“ทองเอก หมอยา ท่าโฉลง” กับเกร็ดความรู้ และสูตรยาแพทย์แผนไทยโบราณน่ารู้น่าลอง

“ทองเอก หมอยา ท่าโฉลง” กับเกร็ดความรู้ และสูตรยาแพทย์แผนไทยโบราณน่ารู้น่าลอง

“ทองเอก หมอยา ท่าโฉลง” กับเกร็ดความรู้ และสูตรยาแพทย์แผนไทยโบราณน่ารู้น่าลอง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ละครเรื่อง “ทองเอก หมอยา ท่าโฉลง” นอกจากจะมีเนื้อเรื่องที่สนุกสนานแล้ว ยังมอบความรู้เกี่ยวกับแพทย์แผนโบราณของไทยเอาไว้ได้อย่างน่าสนใจอีกด้วย ซึ่งข้อมูลส่วนใหญ่มาจาก อาจารย์แพทย์แผนไทยคมสัน ทินกร ณ อยุธยา (ที่ปรึกษาผู้จัดละครทองเอก หมอยา ท่าโฉลงด้านวิชาการแพทย์แผนไทย) ที่ได้สอดแทรกความรู้เรื่องแพทย์แผนไทยโบราณเอาไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

 

เกร็ดความรู้เรื่องแพทย์แผนไทย

เวชปฏิบัติเผายา

เวชปฏิบัติเผายา เป็นศาสตร์การเผาเครื่องยาร้อนมีมาแต่นานเท่าใดไม่มีหลักฐานเอกสารปรากฏชัดเจน แต่ทำสืบกันมาโดยมากในกลุ่มหมอเมืองพื้นบ้านทางภาคเหนือและทางภาคอีสานของประเทศไทยเช่นเชียงใหม่ เชียงราย เป็นต้น

ทางภาคเหนือของประเทศนั้นอยู่ในเขตสมุฏฐานเตโช ใกล้กับแสงพระอาทิตย์มากกว่าทางที่ราบลุ่มและมักมีอากาศหนาวเย็นมากกว่าอีกด้วย จึงมักใช้ความร้อนจากการเผายาเพื่อกระจายกองลมที่อัดอั้นอยู่ตรงบริเวณที่มีอาการ และเพื่อจุดไฟธาตุยามอากาศเข้าหนาวเข้าเย็นเป็นภูมิรู้คิดที่ประดิษฐ์ขึ้นให้ถูกกับอาการอันเกิดแต่สภาพภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศ

 

  • ประโยชน์ของการเผายา

 

    • ใช้กับอาการหนาวเนื้อเข้ากระดูก

    • ลมเหน็บชาตะคริว

    • ลดอาการขัดแข้งขัดขาปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัว

    • ช่วยจุดไฟธาตุในการย่อยอาหาร

    • ช่วยลดอาการท้องอืดเฟ้อเรอเปรี้ยว

    • ช่วยบรรเทาอาการลมเสียดเข้าสะโพก ปวดหลัง ปวดเจ็บที่หัวเข่า ฯลฯ

 

  • กลไกการบำบัดด้วยการเผายา

 

ใช้ความร้อนในอุณหภูมิที่เหมาะสมร่วมกับเครื่องยาที่มีรสร้อนเข้าไปบำบัดตรงบริเวณที่เกิดอาการตรงๆ ในศาสตร์วิชานั้นก็เพื่อกระจายเสียซึ่งกองลมที่พัดพาไหลเวียนไม่สะดวกนั้นให้เคลื่อนไปทำให้โลหิตเข้าไปหล่อเลี้ยงได้ดียิ่งขึ้นตลอดถึงทำให้ธาตุดินในบริเวณนั้นอ่อนตัวลงที่ตึงขมึงอยู่จะผ่อนตาม

 

  • ข้อควรระวังของการเผายา

 

การหัตถการนี้กระทำโดยผู้ผ่านการฝึกฝนผ่านการเรียนรู้จากครูบาอาจารย์มาแล้วเท่านั้น และมักกระทำโดยหมอยามิใช่ผู้อื่นใดจะกระทำได้เป็นทั่วไป เหตุเพราะต้องใช้ไฟในการหัตถการจำต้องมีความระวังไว้เป็นพื้นฐานซึ่งถ้าปฏิบัติอย่างระมัดระวังไม่ประมาทแล้วไซร้หัตถการนี้มีคุณเพื่อการบำบัดยิ่งนัก

 

การนัตถ์ยา

การเป่ายา การนัตถ์ยาเป็นเวชวิธีที่แพทย์แผนไทยพึงทำให้เป็น การกวาดยาและการเป่ายานั้นนับได้ว่าเป็นอัตลักษณ์หนึ่งของแพทย์แผนไทย นัตถ์มักใช้สำหรับอาการทางลมเช่นอาการลมตีขึ้นบน และกวาดมักใช้กับอาการทางน้ำเช่นอาการทางศอเสลดเป็นต้น

เวชวิธีนัตถ์ยานี้ใช้แรงลมจากปากหมอเป่าหรือนัตถ์เครื่องยาให้คนไข้ แพทย์ต้องฝึกใช้แรงลมเป่าให้เป็นเสียก่อน ในละครใช้ปล้องต้นอ้อเป็นเครื่องเป่า

 

เวชปฏิบัติพอกยาเย็น

การพอกยารสประธานเย็น เครื่องยาสำรับเย็น เถาบอระเพ็ด ลูกกระดอม ใบฟ้าทะลายโจร ใบสะเดา และใบย่านาง ใช้ฤทธิ์เย็น และสรรพคุณของเครื่องยาเข้าไปลดกำเดาในบริเวณที่เกิดอาการนั้นลดอาการบวมอักเสบภายในได้ ใช้เพื่อนำลมตีขึ้นเบื้องบนให้ลงล่าง เป็นต้น

 

  • ประโยชน์ของการพอกยาเย็น

 

    • ลดอาการลมตีขึ้นเบื้องบน เช่นปวดหัวบ่อยครั้ง มึนงงในศีรษะ ชอบวิงเวียนหน้ามืด

    • ลดอาการตาพร่าตามัว ลดความร้อนเพื่อลดลมอันดันออกลูกตา

    • ลดอาการปวดลมปะกัง (ไมเกรน)

    • ลดอาการลมแน่นเข้าอกเข้าคอจากความร้อน

    • ลดกำเดาภายในกาย ทำให้เย็นตัวลงอันมีเหตุมาจากตับร้อน ตับแลบ ตับหย่อน นำพิษความร้อนออกจากระบบตับ

    • ลดพิษปิตตะ พิษวาตะ พิษเสมหะได้

    • ช่วยลดการหลั่งน้ำย่อยที่มากเกินในผู้ไข้ที่มีอาการเรอเหม็นเปรี้ยว (กรดไหลย้อน)

    • ลดภาวะบวมอักเสบเช่นปวดบวมกล้ามเนื้อ ตึงคอบ่าไหล่อย่างมากจนเกิดอาการบวมแดง รวมถึงอาการปวดหัวเข่าจากภาวะน้ำเลี้ยงรอบเข่าแห้ง เป็นต้น



สูตรยาตามแพทย์แผนไทยโบราณ เพื่อรักษาอาการของโรคต่างๆ

ยาทำให้สำรอก

สารส้มเขียว (น้ำสารส้มย่างแตงกวา) ทำให้คลื่นไส้อาเจียน โลดทะนงแดง (ช่วยถอนพิษคนกินยาเบื่อยาเมา) เมล็ดพระเจ้าห้าพระองค์ (ถือเป็นเครื่องรางของขลัง) สองสิ่งนี้นำต้มน้ำ ใช้น้ำสารส้มเขียวแทรก ใช้ทานให้สำรอก

 

ยารักษาโรคงูสวัด

งูตวัด หรืองูสวัด ใช้พิกัดห้ารากกระทุ้งพิษเสียก่อนด้วยรากย่านาง รากคนทา รากเท้ายายม่อย รากชิงชี่ และรากมะเดื่อชุมพร

จากนั้นตั้งยาประสะผิว เปลือกทองหลางใบมน แก้พิษฝี พิษอักเสบ พิษร้อนภายใน ส่วนดินประสิวสะตุ รสเมาเบื่อช่วยถอนพิษ ตำกับข้าวสารใช้ประสะผิว และให้ทานพร้อมตำรับยา "กล่อมนางนอน"เพื่อดูแลระบบยกนัง (ตับ) มาขับโรค รับทานยาเขียวหอมพร้อมยาบำรุงเลือดก่อนนอน เพื่อให้เลือดแข็งแรงและไม่หนืดข้นเกินไป

 

ยารักษาโรคไข้ป่า

ใช้เวชปฏิบัติกำยา เวชวิธีการกำยานั้นถ้าเป็นหญิงให้กำด้วยมือซ้ายแล้วพอกยาที่เท้าขวา ถ้าเป็นชายกำด้วยมือขวาแล้วพอกไปที่เท้าซ้าย (วงจรทางเดินของพลังงานตรีธาตุนั้นหญิงซ้ายชายขวาดุจดังแววหางนกยูง ตามพระคัมภีร์ปฐมจินดาท่านกล่าว)

ให้ตำใบครามรวมกับข้าวเจ้าหุงจนนัวเข้ากัน แล้วปั้นให้คนไข้กำในมือ และพอกที่เท้าพร้อมกันไป กำพอกค้างไว้ถ้าแห้ง เพราะความร้อนที่ถูกดูดออกมาก็ให้เปลี่ยนยาใหม่เรื่อยๆ ถ้าทานยาได้ให้ต้มใบครามจิบบ่อยๆไข้ยิ่งลงไว จากนั้นต้มน้ำข้าวเจือน้ำผึ้งช่วยให้มีแรง วางยาหอมนวโกฐแก้ลมปลายไข้

 

ฝนยาแก้ไข้ไอ

นำน้ำมะนาว เถาบอระเพ็ด แทรกเกลือหนึ่งรำหัด ใช้กวาดคอเด็กแก้ไอ แก้ไข้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook