"สลัดผักในถุง" กับอันตรายแฝงจากเชื้อโรค ที่คุณอาจไม่เคยรู้

"สลัดผักในถุง" กับอันตรายแฝงจากเชื้อโรค ที่คุณอาจไม่เคยรู้

"สลัดผักในถุง" กับอันตรายแฝงจากเชื้อโรค ที่คุณอาจไม่เคยรู้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สลัดผัก เป็นหนึ่งในอาหารยอดนิยมสำหรับผู้ที่รักสุขภาพ แต่หลายคนอาจจะไม่สะดวกที่จะทำสลัดผักรับประทานเอง จึงต้องมีสลัดผักในถุงพร้อมรับประทานที่หาซื้อได้ง่ายทั่วไป แต่รู้หรือไม่ว่า สลัดผักในถุง เหล่านี้ อาจจะแฝงมาพร้อมกับอันตราย ที่หลายคนมักจะมองข้าม อันตรายที่ว่านั้นคืออะไร มาหาคำตอบร่วมกันกับ Hello คุณหมอ ได้เลย

อันตรายที่มาพร้อมกับ "สลัดผักในถุง"

หนึ่งในสลัดผักพร้อมรับประทานที่เราอาจจะคุ้นตากันที่สุด ก็คือ สลัดผักในถุง ที่มักจะวางขายกันอยู่ทั่วไป ตามร้านค้าในตลาดและซูเปอร์มาร์เก็ต สลัดผักในถุงเหล่านี้ แม้ว่าจะมีลักษณะสีสันสวยงาม ดูน่ารับประทาน แต่ก็มักจะแฝงมากับอันตรายต่อสุขภาพด้วยเช่นกัน เพราะสลัดผักในถุงเหล่านี้ อาจปนเปื้อนไปด้วยสิ่งที่เป็นอันตราย เช่น พิษตกค้างจากยาฆ่าแมลง หรือเชื้อโรค เชื้อแบคทีเรีย ที่สามารถก่อให้เกิดโรคในคนได้

เมื่อช่วงต้นปี 2020 ที่ผ่านมา ได้มีรายงานพบการปนเปื้อนของ Cyclospora cayetanensis ซึ่งเป็นเชื้อปรสิตที่สามารถทำให้เกิดโรคท้องร่วง การดูดซึมสารอาหารผิดปกติ และภาวะขาดน้ำ ปะปนอยู่ในสลัดผักในถุงยี่ห้อหนึ่ง ที่วางขายอยู่ที่สหรัฐอเมริกา และส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อจากการกินสลัดผักในถุงนั้นมากถึง 690 ราย และมี 37 รายที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล ทำให้ต้องมีการเรียกเก็บสลัดผักยี่ห้อนั้นกลับมาเพื่อทำลายทิ้งเป็นจำนวนมาก

ในขณะเดียวกัน ก็มีงานวิจัยที่พบว่า สลัดผักในถุงนั้นจะเป็นสภาพแวดล้อมชั้นดี ที่เหมาะสำหรับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคต่างๆ เช่น เชื้อแบคทีเรียซาลโมเนลลา (Salmonella) หรือเชื้ออีโคไล (Escherichia coli; E.coli) สองเชื้อโรคที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย อาเจียน คลื่นไส้ และอาหารเป็นพิษ

แหล่งที่พบเชื้อโรคเหล่านี้ได้มากที่สุด มักจะอยู่ในส่วนของน้ำผักก้นถุง ที่ตกค้างมาจากการล้างผักแล้วสะเด็ดน้ำออกไม่หมด โดยเชื้อแบคทีเรียที่ปนเปื้อนในสลัดผักนั้น อาจจะมาจากการปนเปื้อนของน้ำ ดิน หรือจากการสัมผัสของคนขณะที่เก็บเกี่ยวและบรรจุภัณฑ์ เมื่อเชื้อโรคเหล่านี้ได้มาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความชื้น ก็จะเจริญเติบโตและขยายปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มากเพียงพอที่จะก่อให้เกิดโรคในคน ทำให้ผู้ที่รับประทานสลัดผักในถุงนั้น มีโอกาสได้รับเชื้อโรคเหล่านี้เข้าไปด้วยนั่นเอง

นอกจากนี้ในงานวิจัยยังพบอีกด้วยว่า เชื้อแบคทีเรียที่ปนเปื้อนอยู่ในสลัดผักในถุงนั้น มักจะเกาะติดอย่างแน่นหนา และไม่สามารถล้างออกไปได้ ด้วยการล้างผักตามปกติอีกด้วย

เทคนิคในเลือกซื้อสลัดผักอย่างปลอดภัย

  • เลือกให้ดีก่อนซื้อ

ควรเลือกซื้อสลัดผักที่มั่นใจได้ว่าปลอดภัยและสะอาด ถุงไม่มีรอยแตก ผักไม่เหี่ยวเฉา สีซีด ค้างคืน หรือถ้ามีฉลากบรรจุภัณฑ์ ก็อย่าลืมดูวันหมดอายุก่อนซื้อด้วย นอกจากนี้ก็อย่าลืมดูด้วยว่า ในถุงสลัดนั้นมีไอน้ำหรือความชื้นหรือเปล่า เพราะไอน้ำและความชื้นจะทำให้เชื้อโรคมีโอกาสเพิ่มจำนวนได้มากกว่าปกตินั่นเอง

  • ล้างผักให้สะอาด

หลังจากซื้อสลัดผักมาแล้ว อย่าแกะถุงเทใส่จาน แล้วรับประทานทันที แต่ควรจะล้างอีกรอบเพื่อให้แน่ใจว่าสะอาดหมดจดแน่นอน โดยอาจเลือกวิธีการแช่ผักในน้ำ 15 นาที แล้วตามด้วยการเปิดน้ำให้น้ำไหลผ่านแล้วล้างต่ออีก 2 นาที หรือจะเลือกแช่ผักไว้ในน้ำผสมน้ำส้มสายชู อัตราส่วน 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 4 ลิตร แช่ไว้ 15 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด จะช่วยลดการตกค้างของเชื้อแบคทีเรียและสารเคมีอื่นๆ ไปได้อย่างมาก

  • อย่าเก็บค้างคืน

สลัดผักที่ซื้อมานั้นควรรีบรับประทานทันทีหลังจากซื้อมา อย่าเก็บไว้นานหรือแช่ตู้เย็นเอาไว้ เพราะอาจทำให้เชื้อโรคได้มีเวลาในการเพาะพันธุ์และเพิ่มจำนวนมากขึ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook