“ผมร่วงเป็นหย่อม” โรคไม่อันตราย แต่ทำลายความมั่นใจและบุคลิกภาพ

“ผมร่วงเป็นหย่อม” โรคไม่อันตราย แต่ทำลายความมั่นใจและบุคลิกภาพ

“ผมร่วงเป็นหย่อม” โรคไม่อันตราย แต่ทำลายความมั่นใจและบุคลิกภาพ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“ผมร่วงเป็นหย่อม” เป็นโรคที่ไม่ได้อันตรายถึงชีวิต แต่มีผลกระทบทางจิตใจค่อนข้างมาก เพราะเกี่ยวกับความสวยงามงาม ความมั่นใจ และการเข้าสังคมของใครหลายคน


โรคผมร่วงเป็นหย่อม เป็นอย่างไร ?

ผศ.นพ.รัฐพล ตวงทอง, ผศ.พญ.สุเพ็ญญา วโรทัย และ อ.พญ.ดรัลพร ไตรวงศ์วรนาถ สาขาวิชาโรคเส้นผมและการผ่าตัดปลูกถ่ายเส้นผม ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ให้ข้อมูลไว้ ดังนี้

ผมร่วงเป็นหย่อม เป็นสาเหตุที่พบบ่อยของ อาการผมร่วงเป็นหย่อมอย่างเฉียบพลัน บางครั้งอาจเกิดขึ้นกับเส้นขนในบริเวณอื่นของร่างกายได้ เช่น คิ้ว หนวด โรคนี้เกิดจากการอักเสบภายใต้หนังศีรษะ การอักเสบนี้ ไม่ได้ทำลายรูขุมขนอย่างถาวร ดังนั้นหลังโรคสงบลง ผม หรือเส้นขนจะสามารถงอกขึ้นมาใหม่ได้ 

hairคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

ประเภทของโรคผมร่วงเป็นหย่อม

โรคผมร่วงเป็นหย่อม สามารถแบ่งตามตำแหน่งและความรุนแรง ได้ดังนี้

Alopecia areata (AA) : มีผมร่วงเป็นหย่อม ๆ ที่ศีรษะ หรืออาจมีหย่อมขนร่วงที่คิ้ว หนวดขนบริเวณใบหน้าหรือลำตัว

Alopecia totalis (AT) : ผมที่ศีรษะร่วงทั้งหมด

Alopecia universalis (AU) : ผมที่ศีรษะ และขนที่ตัว เช่น ขนรักแร้ ขนหัวหน่าว ร่วงทั้งหมด

โรคนี้ไม่ทำให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่มีผลกระทบต่อความสวยงามค่อนข้างมาก จึงอาจทำให้มีผลกระทบทางด้านจิตใจได้ โดยเฉพาะใน alopecia universalis ซึ่งมีความรุนแรงของโรคมากที่สุด และมักตอบสนองต่อการรักษาต่าง ๆ น้อยที่สุด


กลุ่มเสี่ยงโรคผมร่วงเป็นหย่อม

โรคผมร่วงเป็นหย่อม สามารถเกิดได้ทั้งในเพศชาย และเพศหญิงเท่าๆ กัน อายุเฉลี่ยคือประมาณ 30 ปี แต่อย่างไรก็ตาม โรคนี้สามารถเกิดขึ้นที่ช่วงอายุใดก็ได้ อุบัติการณ์ที่เกิด เฉลี่ยคือ 1 ใน 1000 คน หรือ ประมาณ 2% 


อาการของโรคผมร่วงเป็นหย่อม

  1. ผู้ป่วยจะมีผมร่วงเป็นหย่อม ลักษณะกลม ขอบเขตชัดเจน 

  2. ตำแหน่งที่เกิดผมร่วง อาจเกิดขึ้นได้หลายตำแหน่ง 

  3. โดยมากมักเกิดภายในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ 

  4. ผู้ป่วยส่วนมากจะไม่มีอาการใด ๆ แต่อาจมีอาการคันหรือแสบนำมาก่อนในบริเวณที่จะเกิดโรค โรคนี้มักเกิดที่บริเวณศีรษะ 

  5. อาจเกิดอาการผมร่วงที่ตำแหน่งอื่น ๆ ในร่างกายที่มีขนได้ (ขนคิ้ว ขนตา หนวด ขนรักแร้ หรือ ขนหัวหน่าว) 

  6. อาจพบผมหักเป็นตอสั้น ๆ ติดหนังศีรษะได้ในบริเวณขอบของรอยโรคที่กาลังจะขยาย เนื่องจากเส้นผมที่สร้างขึ้นใหม่เปราะ และผิดปกติ 

  7. อาการผมร่วงอาจเกิดแบบเฉียบพลัน หรือค่อยเป็นค่อยไปก็ได้ 

  8. ผู้ป่วยบางคนอาจมีความผิดปกติของเล็บร่วมด้วย โดยอาการที่เล็บอาจเกิดนำมาก่อน เกิดพร้อมกัน หรือเกิดภายหลังจากภาวะผมร่วงได้ ความผิดปกติของเล็บที่พบได้บ่อยที่สุด คือ การพบหลุมเล็ก ๆ บนผิวของแผ่นเล็บ


สาเหตุของโรคผมร่วงเป็นหย่อม ?

โรคผมร่วงเป็นหย่อมยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ทราบเพียงแต่มีภูมิคุ้มกันในร่างกายที่ทำงานผิดปกติมาทำลายรูขุมขน 

อย่างไรก็ตาม หากโรคสงบลงแล้วรูขุมขนยังสามารถกลับมาสร้างเส้นขนได้ใหม่ตามปกติ 

โรคที่อาจพบร่วมร่วมกับโรคผมร่วงหย่อมได้ คือ ต่อมไทรอยด์อักเสบ ด่างขาว หรือกลุ่มโรคภูมิแพ้

ร้อยละ 20 ของผู้ป่วยผมร่วงหย่อม จะมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ด้วย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจึงเชื่อว่าปัจจัยทางพันธุกรรม อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคนี้ได้ ญาติสายตรงที่มีบุคคลในบ้านเป็นโรคนี้อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคนี้มากขึ้นเล็กน้อย


วิธีวินิจฉัยโรคผมร่วงเป็นหย่อม

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคผมร่วงหย่อมได้ โดยการตรวจลักษณะของผมร่วง ผู้ป่วยบางรายที่มีลักษณะของรอยโรคไม่ชัดเจน หรือ สงสัยภาวะอื่นร่วมด้วย แพทย์จะขอตัดชิ้นเนื้อบริเวณรอยโรค เพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา ซึ่งจะช่วยยืนยันการวินิจฉัยโรคได้

หากมีปัญหาผมร่วงเป็นหย่อม สามารถเข้ารับการปรึกษาได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือ คลินิกโรคเส้นผมและการผ่าตัดปลูกถ่ายเส้นผม ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 02-4199801 เพื่อนัดหมายการตรวจ คลินิกพิเศษนอกเวลาราชการ 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook