่มรู้จักกับโรค “ไบโพลาร์” หรือบางคนอาจเรียกว่าโรค คนสองบุคลิก ที่เมื่อเสียใจก็เสียใจสุดๆ แต่เมื่อดีใจก็ดีใจเสียโอเวอร์ แต่ถึงแม้ผู้ป่วยโรคไบโพลาร์จะมีจำนวนมากขึ้นในสังคมไทยก็จริง แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่มีอาการเหล่านี้จะถูกเรียกว่าเป็นโรคไบโพลาร์กันเสียหมด

Sanook Health ทำข้อมูลดีๆ จาก เฟซบุ๊คเพจ สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไท ที่จะมาอธิบายถึงโรคไบโพลาร์ให้ชัดเจนขึ้น ให้คนทั่วไปเข้าใจถึงโรคนี้ และทำความเข้าใจผู้ป่วยโรคนี้ให้มากขึ้นด้วยค่ะ

ขอเพียงความเข้าใจ "ไบโพลาร์"

ปัจจุบันหากได้มีโอกาสติดตามข่าวในโทรทัศน์หรือหนังสือพิมพ์ คงได้มีโอกาสได้ยินเกี่ยวกับโรคไบโพลาร์ สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ เดี๋ยวนี้กลายเป็นว่า สังคมมักจะมีความคิดประมาณว่า ถ้าใครมีลักษณะผิดปกติอะไรสักอย่าง ต้องถามขึ้นมาเลยว่า "นี่เป็นไบโพลาร์รึเปล่าเนี่ย!?!" ซึ่งคงไม่ยุติธรรมกับคนไข้ที่เป็นไบโพลาร์เท่าไหร่นัก แล้วในความเป็นจริง ไบโพลาร์คือโรคอะไรกันแน่

* ที่แน่ๆ มันไม่ใช่อารมณ์ร้ายเพียงเพราะไม่ได้ดั่งใจ ไม่ใช่คนนิสัยเอาแต่ใจหรือเห็นแก่ตัว *

โรคอารมณ์สองขั้ว หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Bipolar Disorder นั้น จากงานวิจัยพบว่า คนเรามีโอกาสป่วยเป็นโรคอารมณ์สองขั้วได้ประมาณ 1% การที่มีความเข้าใจเรื่องโรคนี้ก็น่าจะมีประโยชน์ในการป้องกันและดูแลคนรอบข้างที่มีความเสี่ยงหรือสงสัยว่าจะเป็นโรคได้ โรคอารมณ์สองขั้ว ลักษณะทั่วไปก็เป็นตามชื่อ ก็คือ มีลักษณะของอารมณ์และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงอย่างแตกต่าง 2 แบบ

  1. ช่วงซึมเศร้า (Depressive episode) ที่เป็นนานอย่างน้อย2สัปดาห์ (รายละเอียดในบทความโรคซึมเศร้า)

  2. มีลักษณะ คึกคักพลุ่งพล่าน ที่เรียกว่าเมเนีย (Mania หรือ Manic episode)

คนที่เป็นโรคไบโพลาร์นี้อารมณ์จะเปลี่ยนแปลงเป็นช่วงๆ

  • ช่วงที่ว่านี้คือเป็นสัปดาห์ ไม่ใช่เป็นชั่วโมงหรือวันสองวัน
  • โดยอาจเป็นลักษณะซึมเศร้า ตามด้วยช่วงเวลาที่เป็น "ปกติ" ดี เป็นคนเดิมของเขา จากนั้นอาจเกิดอาการแบบเมเนียขึ้นมา
  • โรคไบโพลาร์ ต้องมีช่วงเมเนีย (ขั้วบวก = เมเนีย และ ขั้วลบ = ซึมเศร้า) แต่อาจจะมีช่วงซึมเศร้าหรือไม่ก็ได้
  • บางคนแสดงอาการซึมเศร้าก่อน ต่อมาค่อยแสดงอาการเมเนีย การวินิจฉัยจึงเปลี่ยนจากโรคซึมเศร้า เป็นโรคไบโพลาร์
  • ซึ่งส่วนใหญ่จะแสดงอาการซึมเศร้าก่อนมากกว่า

อาการหลักๆคือ "เยอะ" ไม่ว่าความคิด ความมั่นใจ การพูด ”ล้น” ไปหมด (โดยที่แต่ก่อนไม่ได้เป็นแบบนี้) แต่มักไม่เกิดผลดี เพราะมาจากสมองที่กำลังปั่นป่วน

เราอาจเคยเห็นเพื่อนๆหรือคนที่อยู่รอบข้าง ที่อยู่ดีๆก็ขยันทำงานไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย บางคนดูเหมือนมีแผนการและความคิดสร้างสรรค์มากมาย เวลาพูดคุยด้วยจะสังเกตว่าพูดมาก พูดเร็ว แต่ดูกระจัดกระจายไม่ปะติดปะต่อ เปลี่ยนเรื่องเร็วจนตามไม่ทัน มีพลังงานเหลือเฟือในการทำงาน วางแผนโครงการต่างๆมากมาย บางคนไปดาวน์รถ จองคอนโดหลายที่ ต้องมาตามใช้หนี้ตอนหลัง รวมทั้งดูมีความมั่นใจในตัวเองมาก คิดว่าตัวเองมีความสามารถสูง เช่น ถ้าลงเลือกตั้งต้องได้ตำแหน่งแน่ๆ

บางคนเป็นมากอาจมีความคิดหลงผิด (delusion) ว่าตัวเองเป็นผู้วิเศษ มีพลังอำนาจวิเศษเหนือธรรมชาติ หากค่อนข้างสนิทจะเห็นว่ามีลักษณะใช้จ่ายเกินตัวผิดปกติ ถ้าเป็นคนประหยัดจะใช้เปลืองมากขึ้น ถ้าเป็นคนใช้เงินอยู่แล้วก็จะมากขึ้นอีก บางคนบริจาคเงินมากมาย บางทีเอาเงินมาแจกเพื่อน ถ้าเป็นระดับหัวหน้างานก็อาจแจกเงินลูกน้อง พาลูกน้องไปเลี้ยงใหญ่ทุกวัน นอนดึกมากขึ้น (ไม่ใช่นอนไม่หลับ) แต่ไม่ง่วงไม่อยากนอน มีพลังเหมือนสังเคราะห์แสงได้ อารมณ์อาจเป็นลักษณะดีผิดปกติ ดูไม่สมเหตุสมผล หรืออาจเป็นอารมณ์หงุดหงิดก็ได้ ความอดทนต่ำ หุนหันพลันแล่น ทำให้มีเรื่องกับใครได้ง่ายๆ อาจถึงขั้นอาละวาดทำร้ายคนหรือสิ่งของ 

ผลกระทบสำหรับคนที่เป็นโรคไบโพลาร์

อาการต่างๆจะส่งผลเสียต่อการทำงาน การใช้ชีวิตส่วนตัว ครอบครัวและคนรอบข้าง

การดูแลรักษาคนที่เป็นโรคไบโพลาร์

มีความจำเป็นจะต้องให้ยาปรับอารมณ์ให้คงที่ (mood stabilizer) ดังนั้นหากสงสัยว่าเพื่อนๆหรือคนรอบข้างมีอาการที่เข้าได้กับโรคอารมณ์สองขั้ว ก็ควรหาทางให้เขาไปพบจิตแพทย์เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องและรักษา เพราะอาการเช่นนี้ อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆก็ได้ เช่น ยาเสพติด ยาลดน้ำหนัก หรือโรคทางกายบางอย่าง ดังนั้นจึงต้องพบจิตแพทย์เพื่อหาสาเหตุก่อน

คนที่เป็นโรคอารมณ์สองขั้ว ส่วนใหญ่เมื่อได้รับประทานยา อาการจะดีขึ้นจนเป็นปกติ และสามารถทำงาน ใช้ชีวิตปกติได้เหมือนไม่เคยมีช่วงป่วยมาก่อน ที่สำคัญคือระวังการกำเริบของโรค เพราะคนไข้ไบโพลาร์ ช่วงเมเนียมักไม่คิดว่าตัวเองป่วย หากอาการดีขึ้นก็มักหยุดยาเอง ซึ่งโรคจะกำเริบได้หากรับประทานยาไม่สม่ำเสมอ การพักผ่อนไม่เป็นเวลา การดื่มแอลกอฮอล์และความเครียดที่มากระทบ

ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคนี้จึงไม่ควรทำงานที่พักผ่อนไม่เป็นเวลา เช่น งานที่ต้องอยู่เวรเป็นกะ และควรหลีกเลี่ยงการทำงานที่สร้างความเครียดหรือกดดันมากเกินไป อย่างไรก็ตาม อาการต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น บางครั้งอาจเกิดจากโรคอื่นๆที่ไม่ใช่โรคอารมณ์สองขั้วก็ได้ ดังนั้นการไปพบจิตแพทย์จึงมีความจำเป็น

การกลับมาเป็นคนปกติของคนที่เป็นโรคไบโพลาร์

คนที่มีโรคไบโพลาร์ หรือเป็นโรคทางจิตเวชใดๆก็ตาม สามารถรักษาให้ดีขึ้นและใช้ชีวิตเป็นปกติได้ได้ เขาต้องการความเข้าใจ ไม่ต่างจากคนไข้โรคทางกายอื่นๆ ว่าสิ่งที่เขาทำไปนั้นเกิดจากความเจ็บป่วย ที่ต้องการการดูแลรักษา แต่น่าเศร้าที่หลายครั้งคนในสังคมมาองคนไข้จิตเวชด้วยอคติ ทั้งการขาดความรู้และความไม่สนใจจะรู้ อย่างที่เราอาจจะพบเห็นบ่อยๆในสื่อสังคมออนไลน์ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นใครก็มีสิทธิเจ็บป่วยทางสมองได้ ไม่ว่าจะเป็นมหาเศรษฐี ยาจก เชื้อชาติไหน ภาษาใดๆ คนเหล่านั้นล้วนต้องการความเข้าใจและยอมรับ

มีคนมากมายในสังคมเราที่ไม่ได้มีอาการเจ็บป่วยทางจิต แต่ก็สร้างความเดือดร้อนให้สังคม ซึ่งคนเหล่านั้นจิตแพทย์หรือใครๆก็รักษาไม่ได้ ตรงนี้หมอว่าน่าเหนื่อยใจกว่ามาก แต่คนไข้ไบโพลาร์ หรือคนไข้โรคทางจิตเวช ซึ่งเกี่ยวกับสมดุลของสารเคมีตัวต่างๆในสมองนั้น รักษาให้หายได้ และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้ ถ้าทุกคนในสังคมให้โอกาส

ถ้าเลือกได้คงไม่มีใครจะเจ็บป่วย โดยเฉพาะป่วยทางสมอง ที่มีผลกระทบต่อความคิด อารมณ์ และพฤติกรรม แต่ชีวิตคนเราก็ไม่ได้ง่ายพอที่จะเลือกได้ทุกเรื่อง และไม่แน่ว่าในอนาคต อาจจะเป็นตัวเราเองหรือคนที่เรารักก็ได้ ที่จะต้องประสบกับโรคเหล่านี้

ขอเพียงความเข้าใจ ไบโพลาร์

จาก... หมอมินบานเย็น และหมอมีฟ้า

อยากบอกว่า คนไข้ของหมอ มีจำนวนมากที่ทำงานที่เป็นวิชาชีพ ไม่ว่าสถาปนิก วิศวกร กฎหมาย หมอ พยาบาล อาจารย์ ฯลฯ จบป.โท ป.เอก กันมากมาย หมอมั่นใจว่า ถ้าเดินสวนกัน ไม่มีทางรู้ว่าเขามีความไม่สบายบางอย่าง ... ซึ่งตรงนี้คงไม่ใช่ว่าคนวิชาชีพเหล่านั้น เครียดง่ายกว่าเลยป่วยมากกว่า แต่เพราะเขารู้ว่าตนเองเปลี่ยนไป และมองแบบวิทยาศาสตร์ จึงมาพบจิตแพทย์ : )”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook